ระบบการลงทุน

ระบบการลงทุนแบบ Hybrid Investing จากแนวคิดของ “เสี่ยป๋อง” วัชระ แก้วสว่าง

Thanadon Praphutikul

หลังจากที่ทาง SiamQuant ได้มีโอกาสนำน้องๆนักศึกษาฝึกงานเข้าพบกับ “เสี่ยป๋อง” เพื่อทำการสัมภาษณ์ในสไตล์ของ Quantitative & Systematic Trader ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ในบทความนี้ทีมงาน SiamQuant ได้ขออนุญาตเสี่ยป๋องทำการถอดแนวคิดในการลงทุนให้กลายมาเป็นระบบการลงทุนที่ชัดเจนขึ้น เพื่อทำการวิจัยถึงผลลัพธ์และข้อสังเกตุที่น่าสนใจ เพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้กับนักลงทุนไทยทุกๆคนครับ

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวทางการลงทุนของเสี่ยป๋อง และประเด็นในการวิจัยของ SiamQuant

“เสี่ยป๋อง” หรือคุณวัชระ แก้วสว่าง ถือได้ว่าเป็น Idol ต้นแบบนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยทุกคนรู้จักกันดี เขาได้เคยผ่านภาวะวิกฤตต่างๆอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นลงอย่างหนัก เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 วิกฤตซับไพรม์ 2008 หรือแม้กระทั่งช่วงที่ตลาดหุ้นดีแบบสุดขีด จากมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจหรือ Quantitative Easing (QE) จนสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีมูลค่ากว่าพันล้านบาทด้วยการลงทุนในตลาดหุ้นไทยขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสี่ยป๋องจะเป็นที่รู้จักของนักลงทุนส่วนใหญ่ แต่เขาก็ได้เปรยว่าหลายๆคนยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับตัวเขาอยู่ 2 ประเด็นหลักๆซึ่งก็คือ

1. นักลงทุนโดยทั่วไปมีความเชื่อและมีความเข้าใจว่าเสี่ยป๋องนั้นลงทุนด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคัล ( Technical Analysis ) โดยการดูกราฟและดูสัญญาณทางเทคนิคต่างๆเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก แต่เสี่ยป๋องได้พูดอย่างชัดเจนว่าตนเองเป็นนักลงทุนที่ดูทั้งปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคควบคู่กันไป (Hybrid Investor) โดยสาเหตุที่ต้องดูทั้งสองปัจจัยนั้นเป็นเพราะเราจำเป็นจะต้องซื้อหุ้นที่ดีและต้องซื้อในเวลาที่ถูกต้อง!! เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเสี่ยป๋องสอนว่าถึงแม้จะเป็นหุ้นที่ดีแต่ซื้อผิดจังหวะเราก็ไม่สามารถที่จะทำกำไรจากหุ้นตัวนั้นได้ โดยหุ้นที่ดีนั้นเราสามารถศึกษาได้จากปัจจัยทางพื้นฐานว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ดี มีการเติบโตอย่างแท้จริงหรือไม่ ส่วนปัจจัยทางเทคนิคนั้นจะนำหุ้นที่ถูกคัดเลือกมาอย่างดีด้วยปัจจัยพื้นฐานมาหาจังหวะในการทำการซื้อขาย

2. ความเข้าใจผิดอีกประการหนึ่งคือ คนทั่วไปมักเข้าไปใจว่าพอร์ตการลงทุนที่ใหญ่อย่างเสี่ยป๋องนั้นจะสามารถสร้างกำไรได้อย่างง่ายดาย ต่างกับพอร์ตการลงทุนที่มีขนาดเล็กที่กว่าจะโตก็โตได้ช้า กำไรก็กำไรทีละนิดหน่อย ซึ่งเสี่ยป๋องได้ให้คำแนะนำว่าจริงๆแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน พอร์ตการลงทุนขนาดเล็กนั้นสามารถเติบโตได้รวดเร็วมากเมื่อเทียบกับพอร์ตการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพอร์ตการลงทุนระดับเสี่ยป๋องหรือระดับพันล้านบาท เนื่องจากเมื่อคุณมีพอร์ตการลงทุนขนาดใหญ่คุณจะประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องคือ คุณไม่สามารถที่จะซื้อหุ้นได้มากเท่าที่ต้องการเพราะปริมาณการซื้อขายนั้นมีไม่เพียงพอ

