งานวิจัยและบทความทั้งหมด

บันทึกวิดีโองานสัมมนา “SiamQuant AlphaSTEPs” กระบวนการวิจัยออกแบบระบบการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

Koedkao Peeratiyuth

การสร้างระบบการลงทุนให้มีตัวเลขจากการ Backtest ที่สวยหรูนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะสร้างระบบการลงทุนให้มีความเสถียรยั่งยืนในการลงทุนจริงๆนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่นัก! ในบทความพิเศษชิ้นนี้ [บทความ+Slide+Video] เราจะมาพูดถึงกระบวนการวิจัยออกแบบระบบการลงทุนที่เรียกว่า AlphaSTEPs ซึ่งเป็นขั้นตอนที่พวกเรา SiamQuant ได้ใช้มันเพื่อสร้าง ระบบการลงทุน 10X ของพวกเรากันออกมากันครับ!!

AlphaSTEPs กระบวนการป้องกันหลุมพรางในการวิจัยออกแบบระบบการลงทุน

กระบวนการวิจัยออกแบบระบบการลงทุนที่ดี คือสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถค้นพบกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่ถูกตั้งไว้ อีกทั้งยังช่วยคัดกรองกลยุทธ์การลงทุนที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดความเสถียรยั่งยืนในการลงทุนออกไป ซึ่งมักเกิดขึ้นจากหลุมพรางในการวิจัยต่างๆ อาทิเช่น (ดูวิดีโอการบรรยายเรื่อง Why Backtesting Fails ได้โดยคลิ้กที่ Link นี้)

  • Bad Data & Infrastructure : หรือความบกพร่องของฐานข้อมูลและชุดโค้ด รวมถึงเครื่องมือในการวิจัยออกแบบระบบการลงทุนต่างๆ
  • False Backtesting Assumption : หรือการตั้งสมมติฐานและความเข้มงวดในการวิจัยออกแบบระบบการลงทุนที่ไม่สมจริง จนทำให้ผลลัพธ์ดูดีจนเกินไป
  • Data Mining & Overfitting : หรือการขุดคุ้ยข้อมูลจนเกินพอดี จนบังเอิญไปเจอกับตัวแปรที่ให้ผลลัพท์ที่ดูดี แต่กลับเกิดจากความบังเอิญทางสถิติในอดีต (ซึ่งไม่เป็นจริงในอนาคต) หรือการปรับแต่งระบบการลงทุนให้สอดคล้องกับข้อมูลในอดีตจนมากเกินไป จนส่งผลให้ระบบมีตัวเลขที่สวยงามเกินจริง แต่ขาดความยืดหยุ่นในการเผชิญกับข้อมูลที่ไม่เคยเจอ จนพังทลายลงเมื่อเจอกับข้อมูลชุดใหม่ๆในอนาคต

จากปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้เอง ทีมงาน SiamQuant จึงได้ทำการเรียนรู้, พัฒนา และปรับปรุงกระบวนการวิจัยของเราให้มีประสิทธิภาพและความเข้มงวดขึ้นอยู่เสมอ โดยในปัจจุบันนี้ เราได้เรียกกระบวนการวิจัยของเราว่า SiamQuant’s  AlphaSTEPs (Simple, Timeless and Efficient Processes for Discovering Alphas) โดยมีจุดมุ่งหมายในการช่วยให้ทีมงานทุกคนสามารถทำการวิจัยร่วมกันและค้นพบถึงกลยุทธ์การลงทุนที่มีประสิทธิภาพต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยให้ความมั่นใจได้ว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาจากการวิจัยนั้น จะมีความเสถียรยั่งยืนและนำไปใช้ได้จริงๆ ซึ่งเราเชื่อว่าการเปิดเผยถึงกระบวนการวิจัยออกแบบระบบการลงทุนของเราในภาพรวมนั้น จะช่วยให้นักลงทุนทีความรู้และความเข้าใจต่อกระบวนการออกแบบระบบการลงทุนได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่า …

ระบบการลงทุนที่ยั่งยืนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากเพียงแค่การโยนข้อมูลเข้าไปให้คอมพิวเตอร์สร้างกฎการลงทุน หรือหาตัวแปรและค่าพารามีเตอร์ที่ให้ผล Backtest ดีที่สุดออกมาอย่างที่หลายๆคนคิด หากแต่มันเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ศึกษา, วิจัย, กลั่นกรอง และตรวจสอบผลลัพธ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์อย่างเข้มงวดต่างหาก!

