บทความแปลและสรุป

52-Week High ความลับแห่งขุมทรัพย์บนยอดดอย

SiamQuant Team
ติดตามพวกเรา

หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” กันมาบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลงทุน เชื่อว่าเพื่อนๆต้องเคยสัมผัสประสบการณ์อันหนาวเหน็บและเจ็บปวดกับการ “ติดดอย” อย่างแน่นอน และยิ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับเราบ่อยครั้งเท่าไร มันก็ยิ่งทำให้เราลำบากใจที่จะเข้าซื้อหุ้นที่ราคาดูแพงมากขึ้นทุกครั้ง ดังนั้นหากเพื่อนๆกำลังเจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่ละก็ เราขอแนะนำว่าเตรียมใจให้พร้อมที่จะอ่านแนวคิดของระบบการลงทุนต่อไปนี้ให้ดีครับ แล้วคุณจะพบว่า…มันมีความลับอะไรซ่อนอยู่!

ความลำเอียงในการยึดติดกับราคาในอดีต

ถ้าเราจะอธิบายถึงกลยุทธ์การลงทุน 52-Week High (52WH) ให้เข้าใจง่ายก็คือ

“กลยุทธ์ที่มีการเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาปัจจุบันทะลุราคาสูงสุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา”

โดยแนวคิดการลงทุนนี้เกิดจากความลำเอียงของพฤติกรรมนักลงทุน ที่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะยึดติดอยู่กับระดับราคาในอดีต (Anchoring Bias) ซึ่งมองว่าระดับราคาสูงสุดในช่วง 1 ปีเป็นสิ่งที่บอกว่าราคาหุ้นนั้น “แพง” และในทางกลับกัน ระดับต่ำสุดในช่วง 1 ปีเป็นสิ่งที่บอกว่าราคาหุ้นนั้น “ถูก”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเข้าใกล้ระดับราคาสูงสุดในช่วง 1 ปีมากขึ้นเรื่อยๆ ในจุดนี้เองที่การปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นตามพื้นฐานที่ดีของบริษัทมักที่จะต้องเจอกับ “แรงต้าน” เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าหุ้น ณ ระดับราคานี้เริ่มมีราคาที่แพงนั่นเอง

แต่สุดท้ายแล้วนักลงทุนจะทยอยซึมซับความจริงที่ว่าพื้นฐานของบริษัทได้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว และผลักดันให้ราคาหุ้นทะลุระดับราคาสูงสุดในช่วง 1 ปี จนเกิดเป็นแนวโน้วขาขึ้นที่ค่อยๆชัดเจนขึ้นมาในที่ท้ายที่สุดนั่นเอง ซึ่งในส่วนถัดไปเราจะมาเจาะลึกถึงที่มาที่ไปและหลักฐานที่พิสูจน์ถึงพลังของกลยุทธ์นี้กันครับ!

หลักฐานและจุดเริ่มต้นของระบบการลงทุน 52-Week High

GH

ภาพที่ 1 : ศาสตราจารย์ Thomas J.George จากมหาวิทยาลัย Houston และศาสตราจารย์ Ghuan Yang Hwang จากมหาวิทยาลัย Nanyang

หากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของระบบการลงทุน 52WH นั้นคงต้องย้อนกลับไปในปี 2004 ในปีนั้นได้มีงานวิจัยที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากบทความหนึ่งชื่อ

“The 52-Week High and Momentum Investing”

ของศาสตราจารย์ทั้ง 2 ท่าน Thomas J.George และ Ghuan Yang Hwang ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับความไร้ประสิทธิภาพของตลาด (Market Anomaly) ที่เกี่ยวข้องกลยุทธ์การลงทุนแบบโมเมนตัม โดยทดลองเปรียบเทียบกลยุทธ์ 3 แบบดังต่อไปนี้

1. Jagadesh and Titman’s Individual Stock Momentum :

คือ กลยุทธ์การลงทุนแบบโมเมนตัมแบบดั้งเดิม โดยพิจารณาหุ้นที่มีความแข็งแกร่งหรือให้ผลตอบแทนในอดีตที่สูงเป็นเกณฑ์ในการเลือกเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ

2. Moskowitz and Grinblatt’s Industrial Momentum :

คือ กลยุทธ์การลงทุนแบบโมเมนตัมของหุ้นและกลุ่มอุตสาหกรรม โดยพิจารณาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งหรือให้ผลตอบแทนในอดีตที่สูง และเลือกหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ

3. Greorge and Hwang 52-Week High :

คือ กลยุทธ์การลงทุนแบบที่เข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับราคาสูงสุดภายในช่วง 52 สัปดาห์หรือ 1 ปีที่ผ่านมาเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ

โดยทำการทดสอบกับหุ้นทุกตัวใน 20 กลุ่มอุตสาหกรรมบนฐานข้อมูล CRSP (Center for Research in Security Price) ตั้งแต่ปี 1963 ถึงปี 2001 ซึ่งแต่ละกลยุทธ์จะจัดพอร์ตโฟลิโอ โดยการเลือกหุ้นที่มีผลของโมเมนตัมแต่ละแบบที่มากที่สุดจำนวน 30% ของหุ้นทั้งหมด ด้วย น้ำหนักการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวเท่าๆกัน (Equal-Weighted) และทำการหมุนลงทุนคงที่ทุก 6 เดือน (6-Monthly Rotation) ได้ผลการทดสอบของแต่ละพอร์ตโฟลิโอออกมาดังนี้

