บทความแปลและสรุป

กลยุทธ์การสร้างพอร์ตด้วยแนวคิด Long Term P/E Ratio ของ Benjamin Graham และผลการทดสอบในตลาดหุ้นไทย

SiamQuant Team
ติดตามพวกเรา

ใครเคยสงสัยบ้างว่า…ทำไมหลายๆคนจึงนิยมใช้กำไรสุทธิย้อนหลังระยะสั้นแค่ 1 ปีหรือ 4 ไตรมาสล่าสุดในการคำนวนค่า P/E Ratio? มันคือสูตรสำเร็จหรือเป็นเพียงสิ่งที่คนทั่วไปทำตามกันมา?

นี่คือสิ่งที่ Benjamin Graham ผู้เป็นอาจารย์ของ Warren Buffet มหาเศรษฐีและสุดยอดนักลงทุนเชิงคุณค่าของโลกสงสัย และแนะนำให้พวกเราได้นำเอาค่า Earning หรือผลกำไรในระยะยาว 5-10 ปีของบริษัทมาปรับใช้แทน

ดังนั้น ในวันนี้เราจะพาทุกคนมาไขความลับเกี่ยวกับการใช้ค่า Long-Term P/E Ratio ในระยะยาวจากผลการทดสอบในตลาดหุ้นไทยกัน เพื่อพิสูจน์ความจริงกันว่า คำแนะนำของ Benjamin Graham จะยังคงใช้ได้กับตลาดหุ้นไทยเมื่อวันเวลาผ่านมากว่าชั่วอายุคนได้หรือไม่!?

ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ Long-Term P/E Ratio

Price Earnings Ratio หรือค่า P/E Ratio ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือพื้นฐานสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้นของนักลงทุนส่วนใหญ่ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน แต่ประเด็นที่คนส่วนใหญ่หลงลืมคือ ตัวแปรในเรื่องของ “ระยะเวลาย้อนหลัง” ของกำไรสุทธิที่ใช้ในการคำนวณค่า P/E Ratio นั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรามักจะใช้ค่ากำไรสุทธิ 1 ปีหรือ 4 ไตรมาสล่าสุดมาคำนวณ หรือที่เรียกกันในชื่อ Trailing P/E นั่นเอง แต่การใช้ค่ากำไรสุทธิในระยะสั้นย้อนหลังแค่ 1 ปีอย่างที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้นั้น อาจไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพของค่า P/E Ratio ในการประเมินมูลค่าหุ้นที่มีอยู่อย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการใช้ระยะเวลาย้อนหลังของค่ากำไรสุทธิที่ยาวนานขึ้น และเกิดเป็นแนวคิดของการใช้ค่า P/E Ratio ในระยะยาว (Long Term P/E Ratio) ขึ้นมาในที่สุดครับ

โดยในปัจจุบันมีการเผยแพร่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของการใช้ค่า Long Term P/E Ratio ในการประเมินมูลค่าอย่างมากมาย โดยหนึ่งในงานวิจัยที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการศึกษาในเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาย้อนหลังในการคำนวณกำไรสุทธิของค่า P/E Ratio กับผลตอบแทนที่เกิดขึ้น ที่มีชื่อเสียงอย่างมากคือ งานวิจัยเรื่อง “The Long-Term Price-Earnings Ratio” ของสองศาสตราจารย์ Anderson และ Brooks ในปี 2005 ที่พบว่าการใช้ระยะเวลาในการคำนวณค่า P/E Ratio ย้อนหลังของกำไรสุทธิเฉลี่ยในระยะยาว สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าในระยะสั้นอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ รวมถึงผลตอบแทนที่เกิดขึ้นยังมีความเสถียรในระยะยาว แม้หักผลกระทบในเรื่องของสภาพคล่องออกไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการพยากรณ์ผลตอบแทนในอนา่คตที่มีประสิทธิภาพของค่า Long Term P/E Ratio นั่นเอง และในส่วนถัดไปของบทความจะเป็นการไขความลับของค่า Long Term P/E Ratio ว่าจะยังสามารถใช้กับตลาดหุ้นไทยได้หรือไม่นั้น…เราไปพิสูจน์พร้อมกันเลยครับ!

