องค์ความรู้จากการลงทุนอย่างเป็นระบบ

เจาะแก่นแนวคิด Entry-Exit ของระบบ Turtle Trading System

Thanadon Praphutikul

Turtle Trader คือกลุ่มนักเก็งกำไรที่เคยโด่งดังจนกลายเป็นตำนานของตลาด Commodities ในช่วงยุค 1970 โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกและเผยแพร่แนวคิดในการลงทุนตามแนวโน้มอย่างเป็นระบบ (Systematic Trend Following) ด้วยการเข้าซื้อขายเมื่อราคาทะลุแนวรับและแนวต้านของราคา (Breakout) จนกลายเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเราได้ทำการศึกษาแนวคิดของพวกเขาจากเอกสาร The Original Turtle Trading Rules เพิ่มเติมนั้น เราจะพบว่าแนวคิดในเรื่อง Entry-Exit Rules ของพวกเขายังได้แฝงรายละเอียดที่น่าสนใจเอาไว้อยู่หลายประเด็น ซึ่งในบทวิจัยชิ้นนี้เราจะนำเอา Entry-Exit ของพวกเขามาทดสอบกับตลาดหุ้นไทยกัน ซึ่งผลการทดสอบและปรับปรุงระบบ Turtle Trading System ในตลาดหุ้นไทยของเราจะเป็นอย่างไรนั้น ขอเชิญทุกคนไปติดตามกันเลยดีกว่าครับ!

หมายเหตุที่ 1 : เอกสาร The Original Turtle Trading Rules นั้นสามารถคลิกดูได้จากลิ้งค์ Original Turtle Rules

Entry-Exit ความพิเศษของระบบ Turtle Trading System!

ระบบการลงทุน Turtle Trading System นั้น มีความพิเศษที่น่าสนใจอยู่หลายประการโดยเฉพาะในส่วนของ Entry และ Exit ซึ่งจะทำงานในรูปแบบ Multiple Entry-Exit Rules คือ ประกอบไปด้วยการทำงานของระบบ 2 ระบบที่ทำงานร่วมกัน (System One และ System Two) โดยแต่ละระบบนั้นมีกลไกการทำงานที่แตกต่างกันแต่ทำงานร่วมกัน ซึ่งก็คือ

  1. System One : ทำหน้าที่เป็นตัวกรองสัญญาณการเบรคเอาท์ครั้งก่อนหน้า (False Breakout Filter)
  2. System Two : ทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันการตกรถ (Fail-Safe Entry)

โดยเนื้อหาในส่วนถัดไปนั้น เราจะทำการเจาะลึกเข้าไปดูแนวคิดที่มาที่ไปและการทำงานของเงื่อนไขการเข้าซื้อขายของทั้งสองระบบนี้กันครับ

System One กับการ Filter ตรวจสอบสัญญาณครั้งก่อนหน้า

System One ของ Turtle System นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานการ Breakout กรอบราคาในช่วง 20 วัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากการ Breakout ในกรอบ 20 วันถือว่าเป็นช่วง Parameter ที่ค่อนข้างสั้น โดยถ้าหากเราซื้อขายตามทุกสัญญาณนั้น เราจะพบว่าระบบถูกสัญญาณหลอกบ่อยมาก (False Breakout) ดังนั้นเพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ Richard Dennis ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Turtle จึงกำหนดกฏเกณฑ์เพิ่มเติมไว้ว่าเราต้องย้อนกลับไปดูผลลัพธ์ของสัญญาณซื้อ-ขายของครั้งก่อนหน้าด้วยว่ามีผลการเทรดเป็นกำไรหรือขาดทุน

โดยเราจะสนใจเฉพาะผลจากสัญญาณครั้งก่อนหน้าที่มีผลลัพธ์เป็นขาดทุนเท่านั้น!! ซึ่งถ้าถามว่าทำไมเราถึงสนใจเฉพาะสัญญาณครั้งก่อนหน้าที่ขาดทุนนั้น เหตุผลง่ายๆคือ หากสัญญาณครั้งก่อนหน้าเป็นกำไร มันมักหมายความว่าราคาได้เริ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงแล้ว ทำให้เรามีโอกาสที่จะซื้อของแพงและติดดอยได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

หมายเหตุที่ 2 : การดูผลจากสัญญาณครั้งก่อนหน้านั้น Richard Dennis ดูสัญญาณที่เกิดขึ้นล่าสุด ไม่ว่าสัญญาณนั้นจะมีการเทรดจริงหรือไม่ได้เทรดก็ตาม

