งานวิจัยและบทความทั้งหมด

ถอดรหัสกลยุทธ์เซียนหุ้น VI “เสี่ยปู่” สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล

SiamQuant Team
ติดตามพวกเรา

“เสี่ยปู่” สมพงษ์ ชลคดีตระกูล คือเซียนหุ้นรุ่นใหญ่ที่ถือได้ว่าเป็นตำนานกล่าวขานท่านหนึ่งของนักลงทุนไทย อย่างไรก็ตาม เราแทบไม่มีแหล่งข้อมูลที่จะศึกษาถึงกลยุทธ์การลงทุนของ “เสี่ยปู่” แบบ “เจาะลึก” กันสักเท่าไหร่นัก … แต่ข่าวดีก็คือ ในวันนี้ทีมน้องๆนักศึกษาฝึกงานของ SiamQuant ได้รับความกรุณาในการเข้าสัมภาษณ์เพื่อแพร่แนวคิดการลงทุนของ “เสี่ยปู่” เพื่อเป็นวิทยาทานให้กับนักลงทุนไทยโดยทั่วกัน และต่อไปนี้ก็คือบทสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกลยุทธ์การลงทุนเป็นข้อๆ แบบที่คุณจะหาอ่านจากที่ไหนไม่ได้แล้วครับ!!

SiamQuant-exclusive-interview-big-investor-thailand-1

หลักการคัดกรองหุ้นแบบเสี่ยปู่ (Stock Selection)

SiamQuant : ไม่ทราบว่าเสี่ยปู่มีสไตล์การลงทุนหรือว่าใช้กลยุทธ์แบบไหน และได้รับแรงบันดาลใจในการลงทุนมาจากอะไรครับ?

เสี่ยปู่ : แรกๆเนี่ย คุณมนตรี ศรไพศาล เค้าเอาหนังสือของวอร์เรน บัฟเฟตต์มาฝาก ปกติเราก็จะไม่ค่อยเป็นคนอ่านหนังสือเท่าไหร่ แต่พออ่านแล้วก็รู้สึกชอบมาก ก็อ่านซ้ำไปซ้ำมาจนสุดท้ายแล้วก็เปลี่ยนมาเป็นแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของ Value Investor

SiamQuant : เสี่ยปู่เข้ามาในตลาดหุ้น ตอนช่วงไหนครับ?

เสี่ยปู่ : ประมาณช่วงปลายปี พศ.2529 ถึงตอนนี้ก็ 30 กว่าปีแล้ว

SiamQuant : ปกติเสี่ยปู่จะเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มไหนเป็นพิเศษรึเปล่าครับ?

เสี่ยปู่ : เราจะไม่เลือกกลุ่ม เราจะเลือกดูว่าหุ้นตัวไหนที่เราคิดว่ากำไรเติบโต หรือเราดูแล้วมีความยั่งยืน

SiamQuant : ในส่วนของกำไรเติบโตนี่คือ ต้องเติบโตแบบไหน หรือดู Financial Ratio ตัวไหน เป็นพิเศษรึเปล่าครับ?

เสี่ยปู่ : Earning Per Share ทั้งนั้นแหละ เราจะชอบที่จะให้หุ้นมีการโตทุกปี ถ้ามันเติบโตสม่ำเสมอก็ถือว่ามันค่อนข้างมีความมั่นคง เราจะชอบอย่างงั้นมากกว่า

Note : กำไรต่อหุ้น (Earning per Share หรือ EPS) คืออัตราส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นแสดงให้เห็นถึงกำไรของบริษัทเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทั่วไปแล้ว EPS ยิ่งเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งดี EPS เยอะหมายความว่าบริษัท มีกำไรมาก ซึ่งกำไรจะบ่งชี้ถึงศักยภาพในการทำธุรกิจที่แข็งแกร่ง การวิเคราะห์ EPS ควรดู แนวโน้มของ EPS ย้อนหลังหลายๆปีโดยเปรียบเทียบกับบริษัท ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม และหมวดธุรกิจเดียวกัน

เสี่ยปู่ : เราก็จะชอบเยอะๆ ประมาณ 20 หรือ 30 เปอร์เซนต์ต่อปีนี่เราก็ถือว่าดีSiamQuant : แล้วสำหรับการดูการเติบโตของ Earning Per Share นั้นต้องมีเกณฑ์ไหมครับว่ากี่เปอร์เซนต์ต่อปีขึ้นไป เช่น ต้องมากกว่า 20 เปอร์เซนต์ขึ้นไป?

SiamQuant : นอกจากการเติบโตของผลกำไรนี้ มีการดูพื้นฐานด้านอื่นอีกไหมครับ เช่นดู P/E เพื่อประเมิณความถูกแพงด้วยมั้ยครับ

เสี่ยปู่: ก็ดู P/E ถ้าต่ำๆมันก็จะดี และยิ่งถ้า P/E ต่ำแล้วการเติบโตสูง (Growth) มันก็น่าลงทุนด้วย

Note : อัตราส่วน P/E Ratio (Price to earning ratio) คืออัตราส่วนที่เทียบระหว่างกำไรของบริษัท กับราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่นิยมใช้สำหรับการบอกความถูกหรือแพงของหุ้น

SiamQuant : ไม่ทราบว่า P/E ต่ำนี่ ต้องต่ำเท่าไหร่สำหรับเสี่ยปู่ถึงจะเรียกว่าต่ำหรือครับ?