Note 1 :

สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่ยังไม่ได้อ่านผลสรุปงานวิจัยของสองศาสตราจารย์ Anderson และ Brooks ของทาง SiamQuant สามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความนี้เลยครับ Long Term P/E Ratio ความลับสำคัญในการวัดความถูก-แพงของราคาหุ้น!

วิธีการทดสอบกลยุทธ์ Long-Term P/E Ratio ในตลาดหุ้นไทย โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของ Anderson และ Brooks

ก่อนที่เราจะไปพิสูจน์ผลลัพธ์ของการทดสอบค่า Long Term P/E Ratio กับตลาดหุ้นไทยนั้น เราลองมาทบทวนวิธีการคำนวณค่า Long Term P/E Ratio ในเบื้องต้นกันก่อนดีกว่า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ครับ

PEn = Market capitalization / Average n years of annual net profit

โดยที่ตัวแปร

  • PEn คือ ค่า Price Earnings Ratio หรือค่า P/E Ratio
  • Market capitalization คือ มูลค่าหุ้นตามราคาตลาด
  • Average n years of annual net profit คือ ค่าเฉลี่ยของผลกำไรรายปีในช่วง ระยะเวลาย้อนหลัง n ปี

ตัวอย่างการคำนวณค่า Long Term P/E Ratio

 

Market cap (M.Baht) Net profit – Year 1 (M.Baht) Net profit – Year 2 (M.Baht) Net profit – Year 3 (M.Baht)
2,000 180 200 220

 

ตารางที่ 1 – ตางรางแสดงตัวอย่างมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดและกำไรสุทธิในแต่ละปี เป็นหน่วยล้านบาท (M.Baht)

หากหุ้นตัวหนึ่งมีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเท่ากับ 2,000 ล้านบาท และผลกำไรรายปีในปีที่ 1, 2 และ 3 มีค่าเท่ากับ 180, 200 และ 220 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเราจะสามารถคำนวณค่า P/E Ratio จากการใช้กำไรสุทธิโดยเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (PE3) ของหุ้นจะมีค่าเท่ากับ 10 ดังนี้

PE3 = 2,000 / ( ( 180 + 200 + 220 ) / 3 )

PE3 = 2,000 / 200

PE3 = 10

หลังจากที่เราเข้าใจตรงกันถึงวิธีการคำนวณค่า Long Term P/E Ratio ในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเราจะทำการสร้างพอร์ตโฟลิโอจำลอง 2 พอร์ต เพื่อใช้ทดสอบค่า Long Term P/E Ratio กับตลาดหุ้นไทย โดยจะแบ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอของหุ้นที่มีค่า P/E สูง (High P/E) กับพอร์ตโฟลิโอของหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำ (Low P/E) โดยเปรียบเทียบกัน และในแต่ละพอร์ตโฟลิโอจะมีการใช้ค่ากำไรสุทธิโดยเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่ 1 ปี (PE1) จนถึงถึง 12 ปี (PE12) ซึ่งมีเงื่อนไขต่างๆดังต่อไปนี้

  • ช่วงเวลาทดสอบ (Testing Window) : ตั้งแต่ 31/12/2005 ถึง 31/12/2015
  • ตะกร้าการลงทุน (Universe) : SET Index
  • จุดเข้าซื้อ (Entry) : ในวันทำการแรกของเดือนเมษายน
  • จุดขาย (Exit) : ในวันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม
  • สัดส่วนการลงทุน (Money Management) :
    • ในกรณีพอร์ตโฟลิโอ High P/E จะทำการเลือกหุ้น 30 ตัวแรกที่มีค่า P/E สูงสุด และแบ่งน้ำหนักในหุ้นแต่ละตัวเท่าๆกัน (Equally-Weighted Portfolio)
    • ในกรณีพอร์ตโฟลิโอ Low P/E จะทำการเลือกหุ้น 30 ตัวแรกที่มีค่า P/E ต่ำสุด และแบ่งน้ำหนักในหุ้นแต่ละตัวเท่าๆกัน (Equally-Weighted Portfolio)