การป้องกันการพลาดแนวโน้มใหญ่ด้วย Fail-Safe Entry ของ System Two

แม้ว่าการคัดกรองหุ้นที่วิ่งขึ้นไปแล้วจะเป็นไอเดียที่ดูเข้าท่า อย่างไรก็ตาม หากผลลัพธ์จากสัญญาณครั้งก่อนหน้าเป็นกำไรแล้วราคายังคงขึ้นต่อไปอีก ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าช่วงนั้นหุ้นกำลังมีแนวโน้มเกิดขึ้นจริงๆ และการที่เราไม่ซื้อของที่ดูแพงนั้นทำให้เราอาจจะพลาดแนวโน้มระยะกลางและยาวได้ ดังนั้น Richard Dennis จึงสร้าง System Two ขึ้นมาเพื่อป้องกันการ “ตกรถ” หรือเป็นระบบสัญญาณที่เรียกว่า Fail Safe Entry นั่นเองครับ

ดังนั้นหากเราพลาดสัญญาณจากระบบแรกไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ราคาสามารถ Breakout กรอบระยะยาวหรือ 55 วันได้ เราจะทำการเข้าซื้อหุ้นตัวนั้นโดยทันที โดยไม่คำนึงถึงผลการเทรดของสัญญาณก่อนหน้าไม่ว่าจะในกรณีใดๆทั้งสิ้นครับ

ประโยชน์อีกประการของ System Two คือ หากไม่มีระบบนี้แล้วมีเฉพาะตัวกรองสัญญาณ False Breakout Filter ของ System One เพียงอย่างเดียวนั้น ในกรณีที่สัญญาณครั้งก่อนหน้าเป็นกำไร จะทำให้ระบบ System One ไม่มีสัญญาณการซื้อขายจากหุ้นตัวนั้นอีกเลย! เพื่อแก้ไขจุดอ่อนนี้ Richard Dennis จึงกำหนดให้การที่ราคา Breakdown ทะลุกรอบล่างของ System Two เป็นจุด Reset ค่ากำไรขาดทุนจากสัญญาณครั้งก่อนหน้าของ System One ไปด้วย ดังนั้น System Two จึงไม่ใช่แค่เพียงเป็นตัว Fail-Safe Entry แต่ยังเป็นระบบที่ช่วยปิดข้อบกพร้องจาก False Breakout Filter ของ System One อีกด้วย

สรุปเงื่อนไขการ Entry เข้าซื้อด้วยระบบ Turtle Trading System

  1. หากมีสัญญาณการ Breakout กรอบ 20 วัน พร้อมกับมีการตรวจสอบแล้วว่าผลจากสัญญาณซื้อ-ขายครั้งก่อนหน้านั้นขาดทุน ระบบจะทำการเข้าซื้อหุ้น
  2. หากระบบพลาดสัญญาณจากการ Breakout กรอบ 20 จาก System One แล้วราคายังพุ่งขึ้นต่อเนื่องและมีการ Breakout กรอบ 55 วันได้ ระบบจะทำการเข้าซื้อหุ้นทันทีไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น

เงื่อนไขในการ Exit ขายหุ้นของระบบ Turtle Trading System

เนื่องจากเรามีสัญญาณ Entry ทั้งจาก System One และ System Two ดังนั้น สำหรับเงื่อนไขการขาย Richard Dennis จึงกำหนดให้มีเงื่อนไขในการขายสำหรับแต่ละระบบแตกต่างกันดังนี้ครับ

  1. ในกรณีที่ระบบซื้อด้วยสัญญาณจาก System One หรือ Breakout 20 วัน ระบบจะทำการขายหุ้นออกเมื่อราคาหลุดกรอบล่างในระยะ 10 วัน
  2. ในกรณีที่ระบบซื้อด้วยสัญญาณจาก System Two หรือ Breakout 55 วัน ระบบจะทำการขายหุ้นออกเมื่อราคาหลุดกรอบล่างในระยะ 20 วัน

แน่นอนว่าหลายๆคนอาจสับสน เอ๊ะ! ถ้ามีระบบการลงทุนสองระบบที่ทำงานอยู่ด้วยกันแบบนี้เวลานำไปใช้จริงจะมีหน้าตาจะเป็นอย่างไร ในส่วนต่อไปเราจะมาดูภาพตัวอย่างการเทรดตามสัญญาณจากระบบ Turtle Trading System กันครับ