ดังนั้น ในบทวิจัยนี้ทาง SiamQuant จึงได้ขออนุญาตนำแนวคิดการลงทุนของเสี่ยป๋องที่ได้จากการสัมภาษณ์ มาทำการจำลองเป็นระบบการลงทุน (Trading System) และทดสอบกับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในอดีต เพื่อให้นักลงทุนได้เห็นถึงหลักฐานข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์เกี่ยวกับ

1. ลักษณะผลตอบแทนและความเสี่ยงจากแนวคิดในการลงทุนของเสี่ยป๋อง

2. ความสำคัญของการนำเอาปัจจัยพื้นฐานเข้ามาเป็นหลักในการวิเคราะห์หุ้น

3. ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของพอร์ตโฟลิโอและผลตอบแทนในระยะยาว

โดยหวังให้นักลงทุนได้เห็นและเข้าใจว่า จริงๆแล้วเราไม่จำเป็นจะต้องแบ่งสายว่าต้องลงทุนตามแบบปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถนำส่วนที่ดีของทั้งสองปัจจัยมาส่งเสริมให้การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากขนาดของพอร์ตโฟลิโอว่าจะมีผลต่อผลตอบแทนในระยะยาวอย่างไรกันบ้าง ไปติดตามกันเลยครับ!

เคล็ดลับการลงทุนของเสี่ยป๋อง

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าหลักการลงทุนของเสี่ยป๋องนั้นเป็นการผสมผสานกันระหว่างการใช้ปัจจัยทางเทคนิคและปัจจัยด้านพื้นฐาน โดยเสี่ยป๋องได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางเทคนิคมากถึง 60% และให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐาน 40%

การดูปัจจัยพื้นฐานนั้นเป็นการคัดกรองหุ้นที่ดี ซึ่งสิ่งที่เราเสี่ยป๋องได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ เราจะลงทุนในหุ้นตัวไหน เราจำเป็นจะต้องรู้ว่า

  • บริษัททำธุรกิจอะไร กำไรของบริษัทนั้นมาจากไหน และที่สำคัญกำไรไม่ว่าจะเป็นกำไรต่อหุ้น (Earning Per Shares) หรือกำไรสุทธิ (Net Profit) ต้องมีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
  • นอกจากนี้เรายังใช้อัตราส่วน Price To Earning Ratio (PE Ratio) ซึ่งอัตราส่วนนี้เป็นการเทียบระหว่างราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน กับกำไรเพื่อดูว่าหุ้น ณ ปัจจุบันซื้อขายกันแพงเกินจริงหรือไม่ ซึ่งอัตราส่วน PE Ratio ที่ปลอดภัยสำหรับเสี่ยป๋องไม่ควรเกิน 20 เท่า เนื่องจากถ้า PE Ratio มีค่าที่สูงเกินไป เช่น PE Ratio 40-50 เท่า หมายความว่าเราคาดหวังว่ากำไรจะเติบโตมากถึง 40 50 เท่า เราต้องพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่

การดูปัจจัยทางเทคนิคนั้นเป็นการหาจังหวะในการเข้าซื้อขาย ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะหากคุณเลือกหุ้นได้ดีแล้วแต่เลือกผิดจังหวะ เช่นไปซื้อในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งคุณก็ไม่สามารถสร้างกำไรจากมันได้ โดยสัญญาณทางเทคนิคที่เสี่ยป๋องให้ความสำคัญมากที่สุดสำหรับการเข้าซื้อคือ ราคาของหุ้นต้องมีการทำจุดสูงสุดใหม่ (New High) นอกจากนี้ยังดูอินดิเคเตอร์อื่นประกอบด้วย เช่นเส้น Moving average convergence divergence ( MACD ) มีการตัดขึ้นเหนือ 0 เนื่องจากการที่ราคามีการทำจุดสูงสุดใหม่เป็นสัญญาณที่บอกว่าหุ้นกำไรอยู่ในช่วงภาวะขาขึ้น ส่วนเส้น MACD ตัดเหนือ 0 นั้นเป็นสัญญาณคอนเฟิร์มว่าหุ้นอยู่ในภาวะขาขึ้น

