ระบบการลงทุน

กฏการคัดกรองหุ้นปันผลยอดฮิต Chowder Rule

Koedkao Peeratiyuth

บทความนี้เราจะมาพูดกันถึงกฎการคัดกรองหุ้นปันผลยอดฮิต “Chowder Rule” ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในหมู่ของกลุ่มนักลงทุนอย่างเป็นระบบทั่วโลก โดยวันนี้เราจะนำกฎการคัดกรอง Chowder Rule มาทำการทดสอบประสิทธิภาพในตลาดหุ้นไทยกันครับ

หลายๆคนที่ได้ยินชื่อของ Chowder Rule นั้นคงนึกไปแล้วว่ามันเกี่ยวอะไรกับซุปครีมหอย?! ซึ่งแท้จริงแล้วมันไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย (ฮา) เพราะจริงๆแล้ว Chowder Rule นั้นคือกฎที่ใช้พิจารณาคัดเลือกหุ้นปันผลจากปัจจัยพื้นฐานที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตโฟลิโอในระยะยาวโดยแทบไม่ต้องคำนึงถึงสภาวะตลาด ฟังดูน่าสนใจใช่มั้ยครับ?

แนวคิดที่เป็นรากฐานของ Chowder Rule

หลายๆคนที่ติดตาม SiamQuant มาหรือเข้าร่วมงานสัมนาให้ความรู้ของเราบ่อยๆจะสังเกตได้ว่า แนวคิดหรือกลยุทธ์การลงทุนที่เรานำมาทดสอบวิจัยให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆนักลงทุนได้ดูกันนั้นต้องมาจากแนวคิดที่สมเหตุสมผลในเชิงเศรษฐศาสตร์หรือมีการอ้างอิงจากงานวิจัยอื่นๆเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่ง Chowder Rule ที่จริงๆแล้วมีที่มาจากกระดานสนทนาใน Internet ก็ตาม

โดยนาย Chowder (ซึ่งเป็นชื่อที่เค้าใช้ในกระดานสนทนาบนเวปไซต์ Seeking Alpha) ได้กล่าวไว้ว่าเค้าได้นำหลักแนวคิดการลงทุนนี้มาจากหนังสือ “The Single Best Investment” ซึ่งถูกเขียนโดย Lowell Miller

ภาพที่ 1 : หนังสือ Single Best Investment เขียนโดย Lowell Miller ประธานบริษัทจัดการการลงทุน Miller/Howard Investments ที่เป็นรากฐานความคิดของ Chowder Rule

ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียน Lowell Miller ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของปัจจัยการเติบโตของเงินปันผล (Dividend Growth) ว่าเป็นกุญแจสำคัญในยุทธศาสตร์ของการลงทุนระยะยาว ด้วยเหตุผลที่ว่าการเติบโตของเงินปันผลนั้นคือ ผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจที่ดีสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนของปัจจัยพื้นฐานของกิจการนี้จะเป็นกลไกทำให้หุ้นมีมูลค่าที่สูงขึ้นโดยอยู่เหนือความผันผวนของตลาดหุ้น

“จำไว้ว่า คุณไม่ได้รับแค่เงินปันผลที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี แต่คุณยังได้ผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสินทรัพย์ที่สร้างรายได้นั้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

ยกตัวอย่างเช่น หุ้นที่เราถืออยู่นั้นมีการเติบโตของเงินปันผลจากปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 จาก 5 % เป็น 10% ด้วย Dividend Yield ที่สูงขึ้น ย่อมมีความต้องการของนักลงทุนเข้ามาซื้อผลักดันให้ราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งการได้ประโยชน์แบบ “สองเด้ง” แบบนี้นี่เองที่เป็นแก่นหลักของ Chowder Rule โดยนาย Chowder นั้นมีเป้าหมายในการสร้างพอร์ตโฟลิโอการลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนระยะยาวในระดับที่เขาพอใจ โดยไม่ได้ต้องการที่จะต้องมาคอยคาดเดาทิศทางตลาดแต่อย่างใด

การคัดกรองหุ้นปันผลด้วย Chowder Rule

หลังจากที่เราพอเข้าใจที่มาของแนวคิด Chowder Rule คร่าวๆแล้ว ต่อไปเรามาลองดูรายละเอียดของการคัดกรองกันดูบ้าง โดยหลักๆแล้ว Chowder Rule นั้นจะใช้การคำนวนง่ายๆดังนี้ :