เสี่ยปู่ : ถ้า P/E น้อยกว่า 10 อย่างงี้มันก็โอเค แต่มันก็ต้องขึ้นอยู่กับ Growth ด้วยนะ บางทีบางบริษัท Growth 40-50 เปอร์เซนต์ แล้ว P/E ต่ำกว่า 20 มันก็มันก็น่าลงทุนใช่มั้ย แต่ก็ต้องดูความยั่งยืนของกำไรด้วยนะ อย่างบางคนก็ดู P/E หารด้วย Growth หรือที่เรียกว่า PEG ส่วนบางคนก็บอกว่าต่ำกว่า 1 ก็ใช้ได้อะไรอย่างนี้ ถ้าอย่างเราจะชอบให้มันต่ำมากๆ ต่ำกว่า 0.5 หรือ 0.6 มันก็จะถือว่าดีมาก

Note : PEG หรือ P/E to Growth เป็นเครื่องมือโปรดของ ปีเตอร์ ลินช์ ผู้จัดการกองทุนแม็คเจลแลน และสุดยอดนักลงทุนคนหนึ่งของโลก เนื่องจากเขาเน้นลงทุนใน Growth Stock หรือ “หุ้นเติบโต” เป็นหลัก โดยตัว “G” หรือ Growth นั้นก็คือ “การเติบโต” ในที่นี้หมายถึงการเติบโตของ “กำไร” เท่านั้น (ไม่ใช่ ยอดขาย, เงินปันผล หรืออื่นๆ)

SiamQuant : ถ้าอย่างนี้แล้วหากค่า P/E เกินเท่าไหร่เสี่ยปู่จะไม่ลงทุนครับ?

เสี่ยปู่ : เราจะดูว่ามันจะ Growth ในอนาคตเป็นยังไง อย่างบริษัทที่พึ่งเริ่มก่อตั้งได้ไม่นานหรือพึ่งเข้ามาในตลาด กำไรมันก็อาจจะน้อย ซึ่งเราก็ต้องดูประวัติด้วยนะ ว่าเขาทำกำไรโตมาตลอด ถึงแม้จะมี P/E สูงแต่ว่าอนาคตมันจะดี สิ่งสำคัญที่เราดู ก็คือ ความสามารถของผู้บริหาร และประวัติการทำกำไรของเขา ก็คือดูว่าเขาทำกำไรเติบโตได้ดีขนาดไหน หรือที่เขาให้สัมภาษณ์เราก็จะเก็บไว้คอยดูว่าเขาทำได้รึเปล่า เพราะเราจะไม่ชอบผู้บริหารที่พูดแบบโอเวอร์ แล้วพอถึงเวลาทำไม่ได้

SiamQuant : แล้วดูพวกแบบการจ่ายปันผลด้วยไหมครับ?

เสี่ยปู่ : ถ้ามีปันผล เราก็จะชอบ

SiamQuant : ก็คือต้องปันผลซักประมาณเท่าไหร่ กี่เปอร์เซนต์ต่อปีครับ?

เสี่ยปู่ : เราชอบหุ้นที่เจริญเติบโตแม้ปันผลจะน้อย

SiamQuant : ถ้าอย่างนี้ก็หมายความว่า ใช้การเติบโตเป็นเกณฑ์หลักใช่ไหมครับ?

เสี่ยปู่ : ใช่ๆ แต่มีปันผลก็ถือว่าดีแล้ว

SiamQuant : เสี่ยปู่ไม่ได้เน้นว่าอยากได้ปันผลเยอะๆใช่ไหมครับ?

เสี่ยปู่ : ถ้าบริษัทจะเอาไปลงทุนต่อเพื่อให้กลับมาเป็นกำไรมันก็ดี

SiamQuant : แล้วถ้าพวกเป็นหนี้สินหล่ะครับ อย่างเช่นช่วงนี้มีปัญหา ในตลาดมี หลายๆบริษัทที่มีปัญหาหนี้สิน เราจะมีการดูเกี่ยวกับหนี้สินของแต่ละบริษัทยังไงบ้างครับ?

เสี่ยปู่ : คือถ้าเยอะไปมันก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะ แต่ว่าถ้าเขามีหนี้สินเพื่อการเติบโต เรารับได้ ถ้าบริษัทไม่มีหนี้สินมันก็อาจจะไม่โต ถ้าความสามารถเขาเยอะๆเนี่ย กู้มาแล้วลงทุนต่อ เขาทำได้ดีกว่าดอกเบี้ยอยู่แล้ว เราคิดอย่างงั้น

SiamQuant-exclusive-interview-big-investor-thailand-2

จังหวะและสไตล์การเข้าซื้อหุ้นแบบเสี่ยปู่ (Entry Timing)

SiamQuant : พอเสี่ยปู่ดูแล้วพบว่าหุ้นมี EPS Growth สูงๆแล้วเสี่ยปู่มีวิธีการ เข้าซื้อหุ้นตัวนั้นยังไงหรอครับ?

เสี่ยปู่: เราก็จะซื้อมาตอนจังหวะเเย่ๆ อย่างบางทีตลาดมี Correction แล้วหุ้นมันปรับฐานลงมา ถ้าเป็นหุ้นตัวที่เรามั่นใจเราก็จะซื้อ

SiamQuant : ก็คือจะมีหุ้นไว้ในใจรออยู่แล้ว ถ้าตลาดแย่เราก็ค่อยซื้อใช่มั้ยครับ?