ภาพที่ 1 : ภาพตัวอย่างสัญญาณซื้อ-ขายตามระบบ Turtle Trading System

จากภาพขอให้เพื่อนๆไล่ดูมาจากทางด้านซ้ายก่อน โดยจะสังเกตเห็นได้ว่าสัญญาณการ Entry เข้าซื้อครั้งแรกเมื่อราคาทะลุเส้นประสีดำนั้นมีผลคือ ขาดทุน! ทำให้ระบบ Turtle ยังคงใช้สัญญาณซื้อขายจาก System One อยู่

อย่างไรก็ตาม สัญญาณซื้อที่เกิดขึ้นครั้งถัดนั้นปรากฏว่าผลของการเทรดเป็นกำไร! เป็นเหตุทำให้ระบบ Turtle ได้เปลี่ยนจากการใช้สัญญาณจาก System One มาเป็นใช้สัญญาณจาก System Two คือ ใช้สัญญาณการเข้าซื้อจากการ Breakout กรอบ 55 วันซึ่งก็คือเส้นประสีดำเข้ม และจะขายเมื่อราคาหลุดกรอบล่าง 20 วัน ซึ่งก็คือเส้นประสีแดงเข้มนั่นเองครับ

หมายเหตุที่ 3 : การจำลองสัญญาณการเทรดครั้งก่อนหน้า เราใช้ราคาปิดของวันที่เกิดสัญญาณสำหรับคำนวณผลลัพธ์ของสัญญาณว่าเป็นกำไรหรือขาดทุน

หมายเหตุที่ 4 : ในกรณีที่การจำลองสัญญาณครั้งก่อนหน้ามีผลลัพธ์เป็นการเท่าทุนหรือผลกำไรเป็น 0 นั้น เราจะนับว่าเป็นการขาดทุน เนื่องจากหากสัญญาณนั้นมีการเทรดจริงจะต้องเสียค่าคอมมิสชั่นในการเทรด

โดยในส่วนถัดไปเราจะมาทดสอบระบบกับตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะทำการทดสอบทั้งระบบ Turtle System (ซึ่งประกอบไปด้วยสัญญาณจาก 2 ระบบ) และระบบ Breakout ธรรมดาๆที่ใช้ค่าพารามิเตอร์ในการ Entry-Exit เดียวกับ System One เพื่อดูความแตกต่างกันของทั้งสองระบบนี้ โดยก่อนที่จะทำการทดสอบระบบนั้นเราจะทำการกำหนดเงื่อนไขต่างๆสำหรับการทดสอบซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

Condition Details
Backtesting Window
  • 01/01/2007 – 31/12/2016
Backtesting Restriction
  • เงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
  • อัตราค่า Commission 0.15% (รวมซื้อขาย 0.3%)
  • Slippage  1% ทั้งการซื้อและขาย
  • Long Only
Universe
  • All Stocks หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์
Filters
  • มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยใน 1 ปีมากกว่า 1 ล้านบาท/วัน
  • กรองข้อมูลที่มีความผิดพลาดออกด้วย SQDataFilter(0)
Position Size
  • ถือหุ้นมากที่สุด 20 ตัวในพอร์ตโฟลิโอ ขนาดการลงทุนต่อตัวคือ 5% ของมูลค่าพอร์ตโฟลิโอ
Position Score
  • อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในรอบหนึ่งเดือน
Order Management
  • ทำการซื้อขายราคาเปิด (Open) ของวันถัดไปของวันที่เกิดสัญญาณ)

 

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขต่างๆสำหรับการทดสอบระบบ Turtle Trading System กับระบบ Breakout ธรรมดา

ผลการทดสอบเปรียบเทียบระบบ Turtle Trading System กับตลาดหุ้นไทย

ภาพที่ 2 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอระบบ Turtle Trading System (เส้นสีเขียว), ระบบ Breakout (เส้นสีฟ้า) และดัชนี SET Index (เส้นสีดำ)

Portfolio Metrics Turtle Trading System Breakout SET Index
Net Profit 86.08% -12.67% 134.04%
CAGR 6.41% -1.35% 9.17%
MaxDD -58.3% -67.93% -58.02%
Longest DD (Month) 51.75 32.55 44.15
CAR/MDD 0.11 -0.02 0.15
Trade Metrics Turtle Trading System Breakout SET Index
No. of All Trade 1,392 2,008
Avg. Bar Held 33.85 23.99
% Win 30.03% 29.83%
Avg. Profit/Loss % 1.91% 0.34%
Max Consecutive Loss 35 43

 

ตารางที่ 2 : ตารางแสดงค่าสถิติของระบบ Turtle Trading System, ระบบ Breakout และดัชนี SET Index