Current Dividend Yield (%) + Dividend Growth Rate (%) = Total Return (%)  

โดย

Current Dividend Yield = (Adjusted Dividend Per Share / Price)*100

หมายเหตุที่ 1 : ข้อมูลเงินปันผลต่อหุ้นนั้นต้องถูกทำการ Adjusted ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้น (Listed Shares) เพื่อที่จะคำนวนค่า Dividend Yield ได้อย่างถูกต้อง

และ

Dividend Growth Rate = CAGR of Dividend for Last X Years

หมายเหตุที่ 2 : ผู้ใช้สูตร Chowder Rule นั้นมักเลือกใช้ค่าเฉลี่ยของการเติบโตของเงินปันผลที่ 3,5 และ 10 ปี แล้วแต่ความเหมาะสมของข้อมูลย้อนหลังที่มี

ซึ่งสูตรนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้นักลงทุนสามารถคัดเลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปันผลแบบ “สองเด้ง” ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนต้องชั่งใจเลือกระหว่างหุ้นที่มี Dividend Yield สูงแต่มีอัตราการเติบโตของเงินปันผล (Dividend Growth) ที่ต่ำ หรือในกรณีกลับกัน เนื่องจากบริษัทที่จ่ายปันผลสูงๆนั้นมักจะเป็นธุรกิจที่อิ่มตัวแล้ว (Mature) และไม่สามารถคงระดับการเติบโตที่สูงได้ ซึ่งทำให้ค่า Dividend Growth นั้นไม่มีความเสถียรมั่นคง

ด้วยปัญหานี้ทำให้ Chowder นั้นต้องทำให้กฎในการตัดสินใจของเขานั้นมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกับหุ้นที่มีพฤติกรรมแบบนี้ โดยเขาได้ทำการเพิ่มเติมกฎเกณฑ์เข้าไปดังนี้ :

  • ถ้าหุ้นนั้นมี Dividend Yield ที่ 3% หรือมากกว่า Total Return นั้นต้องสูงกว่าหรือเท่ากับ 12%
  • ถ้าหุ้นนั้นมี Dividend Yield ที่น้อยกว่า 3% Total Return นั้นต้องสูงกว่า 15%
  • ถ้าหุ้นตัวนั้นอยู่ในกลุ่มสาธารณูประโภค (Utility) Total Return นั้นต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 8%

จtเห็นได้ว่าในกฎเกณฑ์เหล่านี้จะมีตัวเลขที่ถูกกำหนดขึ้นมาหรือที่เรียกว่า Arbitery Parameter โดยที่มาของตัวเลขเหล่านี้มาจากการที่ Chowder นั้นได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนระยะยาวของเขาเองไว้ที่ 8% CAGR  (ซึ่งเขาแนะนำว่าสามารถปรับแต่งตัวเลขนี้ได้ตามเป้าหมายการลงทุนของคนที่นำไปใช้) โดยค่า Total Return ที่ 12% นั้นมาจากการตั้ง Margin of Safety ไว้ที่ 50% ของ 8% ซึ่งเป็นเป้าหมายการลงทุนของเขานั่นเอง

กลับกันในกรณีที่หุ้นนั้นมี Dividend Yield ที่ต่ำ (น้อยกว่า 3%) Total Return ที่เขาต้องได้รับนั้นจะสูงขึ้นเป็น 15% โดยมาจากการตั้ง Margin of Safety ที่เพิ่มขึ้นไปอีกที่ 87.5% ของ 8%  โดยเหตุผลที่ต้องเพิ่ม Margin of Safety นั้นก็เพราะว่าหุ้นที่ Dividend Yield ต่ำนั้นต้องพึ่งการเติบโตของเงินปันผล (Dividend Growth) ที่มากกว่าเดิม โดยการเติบโตของเงินปันผลนั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและมีความผันผวนมากกว่า Dividend Yield

ในกรณีหุ้นในกลุ่มสาธารณูปโภค (Utility) นั้น Chowder จะตั้ง Total Return ไว้ที่ 8% และไม่ได้มี Margin of Safety แต่อย่างใด เนื่องจากในตลาด S&P 500 หุ้นเหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่มีรายได้และการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ เพราะอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้คงที่และการแข่งขันที่ต่ำหรือเรียกง่ายๆว่าเป็นธุรกิจ “เสือนอนกิน” นั่นเอง