โดยเนื้อหาต่อไปนี้นั้น จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างและภาพรวมของขั้นตอนต่างๆ ที่พวกเราได้ใช้ในการวิจัยออกแบบ ระบบการลงทุน 10X รวมถึงระบบการลงทุนอื่นๆของพวกเรา

ภาพรวมของกระบวนการ SiamQuant AlphaSTEPs

ภาพที่ 1 : แผนผังภาพรวมของกระบวนการ AlphaSTEPs ทั้ง 10 ขั้นตอน

Video การบรรยายเรื่อง AlphaSTEPs

Presentation Slide ประกอบการบรรยาย AlphaSTEPs

Step 1 : ระบุเป้าหมายในการสร้างระบบการลงทุน (Goal Setting)

ขั้นตอนแรกของการวิจัยการลงทุนเชิงวิทยาศาสตร์ คือการตั้งโจทย์ในการวิจัยให้มีความชัดเจนและสามารถวัดความสำเร็จได้ในเชิงตัวเลขอย่างเป็นรูปธรรม โดยทีมวิจัยของ SiamQuant จะมุ่งเน้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา (Solution) ที่มีความเสถียรยั่งยืนสูงสุดและเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการลงทุนที่ตั้งไว้ได้

โดยเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคนนั้นอาจไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • คนที่จะเกษียณอาจจะอยากลงทุนในระดับความเสี่ยงที่ต่ำ โดยต้องการผลตอบแทนที่ไม่จำเป็นต้องสูงมากแต่ต้องสม่ำเสมอ
  • คนในวัยทำงานที่กำลังก่อร่างสร้างตัวอยู่อาจจะรับความเสี่ยงได้มาก โดยลงทุนหวังผลตอบแทนที่สูง เนื่องจากยังมีรายรับต่อเนื่องที่สามารถเข้ามา กลบผลขาดทุนที่เกิดขึ้นได้
  • คนที่ต้องการเก็บออมเงินไว้ให้ลูกตอนโต อาจจะมองพิจารณาการลงทุนระยะยาวมากกว่าระยะสั้น เป็นต้น

Step 2 : ทำการศึกษา, ค้นคว้า และทบทวนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง (Background Study & Literature Review)

ในขั้นตอนที่สองนั้น จะเป็นกระบวนการศึกษาค้นคว้าพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการวิจัยเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการลงทุน และทำให้พวกเรานั้นมีความมุ่งมั่นในการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา โดยพวกเราใช้เวลาบ่มเพาะและตกผลึกองค์ความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือ, งานวิจัยเชิงวิชาการ (Academic Paper) และการเข้าร่วมงานสัมนาต่างๆ

ภาพที่ 2 : คำพูดของ Abraham Lincoln ที่ถูกปลูกฝังในวัฒนธรรมองค์กรของทีมวิจัย

“ Give me six hours to chop down a tree and I will spend the first four sharpening the axe.”

“ถ้าผมมีเวลาตัดต้นไม้ 6 ชั่วโมง ผมจะใช้เวลา 4 ชั่วโมงแรกไว้ลับขวาน”

คำพูดนี้ของ Abraham Lincoln คือสิ่งที่ถูกปลูกฝังไว้ในวัฒนธรรมองค์กร (Culture) ของทีมวิจัย  SiamQuant เพื่อที่จะย้ำเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการใช้เวลาในการแสวงหาองค์ความรู้และลับขวานให้คมก่อนที่จะเริ่มทำการวิจัย

พวกเราทีมงาน SiamQuant ยึดแนวทาง  “Idea First” ในการวิจัย ซึ่งทุกแนวคิดและกลยุทธ์ที่จะถูกนำมาวิจัยและพัฒนาระบบการลงทุนนั้นต้องตั้งอยู่บนหลักการที่มีเหตุมีผลและมีหลักฐาน (Proof of Concept) ที่แสดงว่าแนวคิดนี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วจากการนำไปใช้กับตลาดจริง

Step 3 : ตั้งสมมติฐานในการออกแบบระบบการลงทุน (Hypothesis)