Table

ภาพที่ 2 : แสดงผลตอบแทนรายเดือนโดยเฉลี่ยของการจัดพอร์ตโฟลิโอจากกลยุทธ์ทั้ง 3 แบบ

จากภาพที่ 2 จะเห็นการเปรียบเทียบผลตอบแทนรายเดือนโดยเฉลี่ยของกลยุทธ์ทั้ง 3 แบบ โดยไม่มีผลของเดือนมกราคาเข้ามาเกี่ยวข้อง (January Returns Effect Excluded) ซึ่งแยกพิจารณาเป็นผลของแต่ละกลุ่ม มีรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่ม Winner หรือกลุ่มที่เปิดสถานะ Long กับหุ้นที่แข็งแกร่ง

พบว่ากลยุทธ์แบบ 52WH สามารถสร้างผลตอบแทนรายเดือนสูงที่สุดเท่ากับ 1.30% โดยเฉลี่ย รองลงมาเป็นกลยุทธ์แบบ JT’s และ MG’s ให้ผลตอบแทนรายเดือนโดยเฉลี่ยเท่ากับ 1.23% และ 0.99% ตามลำดับ

  • กลุ่ม Loser หรือกลุ่มที่เปิดสถานะ Short กับหุ้นที่อ่อนแอ

พบว่ากลยุทธ์แบบ 52WH สร้างผลตอบแทนรายเดือนได้ต่ำที่สุดเท่ากับ 0.07% โดยเฉลี่ย ซึ่งกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดคือกลยุทธ์แบบ MG’s ให้ผลตอบแทนเท่ากับ 0.50%

  • กลุ่ม Winner-Loser หรือกลุ่มที่เปิดทั้งสถานะ Long และ Short

พบว่าผลลัพธ์ออกมาใกล้เครียงกับกลุ่ม Winner กล่าวคือกลยุทธ์แบบ 52WH ยังเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนรายเดือนได้สูงที่สุดเท่ากับ 1.23%

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในภาพรวมแล้ว จะพบว่ากลยุทธ์ทั้ง 3 แบบในกลุ่ม Winner ล้วนให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่ม Loser หรือกลุ่ม Winner-Loser ทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลยุทธ์แบบโมเมนตัมภายใต้วิธีการทั้ง 3 รูปแบบเหมาะกับการจัดพอร์ตโฟลิโอแบบเปิดสถานะ Long หรือลงทุนตอนแนวโน้มขาขึ้นเป็นหลัก มากกว่าการเปิดสถานะ Short ร่วมด้วย (Momentum Strategy ถือเป็นกลยุทธ์ที่มักใช้ได้ดีกว่าในฝั่ง Long)

ดังนั้นโดยสรุปแล้วกลยุทธ์การลงทุนแบบ 52-Week High สามารถเอาชนะกลยุทธ์โมเมนตัมแบบดั้งเดิม ที่ใช้เพียงผลตอบแทนของหุ้นในอดีต (JT’s Momentum) และกลยุทธ์โมเมนตัมในกลุ่มอุตสาหกรรม (MG’s Momentum) ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

52-Week High บทสรุปกับตลาดหุ้นไทย

เชื่อว่าทุกคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว คงเข้าใจถึงแนวคิดของกลยุทธ์การลงทุนแบบ 52-Week High Momentum มากยิ่งขึ้นนะครับ และนี่คือเนื้อหาที่พวกเราทีมงาน SiamQuant ตั้งใจนำมาฝากในสัปดาห์นี้ หวังว่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆนักลงทุนทุกคนไม่มากก็น้อย โดยเพื่อนๆที่อยากศึกษางานวิจัยเพิ่มเติม สามารถอ่านต่อได้จากลิงค์ไฟล์ PDF ฉบับเต็มด้านล่าง

นอกจากนี้แล้ว สำหรับใครที่อยากเห็นถึงผลลัพธ์ของการทดสอบระบบ 52WH ในตลาดหุ้นไทยจากฐานข้อมูล SiamQuant Hybrid Database ว่าพลังของมันจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน? และมันจะสามารถเอาชนะตลาดได้หรือไม่? ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องเสียเวลาแล้วครับ ช่วยกด Like-Share เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเราและคลิกลิงค์ “ผลการทดสอบระบบ 52 Weeks High กับตลาดหุ้นไทย” เพื่อดูผลลัพธ์ไปพร้อมๆกับทุกคนได้เลย!

Trade Show

บทความนี้ขอจบเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ขอบคุณทุกคนที่ติดตาม แล้วเจอกันบทความหน้าครับ เพื่อนๆนักลงทุนที่สนใจรับข่าวสารและบทความเป็น Free Weekly Newsletter หรือต้องการใช้ฐานข้อมูลพิเศษ SiamQuant Hybrid Database และ AFL Amibroker Open Source Trading System Template สามารถ Click เพื่อสมัครได้ที่ภาพด้านล่างเลยครับ ขอบคุณครับ 😀

ทีมงาน SiamQuant

SiamQuant Academy จุดเริ่มต้นของการลงทุนอย่างเป็นระบบ

Reference

1. George,T. ,Hwang,C.Y., 2004. The 52-week high and momentum investing. Journal of Finance 59, 2145-2176

2. Alpha Architect : “The Secret to Momentum is The 52-Week High”

3. หนังสือ แมงเม่าคลับ โดย มด แมงเม่าคลับ

 

Write A Comment