การทดสอบ Chowder Rule กับตลาดหุ้นไทย

ภายหลังจากที่เราได้รู้แนวคิดการลงทุนด้วย Chowder Rule กันแล้ว ในส่วนนี้เราจะมาทำการทดสอบกับตลาดหุ้นไทยกันบ้าง โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขสำหรับการทดสอบดังนี้

Condition Details
Backtesting Window
  • 01/01/2009 – 01/01/2019
Backtesting Restriction
  • เงินทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท
  • อัตราค่า Commission 0.25% (รวมซื้อขาย 0.5%)
  • Slippage  1% ทั้งการซื้อและขาย
  • Long Only
Universe
  • All Stocks หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์
Entry
  • ทำการเข้าซื้อหุ้นตอนต้นปี SQFirstDayOfYear()
Exit
  • ทำการขายหุ้นตอนปลายปี SQLastDayOfYear()
Filters
  • คัดเลือกหุ้นที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองของ Chowder Rule และ คำนวนอัตราการเติบโตของเงินปันผลด้วย CAGR 3 ปี
  • กรองข้อมูลที่มีความผิดพลาดออกด้วย SQDataFilter(0)
Position Size
  • 5% ของมูลค่าพอร์ตโฟลิโอ
Position Score
  • เรียงลำดับจาก Total Return หรือ Dividend Yield สูงสุด
Order Management
  • ทำการซื้อขายราคาเปิด (Open) ของวันถัดไปของวันที่เกิดสัญญาณ)

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขสำหรับการทดสอบ Chowder Rule

หมายเหตุที่ 3 : เราได้ทำการตัดกฎในข้อที่ 3 ของ Chowder Rule ออกไปเนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นไม่ได้มีการแบ่งกลุ่ม Utility แยกย่อยออกมาอย่างชัดเจน (โดยปัจจุบันไปรวมกับกลุ่มพลังงาน) บวกกับจำนวนบริษัทที่เข้าข่าย Utility ตามที่ Chowder ได้อธิบายไว้นั้นมีจำนวนน้อยเพียงไม่กี่บริษัทในตลาดหุ้นไทย

หมายเหตุที่ 4 : การทดสอบนี้จะมีการรวมผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการนำเงินปันผลที่ได้รับกลับเข้าไปลงทุนต่อ (Dividend Reinvest) เพื่อเป็นการรับรู้ถึงผลตอบแทนจากเงินปันผลซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ Chowder Rule โดยเราได้ตั้งสมมติฐานว่านักลงทุนจะได้รับเงินปันผลภายหลังวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XD ไปแล้ว 50 วัน โดยเงินปันผลดังกล่าวจะถูกหักภาษี 10% ในทุกกรณี

โดยในการทดสอบนี้เราจะทำการแบ่งระบบการลงทุนออกเป็น 3 ระบบ โดยระบบแรก ‘Chowder Rule’ ซึ่งก็คือ การทดสอบกฎการคัดกรอง Chowder Rule โดยใช้การคำนวนอัตราการเติบโตของเงินปันผลด้วย CAGR 3 ปี และระบบที่สอง TR Score คือการทดสอบที่ทุกอย่างเหมือนเดิมแต่ตัดกฎการคัดกรอง Chowder Rule ออก เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและผลกระทบของการคัดกรอง และระบบ DivYield Score ที่จะลงทุนในหุ้นที่มีค่า Dividend Yield สูงสุด

ผลลัพธ์ของการทดสอบ Chowder Rule

ภาพที่ 2 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอระหว่างระบบการลงทุนที่ใช้กฎ Chowder Rule ในการคัดกรอง (เส้นสีน้ำเงิน) ระบบ TR Score (เส้นสีเขียว) ระบบ DivYield Score (เส้นสีแดง) และดัชนี SET TRI Index (เส้นสีดำ)

Portfolio Metrics Chowder Rule TR Score DivYield Score SET TRI
Net Profit (%) 492% 313% 324% 372%
CAGR 20.17% 15.78% 16.10% 17.44%
MaxDD -25.81% -27.31% -19.23% -24.41%
Longest DD (Month) 22.33 21.81 25.52 17
CAR/MDD 0.78 0.57 0.84 0.71

 

Trade Metrics Chowder Rule TR Score DivYield Score SET TRI
No. of All Trade 190 190 185
Avg. Bar Held 250.44 262 265.12
% Win 60% 54.21% 57.84%
Avg. Profit/Loss % 20.56% 19.34% 14.95%
Max Consecutive Loss 7 8 7