โดยที่เราสามารถที่จะเขียนระบบการลงทุนออกมาเป็นภาพตาม SiamQuant Strategy Canvas ได้ดังนี้

SiamQuant_1_PE_Canvasภาพที่ 1 : ภาพแสดงรายละเอียดของระบบการเลือกหุ้นด้วยค่า Long-Term P/E Ratio กับหุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่วันที่ 01/01/2006 ถึง 01/01/2016

Note 2 :

  1. ในกรณีที่กำไรสุทธิเฉลี่ยต่อปีที่คำนวณได้มีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับศูนย์ จะถือว่า PEn ในปีนั้นมีค่าเป็นศูนย์

  2. หุ้นที่ไม่มีข้อมูลกำไรสุทธิ (Net profit) เช่น กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REITs) หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure fund) จะถือว่า PEn มีค่าเป็นศูนย์

  3. โดยหุ้นทั้งหมดที่มีค่า PEn เป็นศูนย์จะไม่ถูกนำมารวมในการทดลองครั้งนี

  4. การคำนวณ PEn จะคำนวณในวันทำการแรกของเดือนเมษายน (3 months gap) ทั้งนี้เพื่อให้งบการเงินรายปีของทุกบริษัทมีพร้อมในฐานข้อมูล

ประสิทธิภาพของค่า Long Term P/E Ratio ในตลาดหุ้นไทย!

เมื่อเราได้เขียนโปรแกรมเพื่อทำการ Backtest และเก็บผลลัพท์ที่ได้ออกมาสำรวจดูนั้น จากผลทดสอบการจัดพอร์ตโฟลิโอหุ้นด้วยค่า Long Term P/E Ratio ในตลาดหุ้นไทย เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาย้อนหลังของกำไรสุทธิ ที่ใช้ในการคำนวณค่า P/E Ratio ตั้งแต่ 1 ปี (PE1) จนถึง 12 ปี (PE12) กับผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของพอร์ตโฟลิโอที่เกิดขึ้น รวมถึงการเปรียบเทียบความสามารถในการเลือกคัดหุ้นในพอร์ตโฟลิโอของหุ้นที่มีค่า P/E สูงและต่ำ ทำให้เราได้ค้นพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้ครับ

1.การใช้กำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลังระยะยาวสามารถสร้างผลตอบแทน ที่มากกว่าการใช้กำไรสุทธิย้อนหลัง 1 ปีในการคำนวณค่า P/E Ratio

 

CAGR(%) PE1 PE2 PE3 PE4 PE5 PE6
High PE 16.65 11.77 9.82 11.63 13.18 14.26
Low PE 18.18 18.40 17.28 15.04 15.32 17.84
Spread 1.53 6.63 7.46 3.41 2.14 3.58
CAGR(%) PE7 PE8 PE9 PE10 PE11 PE12
High PE 11.6 12.63 15.38 11.59 18.28 15.77
Low PE 20.03 18.56 19.20 21.66 19.62 20.09
Spread 8.43 5.93 3.82 10.07 1.34 4.32


ตารางที่ 2
 : แสดงอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปี (CAGR) ของการจัดพอร์ตโฟลิโอตามระยะเวลาย้อนหลังของกำไรสุทธิ ที่ใช้ในการคำนวณค่า P/E Ratio ตั้งแต่ 1 ปี (PE1) จนถึง 12 ปี (PE12) โดยแยกทดสอบทั้งพอร์ตโฟลิโอของหุ้นที่มีค่า P/E สูงและ P/E ต่ำ