เสี่ยปู่ : ใช่ๆ หุ้นที่เรามีอยู่เนี่ยแหละ ถ้าเกิดตัวไหนลงเยอะๆ

SiamQuant : แล้วอย่างช่วงตลาดลงแรงๆ นอกจาก Earning แล้วยังดูปัจจัยด้านอื่นๆ ของบริษัทเพิ่มเติมอีกมั้ยครับ?

เสี่ยปู่ : ทรัพย์สินเราก็ชอบนะ อย่างบริษัทที่มี สินทรัพย์ที่มีมูลค่าแฝงสูงกว่ามูลค่า ตลาด (Asset Play) มีบริษัทนึงที่เราซื้อไว้ เพราะมันมีที่ดินเยอะ เราดูแล้วที่ดินมันมีมูลค่าสูงกว่าราคาตลาด คือมูลค่าที่ดินมันสูงกว่าราคาตลาดเยอะอะไรอย่างงี้ เพราะเราก็ถือว่าซื้อหุ้นเหมือนกับซื้อที่ดิน เราก็มองอย่างงั้นเลย คือซื้อที่ดินนี่ยิ่งซื้อต่ำยิ่งดี เราก็จะซื้อไว้เรื่อยๆ

SiamQuant : คือถ้าบริษัทมันดีอยู่แล้ว เวลาที่เสี่ยปู่จะซื้อก็คือยิ่งลงก็จะยิ่งซื้อเพิ่ม เรื่อยๆใช่มั้ยครับ?

เสี่ยปู่ : ใช่ๆ ตัวไหนที่เรามั่นใจ ตัวที่มันลงแรงๆ ลงเยอะๆ เราก็อยากจะไปคุยกับ ผู้บริหารว่ามีปัญหาอะไรรึเปล่า

SiamQuant : ในส่วนของวิธีการเข้าซื้อของเสี่ยปู่นี่ มีการแบ่งยังไงหรอครับ มีการดู Bid Offer หรือดูอะไรไหมครับ?

เสี่ยปู่ : ไม่ดูครับ

SiamQuant : แล้วเวลาเข้าซื้อเนี่ย ใช้วิธีการเข้าซื้อยังไงบ้างครับ ซื้อแบบ Order ก้อนเดียวใหญ่ๆ เลยไหมครับ?

เสี่ยปู่ : เราทยอยรับ เราทยอยรับไปเรื่อยๆ ถอยรับอะไรอย่างงี้ ถ้าเขากดลงมา เราก็ถอยรับ ได้ต้นทุนต่ำเราก็จะชอบ เพราะ Technical เราไม่เชี่ยวชาญเลยดูน้อยมาก

SiamQuant : ได้คิดไว้ไหมครับว่าจะต้องซื้อไม่เกินกี่เปอร์เซนต์ของจำนวนหุ้น ทั้งหมด หรือว่ากี่เปอร์เซนต์ของพอร์ตครับ?

เสี่ยปู่ : ส่วนใหญ่ไม่ได้ดูเป็นเปอร์เซ็นต์ ซื้อไปมันเยอะแล้วก็พอ

SiamQuant : มีการพยายามไม่ให้ติดผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทด้วยหรือไม่ครับ?

เสี่ยปู่ : บางบริษัทมันก็เป็นเปอร์เซนต์ที่เยอะเหมือนกัน พวกที่ดินเนี่ยเราจะซื้อเยอะ บางทีสิบกว่าเปอร์เซนต์เข้าไปแล้ว เพราะเวลาเราซื้อหุ้นบริษัท เราจะคิดว่าเรามีที่ดินตามนั้นด้วย สมมติหุ้นมันมีอยู่ 100 ไร่ ถ้าเราถือหุ้นอยู่ 15 เปอร์เซ็นต์ เราก็จะคิดว่าเรามี 15 ไร่ อย่างที่ที่ภูเก็ตติดทะเลสวยจะตาย ที่ดินเค้าสวย แล้วมีบริษัทเก่งๆเค้าเข้ามาร่วม เราก็จะชอบ จากที่มันเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เป็นภูเขาติดทะเลอะไรอย่างเงี้ย ถ้ามีคนจากบริษัท ที่ใหญ่ๆเข้ามาพัฒนาผมว่า มันจะมีโอกาสโต(Upside) อีกมหาศาล เราดูที่ตัวนี้เลยนะ เราก็ชอบที่จะซื้ออย่างนี้ แล้วเราก็ต้องดูว่ามีความปลอดภัยด้วย

SiamQuant : อย่างนี้เสี่ยปู่เคยได้ไปดูถึงที่ดินจริงเลยไหมครับ?

เสี่ยปู่ : เคยไปหนนึง ที่เค้าสวยมาก ติดทะเลสองกิโลกว่า แล้วก็เวลาน้ำลงนะ หาดมันก็ยาวออกไปในทะเลตั้งประมาณครึ่งกิโล สวยมากเลย

SiamQuant-exclusive-interview-big-investor-thailand-3

จังหวะและสไตล์การขายหุ้นแบบเสี่ยปู่ (Exit Timing)

SiamQuant : เสี่ยปู่ซื้อหุ้น แล้วเสี่ยปู่มีวิธีการขายหุ้นยังไงบ้างครับ?

