องค์ความรู้จากการลงทุนอย่างเป็นระบบ

หุ้นแตกพาร์ ราคาพุ่ง จริงหรือไม่!?

Koedkao Peeratiyuth

หลังจากหยุดสงกรานต์ไปนาน วันนี้ทางทีมงาน SiamQuant ก็มีบทความดีๆมาฝากเพื่อนๆพี่ๆนักลงทุนกันนะครับ โดยเนื้อหาในบทความนี้เรียกได้ว่ากำลังประเด็นสุดฮ็อตที่นักลงทุนทั้งมือเก๋าและมือใหม่ให้ความสนใจกันอย่างมากเลยทีเดียว ซึ่งก็คือประเด็นเรื่องการแตกพาร์นั่นเองครับ เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆบริษัทในตลาดหุ้นไทย รวมถึง PTT ที่หลายๆคนคุ้นเคยกันดีจะมีการแตกพาร์นั่นเอง ซึ่งบทความชิ้นนี้เราจะมาตีแตกพฤติกรรมของหุ้นทั้งก่อนและหลังแตกพาร์กันครับ

ทำไมหุ้นถึงต้องมีการแตกพาร์ (Stock Split)?

ก่อนที่เราจะพูดถึงสาเหตุการแตกพาร์ของหุ้นนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ทุกๆคนควรทราบก่อนก็คือ มูลค่าที่ตราไว้ หรือที่พวกเราเรียกกันว่า “ราคาพาร์” (Par value) หมายถึง มูลค่าหลักทรัพย์ที่ระบุไว้บนใบหุ้นซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท XYZ มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 10 ล้านหุ้น และราคาพาร์คือ 2 บาท เท่ากับบริษัทมีมูลค่ากิจการ ณ วันก่อตั้งคือ 20 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเมื่อบริษัทได้นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์และมีการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน เป็นเหตุให้ราคาของหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง จนในบางครั้งราคาต่อหุ้นขึ้นไปสูงมาก เช่นในกรณีหุ้น PTT ซึ่งราคาหุ้น ณ สิ้นวันที่ 2018-04-20 อยู่ที่ 588 บาท และเนื่องด้วยข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ว่านักลงทุนนั้นจะซื้อหุ้นได้ขั้นต่ำครั้งละ 100 หุ้น นั้นหมายความว่าถ้าคุณจะซื้อหุ้น PTT คุณจะต้องซื้อขั้นต่ำเป็นเงิน 58,800 บาท และซื้อเพิ่มได้ทีละ 100 หุ้นนั่นเอง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหากรณีนักลงทุนรายย่อยนั้นอาจจะไม่สามารถที่จะลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้ได้สะดวกและในบางกรณีก็อาจส่งผลให้หุ้นนั้นมีสภาพคล่องที่ต่ำลงด้วย โดยเฉพาะในกรณีของบริษัทที่อยู่นอกดัชนี SET50 หรือ SET100 ที่นักลงทุนสถาบันนั้นไม่ค่อยมีบทบาทในการซื้อขาย ส่งผลให้ราคา Bid Offer นั้นมีความแตกต่างกันมากและทำให้นักลงทุนรายย่อยนั้นยิ่งซื้อขายได้ลำบากขึ้นไปอีก

โดยการแตกพาร์นั้นจะช่วยให้เพิ่มสภาพคล่องของหุ้นให้สูงขึ้นด้วย 2 ปัจจัยคือ จากราคาของต่อหุ้นที่ลดลงส่งผลให้ดึงดูดผู้เล่นรายย่อยและนักเก็งกำไรมากขึ้น และจากการเพิ่มขึ้นของจํานวนหุ้นที่ทำให้รายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันสามารถซื้อขายในปริมาณมากๆได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ดีการลดลงของราคาหุ้นจากการแตกพาร์นั้นไม่ทำให้เกิดปรากฏารณ์ “Dilution Effect” เนื่องจากการแตกพาร์นั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) และมูลค่าตลาดรวมของบริษัท (Market Capitalization) ดังนั้นนักลงทุนที่ถือครองหุ้นอยู่จึงสามารถสบายใจได้ว่าบริษัทนั้นจะยังคงมูลค่าเท่าเดิมอีกทั้งยังสามารถซื้อขายได้คล่องขึ้นนั้นเอง

โดยในส่วนถัดไปเราจะมาวิเคราะห์พฤติกรรมราคาหุ้นในช่วงก่อนและหลังการลดลงของราคาพาร์กันว่าจะเป็นอย่างไรและจะเป็นอย่างที่ทุกคนคาดเอาไว้หรือไม่มาติดตามกันดูครับ ^^

เผยพฤติกรรมของหุ้นทั้งก่อนและหลังการแตกพาร์

หลังจากที่เราเข้าใจเหตุผลของการที่บริษัทตัดสินใจที่จะทำการลดหรือแตกพาร์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ในส่วนต่อไปนี้เราจะมาดูกันว่าหุ้นที่มีการแตกพาร์นั้นจะมีพฤติกรรมเป็นเช่นไร โดยในที่นี้เราจะใช้อัตราการเปลี่ยนแปลงของหุ้น (Rate of Change) ในช่วงระยะเวลาต่างๆเป็นตัวบ่งบอกนัั่นเองครับ

ซึ่งเราจะทำการทดสอบตั้งแต่ปี 2008  ถึงปี 2017 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี โดยใช้วันที่ราคาพาร์ลดลงเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้าเป็นจุดอ้างอิง แล้วคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงของหุ้นทั้งก่อนและหลังการแตกพาร์ในช่วงระยะเวลาต่างๆดังนี้ 1อาทิตย์ (5 Bars), 2อาทิตย์ (10 Bars),1เดือน (20 Bars), 3เดือน (60 Bars), 6เดือน (120 Bars) และ 1ปี (250 Bars) และจากนั้นนำกลุ่มตัวอย่างที่ได้มาหาค่าสถิติบรรยาย (Descriptive Statistics) และทำ Data Visualization โดยผลลัพธ์ที่ได้มีดังนี้