จากภาพที่ 3 พบว่าพอร์ตโฟลิโอของหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำ (Low PE) สามารถสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าพอร์ตโฟลิโอของหุ้นที่มีค่า P/E สูง (High PE) ในทุกระยะเวลาการคำนวณกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่ 1 ปี (PE1) จนถึง 12 ปี (PE12) นอกจากนี้เราจะเห็นได้ว่าผลต่างระหว่างผลตอบแทนของพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูงและต่ำ (Spread) ของการคำนวณกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลังในระยะยาว 10 ปีนั้น (PE10) มีค่ามากที่สุดเท่ากับ 10.07% ซึ่งมากกว่าการคำนวณกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลังในระยะสั้น 1 ปีโดยทั่วไป (PE1) ที่มีค่าเท่ากับ 1.53% อย่างเห็นได้ชัด

Note 3 : คำอธิบายตัวแปรต่างๆที่แสดงอยู่ในภาพผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการทดสอบ

  1. Compound Annual Growth Rate (CAGR) คือ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปี

  2. High PE คือ พอร์ตโฟลิโอของหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูงสุดจำนวน 30 ตัวแรก

  3. Low PE คือ พอร์ตโฟลิโอของหุ้นที่มีค่า P/E Ratio ต่ำสุดจำนวน 30 ตัวแรก

  4. Spread คือ ผลต่างระหว่างผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปีของพอร์ตโฟลิโอ High PE และพอร์ตโฟลิโอ Low PE

  5. PE1 ถึง PE12 คือ ระยะเวลาย้อนหลังรายปีของกำไรสุทธิ (Net Profit) ที่ใช้ในการคำนวณค่า P/E Ratio

SiamQuant_PE_PlotReturn-Long-Term-PE-Benjamin-Graham-02ภาพที่ 2 : ภาพแสดงผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปีหรือ CAGR ของพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio ต่ำ, กำไรส่วนเกินจากตลาดที่ใช้ SET Index เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการอ้างอิง (Excess CAGR From Benchmark) และผลต่างระหว่างผลตอบแทนของพอร์ตโฟลิโอหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูงและต่ำ (Spread) ในทุกช่วงการคำนวณกำไรสุทธิย้อนหลังตั้งแต่ 1 ปี (PE1) จนถึง 12 ปี (PE12)

เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนส่วนเกินของพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio ต่ำ (แกนนอน) และผลต่างระหว่างผลตอบแทนของพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูงและต่ำ (แกนตั้ง) ในภาพที่ 4 จะสังเกตได้ว่าการใช้กำไรสุทธิย้อนหลังระยะยาว 10 ปีในการคำนวณค่า P/E Ratio (PE10) มีผลตอบแทนส่วนเกินจากตลาด และผลต่างระหว่างผลตอบแทนของพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูงและต่ำ (Spread) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาอื่นทั้งหมด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ในการสร้างผลตอบแทนของค่า Long Term P/E Ratio และความแตกต่างของพอร์ท P/E ต่ำ และ P/E สูงในตลาดหุ้นไทยนั่นเองครับ

2.การใช้กำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลังระยะยาวสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยง จากการขาดทุนหนักได้ดีกว่าการใช้กำไรสุทธิย้อนหลัง 1 ปี ในการคำนวณค่า P/E Ratio

MDD(%) PE1 PE2 PE3 PE4 PE5 PE6
High PE -57.39 -49.46 -55.86 -57.30 -48.66 -48.46
Low PE -49.69 -49.07 -48.4 -47.55 -50.44 -43.59
Spread 7.70 0.39 7.46 9.75 -1.78 4.87
MDD(%) PE7 PE8 PE9 PE10 PE11 PE12
High PE -52.15 -48.56 -50.2 -53.47 -48.19 -47.81
Low PE -41.27 -40.80 -40.70 -37.64 -37.20 -36.41
Spread 10.88 7.76 9.50 15.83 10.99 11.40