เสี่ยปู่ : ก็จังหวะที่มันขึ้นเร็วๆแล้ว P/E มันสูงอะไรอย่างนี้ ถ้า P/E มันสูงเราก็อาจจะลดไปบ้าง อย่างหุ้นที่เป็นวัฏจักร (Cycle) ถ้ามันขึ้นไปสูงเยอะๆ เราอาจจะขายหมด แต่หุ้นที่มัน P/E สูงธรรมดาแต่ว่าพื้นฐานมันยังโตได้ดีมากเราก็อาจจะขายไปบ้าง เพื่อรอจังหวะที่มันปรับฐานลงมา เราจะได้มีแรงซื้อได้

SiamQuant : ถ้า P/E สูงขึ้นนี้ต้องสูงขึ้นมากขนาดไหนครับ??

เสี่ยปู่ : ไม่รู้ มันบอกไม่ถูกอ่ะ เราเคยซื้อ AJ ตอนนั้นซื้ออยู่ 2 บาทกว่า ถืออยู่ปีกว่ามันไม่ขึ้นเลยแต่พอจังหวะมันขึ้นนะ มันขึ้นไป 40 บาทเลย จังหวะที่เราขายหุ้น ก็เพราะว่ามันขึ้นหกวันติดกันเนี่ยแหละ ที่มันขึ้นวันละ 15 เปอร์เซนต์หกวันซ้อน วันที่เจ็ดเราขาย พอดีไม่อยู่ตลาดด้วย เพราะวันนั้นไป Company visit ที่ PTL เป็นบริษัทที่ทำธุกิจคล้ายๆกันอ่ะ ที่เขาทำธุรกิจฟิล์มคล้ายๆ AJ แล้วผู้บริหาร PTL เขาขายหุ้นเยอะ เราก็ตั้งขายไปตั้งแต่เวลามันบวก เราขายไปประมาณ 38-39 บาท

SiamQuant : แล้วมีแบบที่เสี่ยปู่เข้าไปซื้อแล้วบริษัทมันไม่โตไปตามที่คาดไว้เสี่ยปู่จะแก้เกมอย่างไรครับ?

เสี่ยปู่ : ถ้าบริษัทไม่โต เราก็ต้องขายทิ้ง

SiamQuant : ต้องยอมตัดขาดทุนไปเลยหรอครับ??

เสี่ยปู่ : ก็ขาดทุนได้ถ้าเราดูพลาด

SiamQuant : Stop loss ที่ขาดทุนกี่เปอร์เซ็นต์ หรือ เสี่ยปู่กำหนดเวลาว่าถือมานานเท่าไหร่แล้วธุรกิจไม่เป็นตามคาดค่อยตัดขาดทุนหรือครับ?

เสี่ยปู่ : เราก็ต้องคล้ายๆไปคุยกับผู้บริหารเค้าว่าเป็นเพราะอะไร ถ้ามันเป็นเรื่องชั่วคราวอะไรอย่างนี้ เราก็อาจจะถือ เพราะราคาอาจจะต่ำลงชั่วคราว หรืออาจจะ 2 ไตรมาสไม่ดี ครึ่งปีหลังอาจจะดี อันนั้นพอได้ แต่ถ้ามันผิดคาดไปเลยเนี่ย เราก็จะขาย

SiamQuant : ผิดคาดนี้เคยมีผิดคาดแบบไหนได้บ้างหรอครับ เช่น กำไรไม่โต, โตไม่เข้าเป้า, หรือว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางพื้นฐานอะไรแบบนี้หรอครับ??

เสี่ยปู่ : ก็มี เมื่อก่อนมีเยอะแยะมาก ถ้าเปลี่ยนแปลงในพื้นฐาน เราก็จะขาย

SiamQuant : ที่บอกว่าเปลี่ยนแปลงในพื้นฐานนี้คือเสี่ยปู่ ตัดสินโดยการไปคุยกับผู้บริหารใช่มั้ยครับ?

เสี่ยปู่ : บางทีเราก็ขายเลย รอไปเจอบางทีก็ไม่ไหวเหมือนกัน

SiamQuant : แล้วถ้าเกิดงบออกมาไม่ดี แบบมีอะไรบางอย่างผิดปกติ อันนี้เนี่ย อยากทราบว่า จะใช้ตัวแปรไหนเป็นตัววัดครับ เช่นอาจจะ EPS ลงมาแบบ 1 ปีเทียบปีที่แล้ว อะไรแบบนี้รึเปล่าครับ?

เสี่ยปู่ : ใช่ๆ ก็จากที่ผู้บริหารให้สัมภาษณ์ คาดคะเนว่ามันจะโตแล้วมันไม่โต มันลดลงอะไรอย่างนี้

SiamQuant : แต่ตัวที่พื้นฐานดี ต่อให้ลงมาหนักมากๆ เสี่ยปู่ก็ยังจะกลับไปลงทุนอีกใช่มั้ยครับ ถึงแม้จะขายไปหมดแล้ว?

เสี่ยปู่ : ใช่ๆ เราก็ดูด้วย อย่างหุ้น GL (Group Lease) เนี่ย กองทุนขายกันหมดเลย แต่เราดูว่า Growth เขาน่าจะยังดีอยู่

SiamQuant-exclusive-interview-big-investor-thailand-4

การบริหารจัดการความเสี่ยง (Money & Risk Management)

SiamQuant : แล้วเสี่ยปู่ตั้งกฎไว้ไหมครับว่าจะซื้อหุ้นกี่ตัวในพอร์ตครับ?

เสี่ยปู่ : ก็ตอนนี้ผมรู้สึกว่าถือเยอะเกินไปแล้ว ก็อยากจะลดๆมั่ง

SiamQuant : ประมาณกี่ตัวหรอครับที่เรียกว่าเยอะแล้ว?