อย่างไรก็ดีสัญญาณทางเทคนิคที่บ่งบอกว่าหุ้นนั้นอยู่ในช่วงภาวะขาลงแล้วซึ่งเป็นจุดขายสำหรับทำกำไรหรือตัดขาดทุน สามารถสังเกตุได้จากการที่ราคามีการทำจุดต่ำสุดใหม่เรื่อยๆ ( New Low ) หรือมีสัญญาณทางเทคนิคบางอย่างที่บ่งบอกว่าราคากำลังไหลลง เช่น ราคาหลุดเส้นค่าเฉลี่ย ( MA ) 25 วัน และอินดิเคเตอร์ MACD ตัดลงต่ำกว่า 0 เป็นต้น

เคล็ดลับอย่างสุดท้ายคือ ขนาดของการลงทุนในแต่ละครั้งหรือ Position Sizing นั้น เสี่ยป๋องจะพิจารณาถึงเรื่องสภาพคล่องของหุ้นหรือ Liquidity กับขนาดของพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ โดยการคำนวณ Position Sizing นั้นเสี่ยป๋องจะถือหุ้นคราวละประมาณ 10 ตัวในพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งในการซื้อแต่ละครั้งต้องพิจารณาว่ามีปริมาณการซื้อขายมากพอหรือไม่โดยเทียบปริมาณการซื้อขาย ณ วันนั้นๆกับขนาดของพอร์ตโฟลิโอ ถ้ามีสัญญาณการซื้อขายเข้ามาแต่สภาพคล่องไม่ถึงเกณฑ์เราจะถือว่าสัญญาณนั้นเป็นโมฆะทันที สาเหตุเนื่องมาจากช่วงสภาพตลาดปกติก็จะมีคนมาตั้ง Bid Offer แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นสภาพคล่องเหล่านี้จะหายไปจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถขายหุ้นได้ นอกจากนี้ในการซื้อแต่ละครั้งจะไม่ซื้อจนติดบัญชีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมถึงจะเข้าซื้อไม่มากกว่าปริมาณการซื้อขายโดยเฉลี่ยต่อช่วงราคาเกินกว่า 5 ช่อง (5 Spreads)

เริ่มต้นสร้างระบบการลงทุน “Sia Pong Trading System (SPTS)” จากแก่นแนวคิดที่สำคัญในการลงทุนของเสี่ยป๋อง

หลังจากที่เราทราบวิธีการคัดเลือกหุ้นและการหาสัญญาณซื้อขายของเสี่ยป๋องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนนี้เราจะทำการแปลงข้อมูลที่ได้มาให้เป็นระบบการลงทุนโดยมีเงื่อนไขที่ชัดเจน รวมถึงเพิ่มรายละเอียดอื่นๆเพื่อความสมจริงในการทดสอบดังนี้ครับ

Entry Point ของระบบ SPTS

  1. ราคาหุ้นต้องมีการทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 1 ปี หรือ 250 วัน
  2. สัญญาณจากอินดิเคเตอร์ MACD มีค่าเป็นบวก หรือมีค่าเหนือศูนย์
  3. PE Ratio ของหุ้นมีค่าต่ำกว่า 20
  4. หุ้นมีอัตราการเติบโตในปัจจุบันเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ( Year over Year ) มีค่าเป็นบวก

Exit Point ของระบบ SPTS

  1. ราคาปิดของหุ้นมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของราคาปิดย้อนหลัง 25 วัน และสัญญาณจากอินดิเคเตอร์ MACD ต้องมีค่าเป็นลบหรือมีค่าต่ำกว่าศูนย์

การกำหนดขนาดการลงทุนของระบบ SPTS

เนื่องจากเสี่ยป๋องมีแนวคิดในการลงทุนที่คำนึงถึงสภาพคล่องอยู่เสมอ และไม่อยากถือหุ้นมากเกินกว่า 10 ตัวสักเท่าไหร่ ดังนั้นเราจึงจะไม่ใช้ขนาดการลงทุนแบบ Fix Percentage ว่าเข้าซื้อครั้งละกี่ % ของพอร์ตโฟลิโอ แต่จะทำการพิจารณาจากเงื่อนไขดังนี้