การตั้งสมมติฐานในการวิจัยนั้นถือเป็นเสาหลักของการวิจัยการลงทุนด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ ดังนั้นก่อนที่เราจะเริ่มต้นวิจัยกลยุทธ์การลงทุนแต่ละอย่างออกมานั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีการตั้งสมมติฐานในการวิจัยที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ขึ้นมาก่อนอยู่เสมอ  เพื่อเป็นการ “พยายามตามล่าหาหลักฐานเพื่อมาโต้แย้งล้มล้างทฤษฎีของตน” ว่าจะ “ยอมรับ” หรือ “ปฏิเสธ” สมมติฐานที่ถูกตั้งขึ้นมา ตามหลักปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ที่ Karl Popper (1902-1994) ได้กล่าวไว้

ภาพที่ 3 : Karl Popper นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ ผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

โดยเราได้นำแนวคิดนี้มาใช้เพื่อตั้งสมมติฐานในการวิจัยการลงทุนเพื่อที่จะ “ยอมรับ” หรือ “ปฏิเสธ” ทฤษฎีหรือแนวคิดต่างๆที่มาจากองค์ความรู้ที่เราได้ทำการศึกษาในขั้นตอนที่ 2

Step 4 : เตรียมความพร้อมในการวิจัยทดสอบระบบการลงทุน (Research Preparation)

เมื่อสมมติฐานการวิจัยถูกตั้งเรียบร้อยแล้ว เราจำเป็นต้องมีการคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการทำการวิจัยเป็นลำดับถัดไป โดยที่พวกเราทีมงาน SiamQuant ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้เป็นอย่างมาก และได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น

  • ฐานข้อมูลราคาหุ้นและงบการเงินแบบ Time-Series ที่ครบถ้วนและถูกต้อง (Hybrid Database
  • โปรแกรมและชุดโค้ดพิเศษเพื่องานวิจัยเฉพาะทางด้านการลงทุน (Proprietary Software & Code Functions Suite)
  • เครื่องมือในการวิเคราะห์ผลการวิจัยต่างๆโดยละเอียด (Sophisticated Backtesting Analytics)
  • การสร้าง Benchmark เพื่อใช้ในการชี้วัดประสิทธิภาพของระบบการลงทุน

โดยมีโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทีมวิจัยสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่ก้าวหน้าและมีความถูกต้องออกมาได้อย่างต่อเนื่อง

Step 5 : ทำการวิจัยขั้นพื้นฐาน เพื่อตรวจสอบ, ยืนยัน และทำความเข้าใจต่อสมมติฐานเบื้องต้น ในการวิจัยออกแบบระบบการลงทุน (Preliminary Research)

การวิจัยขั้นพื้นฐานนี้ มีจุดประสงค์เพื่อทำการตรวจสอบและยืนยันแนวคิดหรือทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบระบบลงทุน รวมถึงทำให้ทีมงานวิจัยมีความเข้าใจ (Insight) ในรายละเอียดเชิงลึกของการทำงานและลักษณะเฉพาะ (Characteristic/Feature) ของกลยุทธ์หรือแนวคิดนั้นๆได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากในการวิเคราะห์และพัฒนาระบบการลงทุนต้นแบบในขั้นตอนต่อๆไป

โดยในการทำการวิจัยขั้นพื้นฐานนั้น เราจะทำการแบ่งการวิจัยออกเป็นประเภทต่างๆซึ่งจะขึ้นอยู่กับสมมติฐานในการออกแบบระบบการลงทุน  (Hypothesis) ที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ ยกตัวอย่างเช่น

  • General Research : การวิจัยในหัวข้อที่ต้องการทำความเข้าใจตลาดและกลยุทธ์โดยทั่วไป
  • Factor Research : การวิจัยถึงตัวแปรที่มีนัยยะต่อผลตอบแทนในตลาด
  • Components Research : การวิจัยถึงตัวแปรของระบบการลงทุนแบบแยกองค์ประกอบ
  • Strategy Research : การวิจัยทดสอบระบบการลงทุนแบบองค์รวม

ซึ่งถ้าแนวคิดหรือทฤษฏีที่เลือกมาทำการวิจัยนั้นไม่สามารถผ่านขั้นตอนการวิจัยขั้นพื้นฐานไปได้ ผู้วิจัยต้องย้อนกลับไป Step ที่ 2 เพื่อศึกษาค้นคว้าหาแนวคิดและองค์ความรู้ใหม่ๆ

