องค์ความรู้จากการลงทุนอย่างเป็นระบบ

ความสำคัญของการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ (Dividend Reinvest)

Thanadon Praphutikul

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นอย่างที่เราทราบกันดีว่า เราจะได้รับผลตอบแทนใน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ กำไรจากการขายหลักทรัพย์ในราคาที่สูงขึ้น (Capital Gain) และเงินปันผลซึ่งเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้น (Dividend) หากบริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายปันผลในช่วงเวลาที่เราทำการถือครองหลักทรัพย์นั้น

โดยนักลงทุนก็มักจะมีคำถามและข้อสงสัยในทำนองที่ว่า “เราควรจะนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่หรือไม่?” เนื่องจากไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนที่พัฒนากลยุทธ์ขึ้นมาเอง หรือเป็นนักลงทุนที่เลือกลงทุนในกองทุนต่างๆ ก็จะพบว่าคุณต้องตัดสินใจเลือกระหว่างกองทุนที่มีนโยบายที่จ่ายปันผลหรือไม่จ่ายปันผล ซึ่งในกรณีที่กองทุนไม่ได้จ่ายปันผลนั้นกองทุนก็มักจะนำเงินปันผลที่ได้รับกลับมาลงทุนใหม่ (Reinvest) นั่นเอง

ดังนั้น ในบทความชิ้นนี้เราจึงได้ทำการศึกษาวิจัยผลกระทบจากการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ (Dividend Reinvest) ว่าจะส่งผลอย่างไรกับผลตอบแทนของการลงทุนในภาพรวม ซึ่งเราหวังว่าบทความชิ้นนี้ จะช่วยแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ได้อย่างดียิ่งขึ้น และช่วยเป็นข้อมูลให้กับเพื่อนๆพี่น้องนักลงทุนทุกท่านครับ 

ผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap Factor)

เพื่อให้นักลงทุนที่ลงทุนด้วยตนเอง (Individual Investor) และนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมต่างๆได้เห็นภาพผลกระทบของการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ได้ชัดเจนนั้น ผมจึงเลือกนำผลการทดสอบในเชิงทฤษฎีของกลยุทธ์การลงทุนประเภท Buy & Hold ซึ่งเป็นการลงทุนในปัจจัยหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap Factor) มาเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้เป็นตัวแทนในการทดสอบครั้งนี้ เนื่องด้วยเหตุผลที่นักลงทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวม (Mutual Fund) ส่วนมากมักจะมีการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ โดยมีรายละเอียดการทดสอบตามตาราง ดังนี้

Condition Details
Backtest Window 01/01/2009 – 31/12/2018
Backtest Restriction เงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
Long Onlyไม่มีอัตราค่า Commission และSlippage
Universe All Stocks หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์
Entry วันทำการวันแรกของปี
Exit วันทำการวันสุดท้ายของปี
Position Size 3% ของมูลค่าพอร์ตโฟลิโอ
Position Score เรียงตามหุ้นที่มี Market Cap สูงสุด
Order Management  ทำการซื้อขายที่ราคาเปิด (Open) ของวันถัดไปของวันที่เกิดสัญญาณ)

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขการทดสอบแนวคิดการลงทุน

หมายเหตุ : การทดสอบดังกล่าวข้างต้นเป็นการทดสอบในเชิงทฤษฎี ซึ่งจะไม่มีอัตราค่าคอมมิสชั่นและสลิปเพจ เพื่อที่จะตัดผลกระทบอื่นๆที่กระทบต่อค่า Maximum Drawdown

โดยมีผลลัพธ์การทดสอบในช่วงระยะเวลา 10 ปี (2009-2018) ที่ผ่านมามีดังนี้

ภาพที่ 1 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอ BigCap Factor (เส้นสีเขียว) และ SET Index (เส้นสีดำ)

Portfolio Metrics BigCap Factor  SET Index
Net Profit (%) 336.32% 227%
Annualized Return % (CAGR) 15.90% 12.57%
Max DD % -21.35% -25.48%
Longest DD (Months) 30.80 52.65
CAR / MaxDD 0.74 0.65
Trade Metrics BigCap Factor SET  Index
No. of All Trade 337
Avg. Bar Held 260.64
% Win 63.50%
Avg. Profit/Loss % 18.59%
Max Consecutive Loss 11