โดยผลลัพธ์การทดสอในช่วงระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 2007 – 2017 พบว่าระบบ Turtle Trading System นั้นแพ้ตลาดหรือ SET Index ค่อนข้างมาก แต่หากเราลองเปรียบเทียบมันกับระบบ Breakout ธรรมดาๆที่ Parameter เดียวกันนั้น เราจะพบว่าระบบ Turtle ให้ผลตอบเฉลี่ยต่อปีหรือค่า CAGR สูงกว่าระบบ Breakout ซึ่งมีค่า CAGR ติดลบ -1.35%  ทั้งที่เราใช้ค่า Parameter เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่าการที่ระบบ Turtle มีเงื่อนไขเช็คสัญญาณก่อนหน้าและ Fail Safe Entry นั้นเป็นเงื่อนไขที่คอยช่วยเสริมระบบอยู่นั่นเองครับ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดหุ้นไทยนั้นอาจมีพฤติกรรมซึ่งแตกต่างจากตลาด Commodities ในยุค 1970 อยู่พอสมควร ในส่วนต่อไปนั้นเราจึงจะทดลองปรับปรุงระบบด้วยการเปลี่ยนแปลง Parameter บางอย่างของระบบ Turtle ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของตลาดหุ้นไทยให้มากขึ้น เพื่อดูว่าระบบการลงทุนชนิดนี้จะสามารถพัฒนาได้หรือไม่กันครับ

แนวทางการปรับปรุงสัญญาณ Entry-Exit จากระบบ Turtle Trading System กับตลาดหุ้นไทย

จากการทดสอบก่อนหน้านั้นจะพบว่าจริงๆแล้วสัญญาณ Entry-Exit ของระบบ Turtle ให้ผลลัพธ์ที่มีความแตกต่างกันกับระบบ Breakout ธรรมดาอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงตั้งสมมติฐานในเบื้องต้นว่าจริงๆแล้วตัว Entry Algorithm หรือเงื่อนไขของมันนั้นอาจไม่ได้ไร้ประสิทธิภาพไปเสียทีเดียว ดังนั้นในการปรับปรุงครั้งนี้เราจึงไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเข้าซื้อขายของระบบแต่อย่างใด แต่จะทำการปรับ Parameter ของ Entry-Exit ให้ยาวขึ้นเพื่อให้จับกับแนวโน้มที่ใหญขึ้นของตลาดหุ้นไทยนั่นเองครับ โดยมีการปรับพารามิเตอร์ ดังนี้

System One : ใช้สัญญาณจากการ Breakout กรอบระยะเวลา 120 วัน เป็นสัญญาณซื้อ และใช้สัญญาณการ Breakout กรอบล่างระยะเวลา 20 วันเป็นสัญญาณในการขาย

หมายเหตุที่ 5 : กรอบระยะ 120 วัน มาจากการเบรคเอาท์ในรอบครึ่งปี ส่วน Parameter ของสัญญาณขายได้นำมาจาก System Two ฉบับดั้งเดิม

System Two : ใช้สัญญาณจากการ Breakout กรอบระยะเวลา 240 วัน เป็นสัญญาณซื้อ และใช้สัญญาณการ Breakout กรอบล่างระยะเวลา 40 วันเป็นสัญญาณในการขาย

หมายเหตุที่ 6 : กรอบระยะ 240 วันและ 40 วันมาจากการนำกรอบของ System One มาคูณสอง เนื่องจากการขยับพารามิเตอร์ของระบบ Turtle ดั้งเดิมนั้นมีความแตกต่างระหว่าง System One กับ System Two ประมาณ 2 เท่า

โดยการทดสอบนี้จะทำการทดสอบกับระบบ Modified Breakout ธรรมดาๆที่ใช้สัญญาณจาก System One ของ Modified Turtle เพียงอย่างเดียวเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างหลังปรับปรุงด้วย โดยภาพด้านล่างคือตัวอย่าง Trade Sample ของระบบ Modified Turtle Trading System ฉบับปรับปรุงโดย SiamQuant

ภาพที่ 3 : ภาพแสดงตัวอย่างสัญญาณการซื้อขายของระบบ Modified Turtle Trading System ฉบับปรับปรุง (ภาพด้านบน) เทียบกับระบบ Modified Breakout ซึ่งใช้ Parameter เดียวกับ System One ของ Modified Turtle (ภาพด้านล่าง)

จากภาพจะเห็นได้ว่า ระบบ Modified Turtle ฉบับปรับปรุงกับระบบ Breakout ธรรมดานั้นมีจังหวะในการเข้าซื้อที่ต่างกัน อย่างไรก็ตามจะสังเกตได้ว่าระบบ Modified Turtle นั้น จะสามารถจับกับแนวโน้มระยายาวของราคาหุ้นได้ดีขึ้น และโดนสัญญาณหลอกน้อยกว่าระบบ Modified Breakout ธรรมดาโดยผลการทดสอบของระบบทั้งสองมีดังนี้