เสี่ยปู่ : ซัก 20 ตัว อยากจะลดมั่ง ถ้าไม่เกิน 10 ตัวได้ก็ดีจะได้โฟกัส

SiamQuant : อย่างนี้ส่วนใหญ่เวลาลงทุนมีถือเงินสดไว้ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ครับ?

เสี่ยปู่ : เงินสดเนี่ยบางทีก็ไม่ถือ ส่วนใหญ่จะถือน้อย ส่วนใหญ่เวลาถือเงินสดมันน่าจะไม่ 10 ก็ 20 เปอร์เซนต์ ในอนาคตพยายามจะถือเงินสดให้เยอะขึ้น เพราะว่าตลาดหุ้นเนี่ย เวลาตลาดมันมีการตกใจขายหุ้น (Panic Sell) แล้วเราจะเลือกซื้อหุ้นตัวที่น่าสนใจ เราจะได้ซื้อได้เยอะ เช่น AOT รอบที่แล้วที่เขา การแตกหุ้น (Stock Split) มันอยู่แถว 43 ลงมาก็ 39 ณ วันนี้มันก็ 53 54 ขึ้นเร็วมาก 30 เปอร์เซ็นต์ หุ้นตัวนี้เวลาจังหวะที่ลงมันน่าซื้อทุกครั้ง

SiamQuant : AOT นี้ก็เป็นหุ้นที่ P/E ค่อนข้างสูง เสี่ยปู่เลยไม่มีปัญหาในการเข้าซื้อใช่ไหมครับ?

เสี่ยปู่ : เราก็ดูว่าศักยภาพเค้าก็สูง สูงมากด้วย เพราะว่าพื้นฐานมันคือ Location ของประเทศ อย่างที่บัฟเฟตต์บอกว่าเป็นการผูกขาด (Monopoly) ด้วย ช่วงเราซื้อมาแล้วเวลามันขึ้นเราก็ขาย ปรากฏว่าพลาดตลอดเลย ไปซื้อตั้งแต่แถว 30

SiamQuant : แล้วถ้าเกิดเป็นตัวที่มีกำไรโตตลอดแต่ว่าราคาไม่ลงมาเลย เสี่ยปู่ก็จะไม่ยุ่งเลยใช่หรือไม่ครับ?

เสี่ยปู่ : ขึ้นอยู่ว่ามันแพงขนาดไหน แต่อย่างเราที่ผ่านมา Group Lease นี้เราก็พึ่งเคยดู แต่เวลา Correction ลงมาแรงๆเนี่ย 70 บาท เราดูมันอันตราย P/E สูงมาก แต่พอมันลงมา 20 บาท ณ วันนี้เนี่ยมันก็น่าสนใจ

SiamQuant : อย่างนี้เสี่ยปู่มีวิธีจัดการความเสี่ยงสำหรับหุ้นในพอร์ตยังไงบ้างครับ อย่างเช่นจะไม่ซื้อหุ้นเกินกี่ตัวในหมวดธุรกิจ (Sector) นั้นๆ

เสี่ยปู่ : เราก็จะพยายามซื้อหุ้นที่ดีที่สุดของหมวดธุรกิจ (Sector)

SiamQuant : ก็คือเลือกตัวที่ดีที่สุดของแต่ละหมวดธุรกิจ (Sector) ใช่มั้ยครับ แต่จะไม่พยายามไปกระจุกตัวอยู่ในหมวดธุรกิจ (Sector) เดียว?

เสี่ยปู่ : ใช่ๆ มันอันตรายถ้ามีแต่หุ้นในหมวดธุรกิจเดียวกัน

SiamQuant : อย่างกลุ่มนึงนี้ไม่ควรเกินกี่ตัวดีครับ หรือว่าเอาตัวดีที่สุดตัวเดียวก็พอ?

เสี่ยปู่ : อาจจะตัวที่ดีที่สุด แล้วก็ตัวรองลงมา แต่ถ้าราคามันดี P/E ต่ำกว่าบางทีมันก็น่าสนใจ

SiamQuant : คือจะไปดูตัวที่พื้นฐานดีที่สุดในกลุ่มใช่มั้ยครับ?

เสี่ยปู่ : เราก็จะชอบอย่างงั้น

SiamQuant : แล้วมีวิธีบริหารหน้าตักในการลงทุนยังไงบ้างหรอครับ?

เสี่ยปู่ : ผมก็จะพยายามลดพอร์ตลงให้เยอะๆแล้วก็ไปรอจังหวะดีกว่า หมายถึงรอจังหวะที่ตลาดปรับฐานแล้วค่อยซื้อ

SiamQuant : เสี่ยปู่ก็มองว่า P/E ของ SET ตอนนี้ก็ค่อนข้างเยอะไหมครับ?

เสี่ยปู่ : หลายตัวมันก็ค่อนข้างสูง

SiamQuant : เสี่ยปู่ตั้งเป็นเกณฑ์ไหมครับว่าจะไม่ซื้อ หุ้นตัวนี้เกินกี่เปอร์เซ็นของพอร์ต?

เสี่ยปู่ : ความจริงไม่ได้ตั้งนะ ถ้าหุ้นดีมากๆผมก็อยากซื้อเยอะๆ

SiamQuant: แล้วก่อนซื้อนี้มีการวางเป้าหมายมั้ยครับ อย่างสมมติซื้อ AJ ต้องการให้มันขึ้นไปกี่บาทแล้วค่อยขาย?