ตารางที่ 3
 : ตารางแสดงอัตราการลดลงของเงินในพอร์ตโฟลิโอสูงสุด หรือค่า Maximum Drawdown (MDD) ของการจัดพอร์ตโฟลิโอตามระยะเวลาย้อนหลังของกำไรสุทธิ ที่ใช้ในการคำนวณค่า P/E Ratio ตั้งแต่ 1 ปี (PE1) จนถึง 12 ปี (PE12) โดยแยกทดสอบทั้งพอร์ตโฟลิโอของหุ้นที่มีค่า P/E สูงและ P/E ต่ำ

จากภาพที่ 5 สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ เราพบว่าพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio ต่ำ (Low PE) นอกจากจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูง (High PE) อย่างที่เราได้สรุปกันไปในประเด็นที่แล้ว ยังสามารถให้ค่าอัตราการลดลงของเงินในพอร์ตโฟลิโอสูงสุด หรือค่า Maximum Drawdown (MDD) ที่ต่ำกว่าเกือบทุกพอร์ตอีกด้วย ยกเว้นพอร์ตที่ใช้กำไรสุทธิย้อนหลัง 5 ปี (PE5) พอร์ตเดียวเท่านั้น รวมถึงการพบว่าช่วงระยะเวลาการใช้กำไรสุทธิย้อนหลังตั้งแต่ 7 ปี (PE7) จนถึง 12 ปี (PE12) ล้วนแต่ให้ค่าผลต่างระหว่างผลตอบแทนของพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูงและต่ำ (Spread) ที่มากกว่าการใช้กำไรสุทธิย้อนหลัง 1 ปีในการคำนวณค่า P/E Ratio อีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุนหนักของการสร้างพอร์ตด้วยค่า Long Term P/E Ratio และความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญของพอร์ตที่ใช้ค่า P/E Ratio สูงและต่ำอย่างแท้จริงครับ

ลักษณะการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอเมื่อเทียบกับดัชนี SET Index

ก่อนจะจบบทความนี้เราขอย้ำถึงประสิทธิภาพของ Long-Term P/E Ratio กันชัดๆอีกสักครั้งหนึ่ง ด้วยการฝากภาพจำลองการเติบโตของพอร์ทโฟลิโอ (Equity Curve) ที่ทดสอบกับตลาดหุ้นไทย 10 ปีย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 31/12/2005 ถึง 31/12/2015 ที่ทำขึ้นล้อกับวิธีการวิจัยของศาสตราจารย์ Anderson และ Brooks ในบทความที่แล้ว โดยเปรียบเทียบระหว่างพอร์ตที่ซื้อหุ้นในลักษณะต่างๆดังนี้

  • P/E Ratio ต่ำและใช้การคำนวณกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี (Low PE1)
  • P/E Ratio ต่ำและใช้การคำนวณกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (Low PE10)
  • P/E Ratio ต่ำและใช้การคำนวณกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี (High PE1)
  • P/E Ratio ต่ำและใช้การคำนวณกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (High PE10)

โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็คือภาพด้านล่างนี้

SiamQuant-PE-Equity-Long-Term-PE-Benjamin-Graham-3ภาพที่ 3 : ภาพแสดงภาพจำลองการเติบโตของพอร์ทโฟลิโอ โดยแยกเป็นพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูงและต่ำ ร่วมกับการใช้กำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีและ 10 ปีของการคำนวณค่า P/E Ratio ในตลาดหุ้นไทยเปรียบเทียบกับ SET Index ที่ใช้เป็นดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ตั้งแต่วันที่ 31/12/2005 ถึง 31/12/2015