Step 6 : สร้างระบบการลงทุนต้นแบบ จากองค์ความรู้ที่ได้มาจากการวิจัยขั้นพื้นฐาน (Trading System Prototyping)

หลังจากที่เราได้ข้อมูลและองค์ความรู้จากการวิจัยขั้นพื้นฐานแล้ว ในขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการนำเอาองค์ประกอบต่างๆที่ได้รับการทดสอบว่ามีประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญแล้วมาประกอบเป็นระบบการลงทุนต้นแบบ โดยทีมงาน SiamQuant นั้นยึดหลักในการเลือกหาแนวทางแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด (Simplest Solution) โดยจะทำการสร้าง, ปรับปรุง และทดสอบระบบการลงทุนต้นแบบภายใต้ฐานข้อมูลจำนวนหนึ่ง (Trained Data) รวมถึงเก็บข้อมูลเบื้องต้นต่างๆของกลยุทธ์การลงทุนนั้นๆไว้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เห็นถึงประสิทธิภายโดยรวมในแง่มุมต่างๆของระบบการลงทุน อาทิเช่น

  • ชุดโค้ดของแต่ละองค์ประกอบในระบบการลงทุน สามารถทำงานร่วมกันอย่างถูกต้องหรือไม่
  • ตรวจสอบสัญญาณซื้อขาย (Signals) ว่ามีความถูกต้องเป็นไปตามเหตุผล (Logic) ในการวิจัย หรือมีการทับซ้อนขัดแย้งกันหรือไม่
  • ตรวจสอบค่า Performance ของระบบลงทุนต้นแบบว่าอยู่ในทิศทางเดียวกับสมมติฐานเกี่ยวกับผลตอบแทนที่คาดหวังในระยะยาวเป็นที่พอใจแล้วหรือไม่

Step 7 : ทดสอบความเสถียรและยั่งยืนของระบบการลงทุนอย่างเข้มข้น (Robustness Testing)

หลังจากระบบการลงทุนต้นแบบ (Prototype) นั้นถูกปรับแต่งจนได้ผลตอบแทนและความเสี่ยงตามเป้าหมายจนเป็นที่น่าพอใจแล้วนั้น ระบบการลงทุนต้นแบบจะถูกส่งมาที่กระบวนการทดสอบความเสถียรยั่งยืน ที่จะทำการทดสอบระบบการลงทุนภายใต้สภาวะจำลองที่มีความเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ซึ่งในแต่ละระดับความเข้มงวดของการทดสอบนั้น ล้วนแต่มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป โดยมีเป้าหมายทำให้ทีมวิจัยได้มองเห็นประสิทธิภาพของระบบการลงทุนอย่างรอบด้านยกตัวอย่างเช่น

  • ประเมินความยืดหยุ่นของระบบการลงทุนต้นแบบกับสภาวะแวดล้อมที่มันไม่เคยเจอด้วยเทคนิค Walk Forward Analysis
  • ประเมินและเปรียบเทียบความสามารถในการสร้างผลตอบแทนในระดับความเข้มงวดตามมาตรฐานการที่ใช้โดยผู้พัฒนาระบบการลงทุนทั่วไป
  • ประเมินประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนของระบบการลงทุนเปรียบเทียบกับผลตอบแทนในอดีต (Track Record) ของกูรูการลงทุนชื่อดังด้วยระดับความเข้มงวดและโมเดลสภาพคล่องที่จำลองสภาวะในการซื้อขายจริง
  • ประเมินประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนของระบบเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของกองทุนรวม (Mutual Funds) หลังจากหักค่าบริหารจัดการด้วยระดับความเข้มงวดและโมเดลสภาพคล่องที่จำลองสภาวะในการซื้อขายจริง
  • ประเมินประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนของระบบการลงทุนในช่วงเวลาวิกฤติการณ์ต่างๆนับตั้งแต่ปี 1997 ถึงปัจจุบันด้วยระดับความเข้มงวดสูงสุด
  • ประเมินผลตอบแทนและความเสี่ยงของระบบการลงทุนแบบ Worst Case Scenario ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการลงทุนในอนาคตด้วยเทคนิคสุ่มแบบ Bootstrapping

ถ้าระบบการลงทุนนั้นไม่สามารถผ่านขั้นตอนการทดสอบความเสถียรไปได้ ผู้วิจัยต้องย้อนกลับไป Step 2 เพื่อศึกษาค้นคว้าหาแนวคิดหรือทฤษฏีใหม่ๆ