  1. มูลค่าการซื้อขายในวันที่เกิดสัญญาณซื้อต้องมีค่ามากกว่า 10% ของขนาดพอร์ตโฟลิโอ เช่น ถ้ามูลค่าพอร์ตโฟลิโอมีมูลค่า 10 ล้านบาท แต่การซื้อขาย ณ วันที่เกิดสัญญาณไม่ถึง 1 ล้าน จะถือว่าสัญญาณที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโมฆะ โดยมีขนาดการลงทุนเท่ากับศูนย์
  2. ในการซื้อแต่ละครั้งจะไม่ซื้อเกิน 1% ของปริมาณหุ้นทั้งหมด เพื่อป้องกันการติดบัญชีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และจะซื้อไม่เกินปริมาณที่มีการซื้อขายต่อช่องทั้งหมด 5 ช่อง

โดยที่มีเงื่อนไขปลีกย่อยในการทดสอบอื่นๆดังนี้ครับ

Condition Details
Backtesting Window
  • 01/01/2007 – 01/01/2017
Backtesting Restriction
  • เงินทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท
  • อัตราค่าคอมมิสชั่นแบบ Dynamic
    • พอร์ตการลงทุนมูลค่า 10 ล้านบาท อัตราค่าคอมมิสชั่นคือ 0.15
    • พอร์ตการลงทุนมูลค่า 100 ล้านบาท อัตราค่าคอมมิสชั่นคือ 0.11
    • พอร์ตการลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านบาท อัตราค่าคอมมิสชั่นคือ 0.1
  • Percentage Slippage 1% (รวมเข้าและออก 2%)
  • Long Only
Universe
  • All Stocks หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์
Filters
  • กรองข้อมูลที่มีความผิดพลาดออกด้วย SQdatafilter(1)

Indicator
  • เส้น MACD คำนวณจากเส้นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 12 และ 26 วัน
  • เส้นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง คำนวณจากราคาปิดของหุ้น ย้อนหลังไป 25 วัน
Position Size
  • ถือหุ้นมากที่สุด 10 ตัวในพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งมีการคำนวณขนาดการลงทุนในแต่ละครั้งตามวิธีการของเสี่ยป๋อง ซึ่งได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว
Position Score
  • เรียงลำดับจากหุ้นที่ค่า EPS YoY สูงที่สุด
Risk Management
  • ไม่มี
Order Management
  • ทำการซื้อขายวันถัดไป ราคาเปิด (Open)

 

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขต่างๆสำหรับการทดสอบระบบการลงทุน SPTS

หมายเหตุ 1 : เงื่อนไขของระบบการลงทุนเหล่านี้คือสิ่งที่ทีมงาน SiamQuant ได้มาจากการถอดบทสัมภาษณ์ ไม่ได้มาจากการกำหนดเงื่อนไขด้วยตัวของเสี่ยงป๋องเอง ดังนั้น ตัวระบบการลงทุนที่สร้างขึ้นอาจมีความคลาดเคลื่อนจากวิธีการลงทุนจริงๆของเสี่ยป๋องได้ในระดับหนึ่ง และผลการลงทุนที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการทดสอบจากการซื้อขายจากแนวคิดบางส่วนเท่านั้น

ตัวอย่างการซื้อ-ขายหุ้นตามสัญญาณจากระบบ SPTS

หลังจากที่เราได้ทราบเงื่อนไขการเข้าซื้อ-ขายหุ้นด้วยระบบ SPTS กันแล้ว อย่างไรก็ดีเงื่อนไขในการเข้าซื้อนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ดังนั้นในส่วนนี้เราจะทำการจำลองภาพแสดงตัวอย่างสัญญาณซื้อและขายตามระบบ SPTS

SiamQuant-watchara-kaewsawang-spts-trading-system-1ภาพที่ 1 : ภาพแสดงตัวอย่างสัญญาณการซื้อหุ้นด้วยระบบ SPTS

จากภาพจะแสดงให้เห็นว่าสัญญาณซื้อนั้นเข้ามา ณ วันที่ 25/05/2010 ซึ่งเป็นวันที่มีสัญญาณการทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 250 วันพร้อมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ

SiamQuant-watchara-kaewsawang-spts-trading-system-2ภาพที่ 2 : ภาพแสดงตัวอย่างสัญญาณการขายหุ้นด้วยระบบ SPTS

หลังจากระบบทำการซื้อและถือหุ้นตัวนั้นมาแล้ว ระบบจะทำการปล่อยหุ้นวิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าสัญญาณขายจะปรากฏ โดยสัญญาณขายในที่นี้คือ ราคาปิดของวันอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของราคาปิดย้อนหลัง 25 วัน และอินดิเคเตอร์ MACD มีค่าต่ำกว่า โดยต้องเป็นจริงทั้งสองเงื่อนไข หากเป็นจริงแค่กรณีเดียวระบบจะยังทำการถือหุ้นนั้นต่อไป

ผลลัทธ์และประเด็นที่น่าสนใจจากการทดสอบระบบการลงทุนของเสี่ยป๋อง

อย่างที่ได้เกริ่นนำไปแล้วว่าในการวิจัยระบบการลงทุน SPTS ครั้งนี้นั้น เราจะแบ่งการทดสอบออกเป็น 3 ประเด็นด้วยสำคัญด้วยกันคือ

  • ประเด็นแรกคือ การเปรียบเทียบระบบการลงทุน SPTS กับดัชนี SET Index
  • ประเด็นที่สองเพื่อทดสอบความแตกต่างของระบบการลงที่ใช้เพียงปัจจัยทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวกับการใช้ข้อมูลทางปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคร่วมกัน
  • และประเด็นที่สุดท้ายคือการทดสอบระบบการลงทุนของเสี่ยป๋องโดยทำการเปลี่ยนขนาดของเงินทุนเริ่มต้นจาก 10 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท และ 1 พันล้านบาทตามลำดับ เพื่อตรวจสอบถึงผลกระทบของขนาดของพอร์ตโฟลิโอกับผลตอบแทนที่ได้รับ โดยจะทำการทดสอบกับข้อมูลในอดีตในช่วงปี 2007 – 2016 รวมระยะเวลา 10 ปี ซึ่งระยะเวลา 10 ปี ได้ครอบคลุมสภาพตลาดทั้งในช่วงวิกฤต ช่วงขาขึ้น และช่วงสภาพตลาดไม่มีเทรนด์ไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อทดสอบว่าระบบการลงทุนนี้สามารถอยู่รอดได้ทุกสภาวะตลาดหรือไม่

โดยต่อไปนี้คือประเด็นที่น่าสนใจจากผลลัพธ์การทดสอบระบบการลงทุน SPTS ของเสี่ยป๋องครับ

1. ระบบการลงทุน SPTS สามารถชนะตลาดหุ้นได้ในระยะยาว!

SiamQuant-watchara-kaewsawang-spts-trading-system-3ภาพที่ 3 : ภาพแสดงการเปรียบเทียบผลลัพธ์จากการลงทุนด้วยระบบ SPTS (เส้นสีเขียว) เทียบกับดัชนี SET Index (เส้นสีดำ)

Portfolio Metrics With Fundamental Factor SET Index
Net Profit 4,441.68% 134.04%
CAGR 46.48% 9.17%
MaxDD -29.28% -58.02%
Longest DD (Month) 20.1 44.15
CAR/MDD 1.59 0.15
Trade Metrics With Fundamental Factor SET Index
No. of All Trade 341
Avg. Bar Held 54.21
% Win 47.8%
Avg. Profit/Loss % 18.04%
Max Consecutive Loss 7

 

ตารางที่ 2 : ตารางแสดงการเปรียบเทียบระหว่างระบบการลงทุน SPTS เทียบกับดัชนี SET Index

จากผลการทดสอบพบว่าระบบการลงทุน SPTS ชนะดัชนี SET Index อย่างขาดลอยไม่ว่าจะพิจารณาทั้งในด้านผลตอบและในด้านความเสี่ยงก็ตาม