เสี่ยปู่ : ไม่รู้ อันนี้ไม่รู้เลยนะ แต่เรารู้ว่ารอบที่แล้วมันขึ้นจาก 2 กว่าขึ้นไป 40 รอบนี้เขาเพิ่มกำลังผลิตขึ้นมาอีกเท่าตัว แล้วเขาก็ฉลาดมาก ตอนที่มันบูมๆได้ส่วนต่างเยอะ กำไรมันดีมาก เขาขายเครื่องจักรเก่าไปให้จีนกับอินเดีย ขายไปในราคาแพงด้วย แล้วก็ซื้อเครื่องจักรใหม่ทันทีซึ่ง เครื่องจักรใหม่เนี่ย ประสิทธิภาพ(Efficiency) มันจะดีกว่าเครื่องจักรเก่าประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เนี่ยถ้ามา รอบใหม่เราว่าเค้าก็น่าจะดี

SiamQuant : แปลว่าถ้าหุ้นดีๆลงมาเนี่ย ก็คือถ้าเก็บได้เท่าไหนก็เท่านั้นเลยใช่ไหมครับ ถ้ามันดีดกลับไปก็ไม่ซื้อแล้ว?

เสี่ยปู่ : ก็แล้วแต่ แต่บางที 8 บาท 7 บาท 6 บาท อะไรอย่างเงี้ย เราก็ซื้อตลอด ถ้ามันประกาศออกมากำไรยังดีขึ้นๆ เราก็อาจจะมาซื้อ 13-14 เราก็จะซื้อ แต่เราก็จะมีจำกัดเหมือนกันนะ เช่นถ้ามันขึ้นไปเกิน 20 อะไรแบบนี้ แล้วถ้าเราไม่แน่ใจเราก็ไม่ซื้อแล้ว ก็แค่นั้น

SiamQuant : แล้วเวลาเสี่ยปู่อยากได้หุ้นเนี่ย เคยมีจังหวะที่ซื้อแบบไล่ราคามั้ยครับ แล้วก็เวลาไล่ซื้อหุ้น รับได้ประมาณกี่ช่องจากจุดที่เราคิดว่าจะซื้อครับ สมมติว่ามันน่าจะไล่ Bid ขึ้นไปเยอะ ขึ้นไปซัก 2-3 ช่อง อันนี้ยังสนใจอยู่มั้ยครับ?

เสี่ยปู่ : ถ้าเราคิดว่ามันดีมากๆ ประกาศผลการดำเนินงานดีมากๆแต่ก็อาจจะซื้อทีเดียว ปกติผมก็จะไม่ค่อย ได้ไล่หุ้นอยู่แล้ว ก็ซื้อส่วนใหญ่จะ 2-3 ช่อง แล้วเราก็รอดู

SiamQuant : แล้วการซื้อขายมีการดูโวลุ่มการซื้อขายของตลาดหรือของหุ้น ตัวนั้นเป็นพิเศษมั้ยครับ?

เสี่ยปู่ : ความจริงไม่ได้ดูเลยนะ ที่จริงถ้าเราถือหุ้นที่มีสภาพคล่องดีมันก็จะบริหารพอร์ตโฟลิโอง่ายกว่าเยอะ เพราะถ้ามันไม่มีสภาพคล่องบางทีถ้ามันเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมาก็จะขายยาก แต่เราจะชอบหุ้นที่มีสภาพคล่องเป็นพิเศษ

SiamQuant : สภาพคล่องนี้ก็คือดูจากปริมาณการซื้อขายในตลาดหรอครับ?

เสี่ยปู่ : ดูว่ามีโวลุ่มในการเทรดเยอะขนาดไหน อย่างหุ้น AOT เนี่ยสภาพคล่องเยอะมาก

SiamQuant : ปกติสภาพคล่องหรือโวลุ่มการเทรด มูลค่าการเทรดของหุ้นแต่ละตัว ต้องอยู่ประมาณเท่าไหร่ถึงจะเข้าเงื่อนไขครับ?

เสี่ยปู่ : มันก็ไม่แน่ในแต่ละตัว อย่าง AOT นี้ก็อาจจะเยอะหน่อย แต่ตัวอื่นๆ หลายตัวมันก็อย่าง AJ เราว่าสภาพคล่องมันก็น้อย แต่เราก็หวังว่าผลการดำเนินงานมันจะดีขึ้น

SiamQuant : แล้วเวลาเสี่ยปู่ขายหุ้นนี่คือจะตั้ง offer ทิ้งไว้ หรือว่าจะโยนใส่ Bid ไปเลยเวลาเสี่ยปู่สนใจตัวอื่นแทนแล้วครับ?

เสี่ยปู่ : ก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราอยากจะขายเราก็จะค่อยๆขายมากกว่า

SiamQuant : หมายความว่ามีการขายทั้งโยน Bid และตั้ง Offer ร่วมกันใช่ไหมครับ หรือถ้าวันไหนตลาดดีๆมีโวลุ่มการซื้อขายเยอะๆ ก็จะตั้งเป็น Offer เลยใช่มั้ยครับ?

เสี่ยปู่ : ตลาดบางทีเวลาหุ้นมันขึ้นแรงๆเนี่ย ตลาดนี้มันก็เก็งกำไรบ้าคลั่ง ก็มีเหมือนกันที่ 15% หกวัน แล้ววันที่เจ็ดยังขึ้นไปอีก 15% เนี่ย เราก็ต้องขาย ยังไงก็ต้องขาย

SiamQuant : แปลว่าถ้าราคาหุ้นขึ้นมาเร็วแบบผิดปกติก็ขายด้วยใช่ไหมครับ?