ตารางที่ 2 : ตารางแสดงค่าสถิติของระบบการลงทุนที่ใช้กฎ Chowder Rule ในการคัดกรอง (เส้นสีเขียว) ระบบ TRScore (เส้นสีน้ำเงิน) และดัชนี SET TRI Index (เส้นสีดำ)

จากภาพที่ 2 และตารางที่ 2 จะพบว่า Chowder Rule นั้นมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยทบต้นต่อปีเท่ากับ 20.17% ซึ่งสูงกว่าระบบ TR Score ที่ไม่ได้ใช้ Chowder Rule ที่ 15.78% และระบบ DivYield Score ที่ 16.10% ในขณะที่ดัชนี SET TRI Index นั้นมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 17.44% ต่อปี

และในด้านความเสี่ยงวัดโดยค่า MaxDrawdown ของทั้ง Chowder Rule และ TR Score นั้นมีค่าอยู่ใกล้เคียงกับ SET TRI index ที่ -24.41% โดยระบบ DivYield Score นั้นมีค่า MaxDD ต่ำที่สุดที่ -19.23%

สิ่งน่าสนใจที่พบจากการทดสอบนี้คือ กฎการคัดกรองหุ้นปันผล Chowder Rule นั้นมีส่วนช่วยให้ผลตอบแทนของระบบการลงทุนนั้นสูงขึ้นอย่างมีนัยยะทั้งจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในแต่ละปีตลอดช่วงการทดสอบทั้ง 3 ระบบนั้นถูกแสดงอยู่ในตารางที่ 3

Year Yr Dividend

Chowder Rule

Yr Dividend

TR Score

Yr Dividend

DivYield Score

2009 578,250 283,316 372,212
2010 847,105 228,171 1,028,822
2011 978,554 403,860 1,150,597
2012 998,931 317,113 993,085
2013 1,400,257 371,162 1,930,197
2014 1,444,221 263,047 1,568,842
2015 1,687,420 604,026 2,382,700
2016 1,678,898 714,963 1,300,450
2017 1,531,332 1,138,183 1,438,515
2018 1,091,206 617,634 1,524,118
Total 12,236,179 4,941,473 13,689,541

ตารางที่ 3 : ตารางแสดงเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในแต่ละปีของระบบที่ใช้กฎการคัดกรองหุ้นปันผล Chowder Rule เปรียบเทียบกับระบบ TR Score และ DivYield Score ซึ่งไม่ได้ใช้ Chowder Rule

สรุปว่า Chowder Rule ดีจริงหรือไม่ ?

จากผลการวิจัยทดสอบย้อนหลัง เราได้ค้นพบว่า Chowder Rule นั้นมีส่วนช่วยในนักลงทุนได้รับทั้งผลตอบแทนและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดจากหนังสือ The Single Best Investment ที่อาศัยการได้ประโยชน์ “สองเด้ง” จากทั้งราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลที่ได้รับ โดยเห็นได้ชัดว่าถึงแม้กลยุทธ์ DivYield Score นั้นจะได้รับเงินปันผลที่สูงกว่า Chowder Rule แต่ผลตอบแทนโดยรวมกลับต่ำกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยถึงแม้ตัวกลยุทธ์เองนั้นจะคงประสิทธิภาพในระดับที่สูง แต่ยังต้องผ่านขั้นตอนทดสอบความเสถียรของตัวแปรเพิ่มเติมก่อนนำไปใช้ลงทุนจริง อย่างไรก็ตามถือว่า Chowder Rule นั้นสามารถผ่านเข้ารอบคัดเลือกของกระบวนการ SiamQuant AlphaSTEPs (อ่านเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยได้ที่นี่) ได้อย่างน่าจับตามองเลยทีเดียวครับ

ซึ่งเพื่อนๆพี่ๆน้องๆนักลงทุนสามารถติดตาม Blog การวิจัยกลยุทธ์การลงทุนเชิง Quantitative จากทั่วโลกแบบนี้ด้วยการ Subscribe E-mail ข่าวสารใน Knowlegde Hub ใน Website ของเราครับ จนกว่าจะพบกันใหม่ ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการลงทุนครับ

References :

https://www.suredividend.com/the-chowder-rule-explained/

https://www.vetr.com/research/OTCBB:CAGR/posts/2996039141-The-Chowder-Rule

https://www.dividendearner.com/using-chowder-rule/

Write A Comment