  • ด้านผลตอบแทนเมื่อพิจารณาจาก Net Profit ระบบ SPTS มีสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดถึง 33 เท่า!! ไม่เพียงเท่านี้ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนรายปีหรือ CAGR นั้นสูงกว่าตลาดถึง 5 เท่า เลยทีเดียว
  • ด้านความเสี่ยงพิจารณาจาก Max DD และ Longest Drawdown โดยระบบ SPTS มีความเสี่ยงที่วัดจาก Maximum Drawdown และการฟื้นตัวของพอร์ตโฟลิโอโดยดูจากค่า Longest Drawdown เมื่อเทียบกับดัชนี SET Index พบว่าระบบ SPTS มีค่าทั้งสองอย่างนี้น้อยกว่าตลาดอยู่เกือบหนึ่งเท่าตัว ซึ่งระบบ SPTS มีค่า Maximum Drawdown และ Longest Drawdown เท่ากับ 29.28 และ 20.2 ตามลำดับ

จึงทำให้ในประเด็นแรกเราสามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ระบบการลงทุน SPTS สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดได้อย่างชัดเจนในระยะยาว (แม้ว่าระบบ SPTS จะมีการคำนวณที่ซับซ้อนน้อยกว่ากลยุทธ์หลายๆรูปแบบที่เราเคยได้วิจัยมาก็ตาม)

2. ปัจจัยทางพื้นฐาน ไม่เพียงช่วยเพิ่มกำไรแต่ยังช่วยลดขนาดของ Maximum Drawdown กว่า 30%

ประเด็นที่สองที่เราได้กล่าวไว้ คือการวิจัยเพื่อทดสอบความแตกต่างของระบบที่ใช้ปัจจัยทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวเทียบกับระบบที่ใช้ปัจจัยพื้นฐานเข้ามาเสริมด้วย ซึ่งการวิจัยในส่วนนี้จะกำหนดเงื่อนไขทุกอย่างให้คงที่เพียงแต่ตัดปัจจัยพื้นฐานสำหรับการคัดกรองหุ้นออกไป เพื่อดูอิทธิพลของปัจจัยพื้นฐาน โดยผลการวิจัยมีดังนี้ครับ

SiamQuant-watchara-kaewsawang-spts-trading-system-4ภาพที่ 4 : ภาพเปรียบเทียบความแตกต่างของระบบการลงทุนที่ใช้ปัจจัยเทคนิคเพียงอย่างเดียว( เส้นสีน้ำเงิน ), ระบบการลงทุนที่ใช้ทั้งปัจจัยทางเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานผสมกัน ( เส้นสีเขียว ) และดัชนี SET Index ( เส้นสีดำ )

หมายเหตุ 2 : กราฟ Equity ภาพนี้จะดูแตกต่างกับกราฟ Equity ภาพอื่นๆเนื่องจากอยู่ในลักษณะ Linear Scale ซึ่งมีระยะห่างของแกน Y คงที่ ในขณะที่กราฟอื่นแสดงผลเป็น Log Scale

Portfolio Metrics With Fundamental Factor Without Fundamental Factor
Net Profit 4,425.23% 3,118.75%
CAGR 46.42% 41.52%
MaxDD -29.57% -40.69%
Longest DD (Month) 20.2 24.15
CAR/MDD 1.57 1.02
Trade Metrics With Fundamental Factor Without Fundamental Factor
No. of All Trade 342 396
Avg. Bar Held 54.22 54.04
% Win 49.12% 43.18
Avg. Profit/Loss % 17.74% 13.66%
Max Consecutive Loss 7 10

 

ตารางที่ 3 : ตารางแสดงการเปรียบเทียบระหว่างระบบการลงทุนที่ใช้เพียงปัจจัยทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว และระบบที่ใช้ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยเทคนิคผสมกัน

จากผลการวิจัยเปรียบเทียบระบบ SPTS กับระบบที่ปราศจากปัจจัยพื้นฐานโดยปัจจัยอื่นๆคงที่ สามารถสรุปได้ดังนี้