Step 8 : เตรียมความพร้อมในการนำระบบการลงทุนไปใช้ในการลงทุนจริงๆ (Trading System Incubation)

หากระบบการลงทุนผ่านเกณฑ์การทดสอบความเสถียรยั่งยืนในทุกขั้นตอนแล้ว เราจะเข้าสู่ขั้นตอนเตรียมความพร้อมในการนำระบบการลงทุนไปใช้จริง (Trading System Incubation) ซึ่งในขั้นตอนนี้ เราจะทำการจำลอง Portfolio เพื่อทดสอบสัญญาณการซื้อขายและระบบปฏิบัติการส่งคำสั่งซื้อขายกับภาวะตลาดจริงๆเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนโดยมีจุดประสงค์เพื่อ

  • ทดสอบกระบวนการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านช่องหลักและช่องทางสำรอง
  • บันทึกและวิเคราะห์ค่า Slippage ที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับในสมมติฐานการวิจัย
  • ทดสอบกระบวนการประมวลผลข้อมูลซื้อขายรายวัน
  • ทดสอบขั้นตอนและระบบการปฏิบัติงานในกรณีฉุกเฉิน (Business Continuity Plan)
  • ทดสอบกระบวนการอื่นๆที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน

Step 9 : ทำการลงทุน, ติดตาม และสรุปผลการลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Trading System Monitoring & Performance Report)

กระบวนการติดตามผลลัพธ์และรายงานผลการดำเนินงานของระบบการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับการลงทุนอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกัน โดยทีมงาน SiamQuant นั้นเล็งเห็นความสำคัญในการวิเคราะห์ผลการลงทุนที่ครบถ้วนรอบด้าน ทั้งในแง่ของผลการดำเนินงานของพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio Performance) และในแง่ของผลการซื้อขายโดยรวม (Trade Performance)

Step 10 : พัฒนาและปรับปรุงระบบการลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Trading System Reviews & Refinements)

สำหรับในขั้นตอนสุดท้ายนั้นคือการนำข้อมูลการซื้อขายจริงมาใช้ในการพัฒนาระบบการลงทุนอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งข้อมูลต่างๆเช่น ค่า Slippage ที่เกิดขึ้นจริงในการซื้อขายรายวัน, น้ำหนักการลงทุนในหุ้นแต่ละตัว (Position Size) และมูลค่าของพอร์ตโฟลิโอจะถูกนำไปวิเคราะห์และเปรียบเทียบกับระบบการลงทุนทางขั้นตอนการทดสอบ โดยมีจุดประสงค์ที่จะนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากข้อมูลการซื้อขายจริง มาทำการปรับปรุงให้ระบบการลงทุนมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

และนี่ก็คือภาพรวมของกระบวนการ AlphaSTEPs ทั้ง 10 ขั้นตอนหลัก ที่เป็นหัวใจในการวิจัยและสร้างระบบการลงทุน ที่ทีมงาน SiamQuant ทุ่มเทพัฒนาด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับความน่าเชื่อถือของการวิจัยการลงทุนเชิงปริมาณ (Quantitative) เพื่อเป้าหมายในการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับนักลงทุนไทยด้วยหลักวิทยาศาสตร์อย่างได้มาตราฐานสากล

ซึ่งกระบวนการวิจัย AlphaSTEPs นั้นถูกออกแบบให้สามารถที่จะนำไปปรับใช้กับโจทย์การลงทุนใหม่ๆในอนาคต โดยที่ยังคงไว้ซึ่งมาตราฐานการทดสอบความเสถียรยั่งยืนของระบบการลงทุนที่เข้มงวดไว้

ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การแบ่งปันความรู้และขั้นตอนการพัฒนาระบบการลงทุนที่โปร่งใสที่มีหลักการยึดมั่นอย่างชัดเจนนั้น จะทำให้นักลงทุนและผู้พัฒนาระบบลงทุนมีความรู้และความเชื่อมั่นในศาสตร์ของการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการลงทุนอย่างเป็นระบบ (Systematic Investing) มากยิ่งขึ้น โดยเราหวังว่าเนื้อหาในบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับทุกคน จนกว่าจะพบกันอีกครั้งครับ!!

Write A Comment