เสี่ยปู่ : ใช่ มันขึ้นเร็วมากๆ บางคนเขาถามว่าดูยังไงเวลาจะขายหุ้น เราก็ไม่รู้ แต่เวลามันขึ้นแรงจนแบบคิดว่ายังไงก็ต้องขาย เราก็จะขายอะไรแบบนี้ เพราะว่ามันขึ้นมาเยอะมาก แต่หุ้นที่เป็นวัฏจักร (Cycle) เราก็ระวังอยู่แล้วเวลามันขึ้นเยอะๆเนี่ย เวลามันลงห้ามรับเด็ดขาด เพราะเราไม่รู้ว่าจบวัฏจักร (Cycle) รึยัง

SiamQuant : หุ้นที่เป็นวัฏจักร (Cycle) ที่ว่านี้ เป็นหุ้นประเภทกลุ่มไหนบ้างหรอครับ?

เสี่ยปู่ : อย่าง AJ นี้ก็ถือว่าเป็นวัฏจักร(Cycle) Film ขวด PET หรือ Commodity

SiamQuant : มีกลุ่มอุตสาหกรรมไหนที่ชอบเป็นพิเศษบ้างไหทครับ ที่แบบเป็นหุ้นวัฏจักร (Cycle) แล้วลงทุนบ่อยๆ?

เสี่ยปู่ : หุ้นที่เป็นวัฏจักร(Cycle) ส่วนใหญ่ผมก็ไม่ค่อยได้ลงทุนเท่าไหร่ ก็มี AJ เนี่ยที่ชอบ นอกจากนี้ IVL ก็ไม่เลว

SiamQuant : คือชอบแบบให้บริษัทมันเติบโตไปเรื่อยๆมากกว่าใช่ไหมครับ?

เสี่ยปู่ : เราจะชอบหุ้นที่มันถาวรมากกว่า ที่เขาเก่งกว่าคู่แข่ง

SiamQuant : แล้วมีกลุ่มไหนไหมครับ ที่เสี่ยปู่ไม่ชำนาญ หรือว่าไม่สนใจที่จะลงทุนเลย?

เสี่ยปู่ : หุ้นกลุ่มธนาคาร หรือกลุ่มน้ำมัน เราก็ไม่ค่อยเล่น เพราะมันคาดคะเนยาก อย่าง PTT ที่คนส่วนใหญ่ชอบเล่น หรือกลุ่มธนาคารที่พวกสถาบันชอบ เราก็ไม่ค่อยเล่น เพราะถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารจะโดนผลกระทบก่อนหุ้นในกลุ่มอื่นๆ

SiamQuant : แล้วช่วงแบบวิกฤตเศรษฐกิจ เสี่ยปู่มีวิธีการเอาตัวรอดมาได้ยังไง บ้างครับ?

เสี่ยปู่ :ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเราก็ลดพอร์ตนะ ซึ่งวิกฤติส่วนใหญ่จะสะท้อนมาในหุ้นก่อนแล้วหละ

SiamQuant : แปลว่าบางทีเราออกก่อนที่มันจะเกิดวิกฤตซะอีกใช่ไหมครับ?

เสี่ยปู่ : อืมใช่ สังเกตง่ายๆ เช่น กำไรของบริษัทมันลดลงอะไรอย่างนี้ สภาพตลาดตอนนี้ หรือค่าเงินเราแข็งมาก กลุ่มส่งออกแย่หมด แล้วดอกเบี้ยเราต่ำบางทีก็ต้องระวัง ถ้าในอนาคตดอกเบี้ยมันสูง มันจะมากระทบกับหุ้นแน่ ก็ต้องเผื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดไว้

SiamQuant : แล้วเสี่ยปู่ได้ดูเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น ค่าเงิน หรือดอกเบี้ยแบบนี้บ้างไหมครับ?

เสี่ยปู่ : จริงๆแล้วไม่ค่อยได้ดูเท่าไหร่ ผมดูเป็นเรื่องรองเลยนะ ผมเน้นดูหุ้นเป็นรายตัวมากกว่า ว่าหุ้นเรายังดีอยู่รึเปล่า ถ้าหุ้นเรายังดีอยู่ก็ถือต่อ

SiamQuant : สมมติถ้าเรามีหุ้นที่เราชอบอยู่แล้ว แล้วถ้าอยากหาหุ้นใหม่ๆจะไปหาจากไหน หรือเริ่มหายังไงบ้างครับ?

เสี่ยปู่ : เราก็ต้องศึกษาจากงบการเงินของบริษัท แต่บางทีมันเป็นหุ้นเข้าใหม่ เราก็จะเข้าไปดูประวัติการทำกำไรบริษัท โดยถ้าบริษัทสามารถทำกำไรได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง หรือดูประวัติผู้บริหารว่าเป็นยังไง นอกจากนี้เราก็จะศึกษาดูคู่แข่งของบริษัทอีกด้วย

SiamQuant : เสี่ยปู่เคยซื้อหุ้นเยอะเกินไปจนรู้สึกไม่ดีไหมครับ?