จากภาพที่ 6 เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มของพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio ต่ำ (เส้นสีเขียวและสีฟ้า) จะมีการเติบโตที่มากกว่ากลุ่มของพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูง (เส้นสีแดงและสีม่วง) แต่ทุกกลุ่มล้วนมีการเติบโตที่มากกว่า SET Index ทั้งสิ้น ซึ่งหากพิจารณากลุ่มหุ้นที่มีค่า P/E Ratio ต่ำ พบว่าการใช้กำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (Low PE10) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า การใช้กำไรสุทธิย้อนหลัง 1 ปีในการคำนวณค่า P/E Ratio แบบทั่วไป (Low PE1) อย่างเห็นได้ชัด ในทางตรงกันข้ามหากใช้กำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีในพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูง (High PE10) จะทำให้การเติบโตของพอร์ตโฟลิโอลดลง ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่าการใช้กำไรสุทธิย้อนหลัง 10 ปีในการคำนวณค่า P/E Ratio นั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ผลต่างระหว่างผลตอบแทนของพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูงและต่ำ (Spread) กว้างขึ้นและมีความสัมพันธ์ในเชิงบวก (ส่งเสริมกัน) กับพอร์ตหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำนั่นเองครับ

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าพอร์ตโฟลิโอทุกรูปแบบยังคงที่จะต้องเผชิญกับช่วงเวลาของการเกิด Drawdown ที่หนักหน่วงกว่าหลายๆคนคิดกันเป็นระยะๆอยู่เสมอ โดยเป็นปัญหาซึ่งเกิดจากลักษณะของกลยุทธ์ซึ่งเน้นการ Rotate-Rebalance แล้วถือยาวนั่นเอง ซึ่งนี่ถือเป็นสภาวะที่คุณควรทำความยอมรับและเข้าใจก่อนใช้กลยุทธ์การถือยาวทุกรูปแบบนั่นเองครับ

บทสรุป Long Term P/E Ratio จากการทดสอบในตลาดหุ้นไทย

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ…หลังจากได้อ่านผลการทดสอบกลยุทธ์การสร้างพอร์ตโฟลิโอด้วยค่า Long Term P/E Ratio ในตลาดหุ้นไทยกันไป เราจะเห็นได้ว่าบางครั้งรายละเอียดเล็กๆน้อยก็สามารถกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญได้

โดยตัวแปรเรื่องระยะเวลาในการคำนวณกำไรสุทธิย้อนหลังของค่า P/E Ratio ที่คนทั่วไปอาจจะหลงลืมหรือใช้ตามๆคนอื่นกันมานั้น ก็สามารถกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เครื่องมือยอดนิยมอย่างค่า P/E Ratio มีประสิทธิภาพขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดนั่นเอง และมันยังทำให้คำแนะนำกว่าชั่วอายุคนของ Benjamin Graham นั้นมีมนต์ขลังขึ้นมาอีกมากมายอย่างไม่น่าเชื่อกันอีกด้วยครับ

สุดท้ายแล้วทีมงานหวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อยนะครับ (อย่าลืมกด Likes หรือ Share เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเรากันด้วยนะครับ :D) โดยสำหรับใครที่อยากจะศึกษางานวิจัยโดยละเอียดเพิ่มเติม สามารถกดเข้าไปอ่านได้ตามลิงค์ด้านล่างในส่วนของ Reference ได้เลยนะครับ

และสำหรับเพื่อนๆคนไหนไม่อยากที่จะพลาดการปล่อยบทความในครั้งต่อไปนั้น สามารถติดตามพวกเราได้ที่ SiamQuant Facebook Fanpage โดยตั้งสถานะการติดตามให้เห็นโพสท์ของพวกเราได้ง่ายขึ้น (Facebook พึ่งปรับ Algorithm ใหม่ในการแสดง Feed) ด้วยการตั้งค่า See First และ All Notification On ตามภาพด้านล่างนี้ครับ

พบกันใหม่ในตอนหน้า สวัสดีครับ!

See first

ทีมงาน SiamQuant

SiamQuant Academy จุดเริ่มต้นของการลงทุนอย่างเป็นระบบ

 

References

The Long-Term Price-Earnings Ratio

Quantitative Value Research: Long-term P/E Ratio

Write A Comment