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงค่าสถิติของ BigCap Factor และ SET Index 

จากภาพและตารางข้างต้น จะพบว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยทบต้นต่อปี (CAGR) ของ Big Cap Factor มีค่าเท่ากับ 15.90% โดยมีผลตอบแทนสุทธิเท่ากับ 336.32% ภายในระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนดังกล่าวเป็นเพียงผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาซื้อขาย (Captial Gain) เพียงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนอกจากจะได้รับผลตอบแทนจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแล้ว เรายังได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล (Dividend) อีกด้วย

เงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนใน Big Cap Factor

โดยเมื่อเราได้ทำการเก็บข้อมูลเงินปันผลการลงทุนจาก Big Cap Factor ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ ว่ากลยุทธ์การลงทุนดังกล่าวจะได้รับเงินปันผลเป็นเท่าไหร่บ้างในแต่ละปี ซึ่งเงินปันผลในแต่ละปี (Annual Dividend) คือ ผลรวมของเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นที่เราถือครองอยู่ทั้งหมดในพอร์ตโฟลิโอ โดยผลลัพธ์ที่ได้มีดังนี้

Year Annual Dividend
2009 45,826.70
2010 58,464.41
2011 88,172.48
2012 67,167.22
2013 75,788.66
2014 78,030.78
2015 92,781.19
2016 105,417.91
2017 97,999.65
2018 106,758.00
Total 816,407.00

ตารางที่ 2 : ตารางแสดงจำนวนเงินปันผลทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละปีจาก Big Cap Factor

หมายเหตุ : เงินปันผลได้รับของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ตโฟลิโอนี้ ถูกคำนวณจาก Dividend Per Shares ที่ถูกทำการ Adjusted ค่าเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันความผิดพลาดจาก Corporate Action ต่างๆ และได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ในทุกกรณี

จากตารางที่ 2 ซึ่งแสดงจำนวนเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปีนั้น จะพบว่าเงินปันผลรวมทั้งหมดที่ได้รับระหว่างการลงทุนนั้นคิดเป็นจำนวนเท่ากับ 816,407 บาท ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า จากเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาทในต้นปี 2009 จะได้รับผลตอบแทนจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น (Capital Gain) เท่ากับ 3,363,242.56 บาท และได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลเท่ากับ 816,407 บาท หรือมีผลตอบแทนสุทธิหลังรวมปันผลเท่ากับ 4,179,649.56 บาท หรือคิดเป็น 417.96% ดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอ Big Cap Factor ซึ่งรวมเงินปันผลเข้าไปด้วย (เส้นสีเขียว), Big Cap Factor (เส้นสีแดง) และดัชนี SET Index เส้นสีดำ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการคิดผลตอบแทนโดยนำเงินปันผลมารวมด้วยนั้นจะทำให้ผลตอบแทนในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังขาดปัจจัยหนึ่งที่สำคัญนั้นคือ การที่นักลงทุนนำเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปีกลับมาลงทุนใหม่ (Dividend Reinvest) นั่นเอง

การนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ (Dividend Reinvest)

ดังนั้น ในส่วนถัดไปนี้เราจะทำการทดสอบโดยนำเงินปันผลที่ได้รับนำกลับมาลงทุนใหม่ (Dividend Reinvest) โดยจะทำการเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่ได้มีการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ (Non Dividend Reinvest) โดยจะมีรายละเอียดและสมมติฐานการทดสอบดังนี้

  1. เนื่องจากระยะเวลาที่ได้รับเงินปันผลนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละครั้ง ดังนั้นเราจึงตั้งสมมติฐานการทดสอบว่าเราจะได้รับเงินปันผลกลับเข้าพอร์ตโฟลิโอภายหลังการที่หุ้นขึ้นสัญลักษณ์ XD เป็นระยะเวลา 50 วันทำการ หรือประมาณ 2 เดือน 
  2. เงินปันผลที่ได้รับกลับเข้าพอร์ตโฟลิโอนั้น จะยังไม่ถูกนำไปซื้อหุ้นทันที แต่จะรอจนกว่าจะมีสัญญาณซื้อครั้งใหม่เข้ามา ซึ่งในกรณีนี้คือ ทุกวันทำการแรกของปี

โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการทดสอบการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนด้วยนั้น มีดังนี้

ภาพที่ 3 : ภาพแสดงการเติบโตของ Big Cap Factor ที่นำปันผลกลับมาลงทุนใหม่ หรือ Dividend Reinvest (เส้นสีเขียว),  Big Cap Factor ที่รวมปันผลแต่ไม่ได้นำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ หรือ Non Dividend Reinvest (เส้นสีแดง), Big Cap Factor (เส้นสีน้ำเงิน) และดัชนี SET Index (เส้นสีดำ)

Strategy Net Profit 
Big Cap Factor with Dividend Reinvest 467.34%
Big Cap Factor (Included Dividend) 417.96%
Big Cap Factor 336.32%
SET Index 227%

ตารางที่ 3 : ตารางแสดงผลตอบแทนสุทธิหลังรวมปันผลในกรณีต่างๆ เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index

จากภาพที่ 3 และตารางที่ 3 ข้างต้นจะแสดงให้เห็นว่า ผลตอบแทนของ Big Cap Factor ที่มีการนำเงินปันผลกลับไปลงทุนใหม่ (เส้นสีเขียว) จะมีลักษณะค่อยๆฉีกตัวห่างออกจากผลตอบแทนของ Big Cap Factor ที่รวมปันผลเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้มีการนำกลับไปลงทุนใหม่ (เส้นสีแดง) มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีผลตอบแทนสุทธิเท่ากับ 467.34% และ 417.96% ตามลำดับ ในขณะที่ผลตอบแทนจาก Big Cap Factor ที่ไม่รวมปันผลมีค่าเท่ากับ 336.32% เท่านั้น

หรือผลตอบแทนสุทธิจากการนำเงินปันผลกลับไปลงทุนใหม่ (Dividend Reinvest) มีค่ามากกว่ากรณีที่ไม่ได้นำเงินปันผลกลับไปลงทุนใหม่ (Non Dividend Reinvest) เท่ากับ 11.89% (คำนวณจากการเปรียบเทียบ Net Profit ทั้ง 2 กรณี) ซึ่งจุดนี้เองถือเป็นความได้เปรียบของการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ต่อยอดนั่นเอง

บทสรุป ความสำคัญของการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ Dividend Reinvest

จากผลการศึกษาวิจัยข้างต้นพบว่า การนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ (Dividend Reinvest) นั้น ท้ายที่สุดจะสามารถสร้างความมั่งคั่ง (Wealth) ได้มากกว่ากรณีที่ไม่ได้นำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ เนื่องจากการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่นั้น ทำให้เกิด Compound Effect ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบที่มากขึ้นต่อผลตอบแทนถ้าระยะเวลาในการลงทุนนั้นยาวขึ้นนั่นเอง 

แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า กลยุทธ์การลงทุนดังกล่าวนั้นจะต้องมีประสิทธิภาพและมีความเสถียรของผลตอบแทนในระยะยาว มิเช่นนั่นจะเสมือนว่าเราไปทำการลงทุนเพิ่มในกลยุทธ์ที่แย่ๆ จนในที่สุดอาจก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมได้

นอกจากนี้สำหรับในกรณีของนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนนั้น เนื่องจากในการลงทุนจริงกองทุนต่างๆยังมีปัจจัยต่างๆที่กระทบต่อผลตอบแทนอีกด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายและค่าบริหารจัดการต่างๆ เป็นต้น ซึ่งค่าต่างๆเหล่านี้มีความแตกต่างกันในแต่ละกองทุน ดังนั้น นักลงทุนจะต้องทำการพิจารณาเพิ่มเติมว่าการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่นั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่? เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยต่างๆเหล่านั้น

โดยผมหวังว่าองค์ความรู้ที่ได้รับจากบทความชิ้นนี้จะมีประโยชน์ และเป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ และจะช่วยให้นักลงทุนสามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาต่อยอดหรือช่วยในการตัดสินใจในการลงทุนของตนเองได้ครับ ^^

Write A Comment