เสี่ยปู่ : อื้ม บางทีถ้าถือหุ้นเยอะเกินไปมันก็บริหารพอร์ตโฟลิโอยากนะ โดยเฉพาะในยามที่ตลาดมันผันผวนมากๆเนี่ย มันก็ยากนะ ผมก็ต้องระวัง

SiamQuant : แล้วเคยถือแบบมากสุดนี้ 1ตัวเกินครึ่งพอร์ตไหมครับ

เสี่ยปู่ : ไม่มี เยอะเกินไป

SiamQuant : แล้วถ้าอย่างเวลาถ้าเวลารู้สึกว่าเสี่ยง จะเข้าไปแบบน้อยๆก่อนไช่ไหมไหมครับ?

เสี่ยปู่ : เราก็ค่อยๆทยอย ก็จะไม่ซื้อเยอะ

SiamQuant : ปกติเสี่ยปู่เข้าซื้อครั้งนึงนี่จะซื้อซักประมาณเท่าไหร่ครับ เมื่อเทียบกับขนาดไหนของพอร์ต เอาแบบถ้าเกิดเสี่ยงๆหน่อย จะเข้าซื้อหุ้นไม่เกินสัดส่วนเท่าไหร่ของพอร์ตหรอครับ?

เสี่ยปู่ : ประมาณ 2-3 เปอร์เซ็น แล้วค่อยๆทยอยรับ ก็คือหุ้นตัวนี้เรามีต้นทุนถูกมากๆเนี่ย บางครั้งราคามันลงมาที่เราขายไปแล้ว และเราขายไปแล้วบางส่วน พอราคาย่อลงมานิดหน่อยเราอาจจะพิจารณาดูว่าแพง แต่ในบางกรณีเราก็ซื้อเพราะว่าหุ้นมันเติบโตดีมาตลอด ทำให้เวลาหุ้นมันปรับฐานเราก็ซื้อทำให้ต้นทุนเฉลี่ยเราสูงขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็ยังรับได้เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยโดยรวมแล้วยังต่ำอยู่

SiamQuant : สุดท้ายนี้เสี่ยปู่มีอะไรอยากฝากถึงนักลงทุนรุ่นใหม่ หรือน้องๆที่สนใจ ด้านการลงทุนบ้างครับ

เสี่ยปู่ : ต้องระวังหุ้นที่มันมีกำไรผันผวน บางที ต้องดูประวัติการทำกำไรของบริษัท เช่น เขาทำไม่ดีมาตลอดเลย บางทีมันอาจจะดีโผล่มาไตรมาสนึงหรือสองไตรมาสก็ต้องระวัง เวลามาประกาศว่ากำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำ (Turnaround) แต่มันไม่ฟื้นจริง บริษัทอย่างงี้มีเยอะเลย เราต้องดูว่าบางทีมันเป็นการสร้างกำไรขึ้นมาช่วงสั้นๆ แล้วก็ขายหุ้นเมื่อหุ้นขึ้นมาเยอะๆแล้วขายออกไปหรือปล่าว บางบริษัทเนี่ยมันเป็นแบบนี้ เลย ขึ้นอย่างงี้ แล้วก็ลงอย่างงี้ แล้วก็ขึ้นใหม่อย่างนี้ หากินกับคลื่น บางทีบางบริษัทก็ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrant) หรือหุ้นลูกมาเยอะๆแล้วบอกกำไรดีมาก Turnaround อะไรแบบนี้ ได้หุ้นไปเยอะๆ สังเกตุสิ warrant ทั้งนั้น บริษัทไม่ดีมันจะเป็นแบบนี้ ซึ่งจริงๆบริษัทที่ดีควรจะสามารถสร้างกำไรได้อย่างยั่งยืน แต่ว่าก็มีหลายบริษัทเป็นอย่างนี้ที่เราเห็น ฉะนั้นการเลือกหุ้นเราต้องระวังด้วย

SiamQuant : ขอกราบขอบพระคุณเสี่ยปู่มากครับ พี่ให้โอกาสพวกเราได้สัมภาษณ์ในวันนี้

และนี่ก็คือบทสัมภาษณ์ของเสี่ยปู่ สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล ซึ่งถือได้ว่าเป็น Role Model นักลงทุนต้นแบบสาย Value Investing คนหนึ่งในประเทศไทย ณ ขณะนี้ ในบทความหน้า เราจะมาเปิดเผยให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบการลงทุนที่เราได้สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการสัมภาษณ์เสี่ยปูกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนทุกๆท่านครับ

SiamQuant’s Gurus Project ถอดรหัสกลยุทธ์เซียนหุ้นพันล้าน!

บทความนี้คือส่วนหนึ่งของโปรเจคฝึกงานของน้องๆนักศึกษารุ่นปี 2017 ที่เข้ามาฝึกงานกับทาง SiamQuant เราต้องขอขอบคุณกูรูและเซียนหุ้นทุกๆท่าน ที่ได้ให้โอกาสน้องๆนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้แนวคิดการลงทุนแบบเจาะลึกเพื่อซักถามถึงข้อสงสัยต่างๆ และยังเปิดโอกาสให้นำความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ต่อให้กับนักลงทุนไทยโดยทั่วกันอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นคุณูปการต่อแวดวงการลงทุนไทยเป็นอย่างสูง ทาง SiamQuant ต้องขอขอบคุณและยกย่องด้วยความนับถืออีกครั้งหนึ่งครับ

ด้วยความคาราวะอย่างสูง

ทีมงาน SiamQuant

SiamQuant-exclusive-interview-big-investor-thailand-5

Write A Comment