ปัจจัยพื้นฐานจะช่วยคัดกรองหุ้นที่มีพื้นฐานดีเข้ามา ซึ่งทำให้จำนวนการเทรดทั้งหมดมีค่าน้อยกว่าระบบที่ปราศจากปัจจัยพื้นฐาน อย่างไรก็ดีสัญญาณซื้อที่เข้ามาจากระบบที่มีปัจจัยพื้นฐานนั้นมีคุณภาพที่ดีกว่าโดยสังเกตได้จากกำไรเฉลี่ยต่อครั้ง Avg. Profit/Loss% และอัตราการชนะ %Win ที่เพิ่มสูงขึ้นจากระบบที่ปราศจากปัจจัยพื้นฐาน นอกจากนี้ระบบที่มีปัจจัยพื้นฐานยังให้ผลตอบแทนที่สูงถึง 4,425.23% และมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 46.42% เทียบกับระบบที่ปราศจากปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งมีผลตอบแทนเท่ากับ 3,118.75% และมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 41.52%

ไม่เพียงเท่านี้ปัจจัยพื้นฐานยังช่วยลดความเสี่ยงของระบบลงได้อีกด้วย โดยค่า MaxDD ลดลงเกือบ 30% คือจาก -40.69 ที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐาน และเมื่อใส่ปัจจัยพื้นฐานเข้ามาระบบมี Drawdown เหลือเพียง -29.57% นอกจากนี้จำนวนการเทรดที่แพ้ติดต่อกันหรือ Max Consecutive Loss นั้นยังลดลงจาก 16 ครั้ง เหลือเพียง 10 ครั้ง!!

ทำให้ในประเด็นที่สองนี้สามารถสรุปได้ว่าปัจจัยพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญตามที่เสี่ยป๋องได้เน้นย้ำไว้ โดยมันจะช่วยการคัดกรองหุ้นที่ไม่ดีออกไป ทำให้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสัญญาณซื้อจนเป็นให้ผลตอบแทนสูงขึ้นแล้ว แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนและการแพ้ติดต่อกันด้วยครับ

3. ขนาดของพอร์ตโฟลิโอ คือศัตรูที่ร้ายการที่สุดอย่างหนึ่งของนักลงทุนรายใหญ่

ประเด็นสุดท้ายของการวิจัยชิ้นนี้ ก็คือการวิจัยเพื่อทดสอบอิทธิพลของขนาดพอร์ตโฟลิโอ โดยจะทำการเปรียบเทียบระหว่างพอร์ตโฟลิโอมีเงินลงทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท, 100 ล้านบาท, 1 พันล้านบาท ซึ่งเงื่อนไขในการเข้าซื้อเป็นระบบการลงทุนของเสี่ยป๋องที่ใช้ทั้งปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคคู่กัน เพื่อควบคุมอิทธิพลของสัญญาณซื้อขายให้เป็นตัวแปรคงที่ โดยผลการวิจัยที่ออกมาก็คือ ….

SiamQuant-watchara-kaewsawang-spts-trading-system-5ภาพที่ 5 : ภาพเปรียบเทียบการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอของระบบการลงทุนที่มีเงินทุนตั้งต้น 10 ล้าน (เส้นสีเขียว), 100 ล้าน (เส้นสีน้ำเงิน), 1,000 ล้าน (เส้นสีแดง) และดัชนี SET Index ( เส้นสีดำ )

Portfolio Metrics Initial Equity 10 m. Initial Equity 100 m. Initial Equity 1,000 m.
Net Profit 4,425.23% 678.8% 105.24%
CAGR 46.42% 22.78% 7.46%
MaxDD -29.57% -23.91% -16.5%
Longest DD (Month) 20.2 17.8 26.9
CAR/MDD 1.57 0.95 0.45
Trade Metrics Initial Equity 10 m. Initial Equity 100 m. Initial Equity 1,000 m.
No. of All Trade 342 310 201
Avg. Bar Held 54.22 51.52 48.45
% Win 49.12% 47.42% 43.28%
Avg. Profit/Loss % 17.74% 10.94% 6.74%
Max Consecutive Loss 7 13 17

 

ตารางที่ 4 : ตารางแสดงการเปรียบเทียบขนาดของเงินลงทุนเริ่มต้น โดยเปรียบเทียบระหว่างเงินทุนตั้งต้น 10 ล้านบาท, 100 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท

โดยการวิจัยเรื่องประเด็นขนาดของพอร์ตโฟลิโอนี้เป็นไปตามที่เสี่ยป๋องได้กล่าวเอาไว้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเมื่อขนาดของพอร์ตโฟลิโอเริ่มต้นใหญ่ขึ้นนั้น ผลตอบแทนทบต้นหรือ CAGR จะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเราได้ทำการตั้งเงื่อนไขการเข้าซื้อให้พิจารณาถึงสภาพคล่องเข้าไป ทำให้พอร์ตขนาดใหญ่ซื้อหุ้นได้น้อยลงเรื่อยๆ โดยในทางกลับกันการที่ค่า Maximum Drawdown ที่ลดลงนั้น ก็เป็นผลมาจากการที่เราสามารถใช้เงินทุนได้น้อยลง รวมถึงหุ้นที่สามารถเข้าซื้อได้จะเป็นหุ้นขนาดกลาง-ใหญ่ที่ความผันผวนไม่มากนัก จึงทำให้เสียหายน้องลงเวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงนั่นเอง

สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยระบบการลงทุน SPTS

  • ระบบการลงทุนที่สร้างจากแนวคิดการลงทุนของเสี่ยป๋องให้ผลตอบแทนที่ชนะตลาดในระยะยาว โดยเฉพาะกับพอร์ตโฟลิโอขนาดเล็ก-กลาง
  • ปัจจัยพื้นฐานนั้นไม่เพียงช่วยเพิ่มผลตอบแทน แต่ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • ขนาดของพอร์ตโฟลิโอ มีผลอย่างมากต่อการเติบโตของพอร์ต เนื่องจากขนาดของพอร์ตนี้จะเป็นตัวบังคับเงื่อนไขของหุ้นที่เราจะสามารถลงทุนได้จริงๆ ซึ่งผลปรากฏว่าพอร์ตขนาดเล็กนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าพอร์ตขนาดใหญ่ ดังนั้นหากใครเข้าใจว่ารายใหญ่พอร์ตจะโตเร็วกว่า และลงทุนง่ายกว่าอาจต้องคิดใหม่เสียแล้วครับ

บทส่งท้ายสำหรับนักลงทุนทุกท่าน

เนื่องจากเสี่ยป๋องผู้เป็น Idol ในการลงทุนของนักลงทุนไทยทุกๆท่านได้กล่าวไว้เสมอว่า

“การที่คุณจะลงทุนต้องศึกษาให้รอบด้าน ไม่ใช่ว่าจะศึกษาเทคนิคัลก็เทคนิคัลเพียงอย่างเดียว หรือจะลงทุนตามแบบ VI ก็ VI เพียงอย่างเดียว (Value Investing) แต่เราจะต้องศึกษาทั้งสองอย่างคุณถึงจะอยู่รอดในตลาดหุ้นได้”

ทางทีมงาน SiamQuant จึงได้ตั้งใจเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้เพื่อหวังจะเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนทุกๆท่านว่า เราสามารถนำทั้งปัจจัยทางพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคเข้ามาใช้ร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ เพียงแต่เราต้องศึกษาให้รู้ลึกและรู้จริง โดยมีหลักฐานสถิติยืนยันในเชิงประจักษ์อย่างชัดเจน

และสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่กำลังพยายามสร้างพอร์ตกันอยู่นั้น หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจในการหาวิธีการเอาชนะตลาดหุ้นต่อไป เพราะผลวิจัยชิ้นนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าจริงๆพอร์ตขนาดเล็กสามารถเติบโตได้เร็วกว่าพอร์ตขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องเท่าพอร์ตขนาดใหญ่นั่นเอง

หวังว่าระบบการลงทุนต้นแบบ SPTS ที่ SiamQuant ได้ทำการสร้างออกมานี้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักลงทุนไทยเห็นแนวทางในการทำกำไรอย่างยั่งยืนในตลาดหุ้นไทยไม่มากก็น้อยนะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทวิจัยชิ้นถัดๆไปครับ!

ทีมงาน SiamQuant ขอขอบคุณ “เสี่ยป๋อง” เป็นอย่างสูง ที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำการสัมภาษณ์และวิจัยออกแบบระบบการลงทุน SPTS (Sia Pong Trading System) เพื่อทดสอบถึง Performance ต่างๆของแนวคิดการลงทุน รวมถึงการเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อแวดวงการลงทุนเป็นอย่างสูง

Write A Comment