ผลการทดสอบสัญญาณของระบบ Modified Turtle Trading System ฉบับปรับปรุงสำหรับตลาดหุ้นไทย

ภาพที่ 4 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอระบบ Turtle Trading System (เส้นสีเขียว), ระบบ Modified Turtle Trading System ฉบับปรับปรุง (เส้นสีฟ้า), ระบบ Modified Breakout (เส้นสีแดง) และกับดัชนี SET Index (เส้นสีดำ)

Portfolio Metrics Original Turtle Trading System Modified Turtle Trading System Modified Breakout SET Index
Net Profit 86.08% 909.07% 394.42% 134.04%
CAGR 6.41% 26.01% 17.34% 9.17%
MaxDD -58.3% -36.43% -44.89% -58.02%
Longest DD (Month) 51.75 22.35 22.3 44.15
CAR/MDD 0.11 0.71 0.39 0.15
Trade Metrics Original Turtle Trading System Modified Turtle Trading System Modified Breakout SET Index
No. of All Trade 1,392 647 945
Avg. Bar Held 33.85 65.28 45.03
% Win 30.03% 43.12% 37.46%
Avg. Profit/Loss % 1.91% 9.46% 4.92%
Max Consecutive Loss 35 19 19

 

ตารางที่ 3 : ตารางแสดงค่าสถิติของระบบระบบ  Original Turtle Trading System, ระบบ  Modified Turtle Trading System ฉบับปรับปรุง, ระบบ Modified Breakout และดัชนี  SET Index 

จากผลการทดสอบพบว่า การปรับปรุงระบบโดยใช้ค่าพารามิเตอร์ที่ยาวขึ้นนั้นทำให้ระบบ Modified Turtle และ Modified Breakout สามารถจับกับแนวโน้วขนาดใหญ่ของหุ้นในตลาดหุ้นไทยขึ้นได้ดีขึ้น โดยสะท้อนออกมาผ่านผลกำไรทบต้น CAGR ที่มากขึ้น นอกจากนี้แล้ว เรายังพบว่าระบบ Modified Turtle ซึ่งมีเงื่อนไขตัวกรองสัญญาณครั้งก่อนหน้าและมี Fail Safe Entry นั้น ได้ช่วยให้คุณภาพของสัญญาณการเทรดดีขึ้นพร้อมช่วยลดสัญญาณ Whipsaw ที่เกิดขึ้นของระบบได้อีกด้วย โดยสามารถสังเกตได้จากจำนวนครั้งในการเทรดที่ลดลง แต่กำไรเฉลี่ยต่อไม้ที่สูงขึ้นของระบบ Modified Turtle นั่นเอง

สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยสัญญาณ Entry-Exit ของระบบการลงทุน Turtle Trading System กับตลาดหุ้นไทย

จากการทดสอบในเบื้องต้นนั้น เราจะพบว่าแนวคิดแบบ Multiple Entry-Exit Rule จากระบบ Turtle Trading System นั้นให้ผลลัพท์ที่ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว โดยถึงแม้ว่ามันอาจไม่ช่วยให้เราสามารถชนะตลาดด้วย Original Parameter ดั้งเดิมของมัน แต่หลังจากที่เราได้ทำการปรับ Parameter ให้ระบบกลายเป็นระบบแบบ Long-Term Trend Following แทนนั้น เราจะพบว่ามันให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก โดยระบบ Modified Turtle Trading System ยังคงสามารถให้ผลตอบแทนที่เอาชนะทั้งระบบ Original Turtle, Modified Breakout และ SET Index ได้เป็นอย่างดี 

ดังนั้นแล้ว แนวคิดของการใช้สัญญาณแบบ Multiple Multiple Entry-Exit Signal, False Breakout Filter และ Fail-Safe Entry จึงถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อยจากระบบ Turtle Trading System ซึ่งน่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนหลายๆคนที่กำลังหาแนวทางพัฒนาระบบการลงทุนของตนเองต่อไปนั่นเอง หวังว่าจะได้ประโยชน์กันไม่มากก็น้อยสำหรับบทวิจัยชิ้นนี้ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ!

หมายเหตุที่ 7 : ชุดโค้ดการลงทุนระบบ SQ Turtle Trading System นี้จะถูกรวมอยู่ใน SiamQuant V 3.0 : The Alphas Suite Full Version สำหรับสมาชิก Pro-Member ทุกท่านครับ

Write A Comment