หมายเหตุที่ 1 : จำนวน Bars อาจจะไม่เท่ากับจำนวนวันทั้งหมดในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากเป็นตัวเลขประมาณจำนวนวันที่มีการซื้อขายหุ้นในแต่ละช่วงเวลา

ภาพที่ 1 : ภาพแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาในแต่ละช่วงเวลาทั้งก่อนและหลังแตกพาร์เทียบกับดัชนี SET Index

Before Stock Split %Chg 5 Bars %Chg 10 Bars %Chg 20 Bars %Chg 60 Bars %Chg 120 Bars %Chg 250 Bars
Median 3.21% 2.59% 1.79% 12% 18.35% 40.77%
Min -43.33% -46.88% -55.03% -66.67% -82.54% -76.61%
Max 247.46% 338.5 435.95% 2384.85% 2,462.5% 13,020%
Std. Dev. 25.18 34.52 44.67 240.37 261.14 1,298.93
SET Median 0.25% 0.4% 0.89% 2.44% 2.21% 11.33%
After Stock Split %Chg 5 Bars %Chg 10 Bars %Chg 20 Bars %Chg 60 Bars %Chg 120 Bars %Chg 250 Bars
Median 0% -0.94% -1.31% -2.62% -6.03% -3.64%
Min -37.5% -50% -76.47% -78.82% -90.59% -94.9%
Max 52.58% 61.86% 54.64% 120.97% 1,029.63% 3,851.79%
Std.Dev 10.72 13.8 18.23 32.47 108.76 369.81
SET Median 0.16% 0.2% 0.59% 1.43% -0.42% 6.98%

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงค่าสถิติการเปลี่ยนแปลงของราคาก่อนและหลังจากที่หุ้นจะมีการแตกพาร์ 1อาทิตย์ (5 Bars), 2อาทิตย์ (10 Bars),1เดือน (20 Bars), 3เดือน (60 Bars), 6เดือน (120 Bars) และ 1ปี (250 Bars)

หมายเหตุที่ 2 : ในงานวิจัยชิ้นนี้ผู้วิจัยเลือกใช้ค่า Median หรือค่ากลางของข้อมูลเป็นค่าที่ใช้บ่งบอก Central Tendency แทนค่า Mean หรือค่าเฉลี่ยเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมี Outliner ซึ่งเป็นค่าสุดโต่งซึ่งจะดึงค่าเฉลี่ยสูงขึ้นเกินกว่าความเป็นจริง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลราคาหุ้นทั้งก่อนและหลังการแตกพาร์ตั้งแต่ปี 2008 ถึงปี 2018 พบว่าหุ้นที่แตกพาร์มีทั้งหมด 158 ตัว และเราได้พบว่าราคาหุ้นภายหลังที่มีการแตกพาร์นั้นมีค่า Median ของอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น (Rate of Change) น้อยกว่าช่วงก่อนแตกพาร์(ส่วนมากจะติดลบ) และส่วนเบี่ยงเบนจากค่ามาตรฐาน (ค่าความผันผวน) ต่ำกว่าช่วงก่อนที่จะแตกพาร์ ยกตัวอย่างเช่น ค่า Median ของผลตอบแทนภายหลังการแตกพาร์ไปแล้วเป็นระยะเวลา 1 ปี มีค่าเท่ากับ -3.64% และส่วนเบี่ยงเบนจากมาตรฐานเท่ากับ 369.81 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ยังค่อนข้างกว้าง แต่ก็ยังแคบกว่าช่วงก่อนแตกพาร์อย่างมีนัยยะโดยความผันผวนที่ลดลงนั้นสื่อให้เห็นถึงสภาพคล่องที่ดีขึ้น ซึ่งในส่วนถัดไปเราจะมาเจาะเข้าไปดูผลกระทบทั้งก่อนและหลังการแตกพาร์ของหุ้นที่อยู่ในแต่ละดัชนีกันครับ

ภาพที่ 2 : ภาพแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาในแต่ละช่วงเวลา โดยใช้ดัชนีเป็นเกณฑ์ในการแบ่งดังนี้ SET100, Non SET100, SET และ MAI

จากภาพที่ 2 จะเห็นได้ว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยของราคาหุ้นก่อนที่จะมีการแตกพาร์ 1 ปีและหลังจากการแตกพาร์ไปอีก 1 ปี มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นมีแนวโน้มที่ลดลง และจากการแบ่งหุ้นที่แตกพาร์ออกเป็นกลุ่มดัชนีจะเห็นได้ว่าหุ้นที่อยู่ในดัชนี MAI, nonSET100 และ SET นั้นให้ผลตอบแทนในช่วงก่อนแตกพาร์สูงที่สุดไล่ลงมาตามลำดับ อย่างไรก็ตามหุ้นในดัชนี MAI กลับให้ผลตอบแทนที่ติดลบมากที่สุดหลังจากการแตกพาร์เช่นกัน ดังนั้นการเก็งกำไรโดยการเข้าซื้อหุ้นภายหลังที่มีการแตกพาร์อาจต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นที่ไม่ได้อยู่ใน SET100

ภาพที่ 3 : ภาพแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่มีการแตกพาร์ในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2008 – 2017

จากภาพที่ 3 จะเห็นได้ว่าผลลัพธ์นั้นสอดคล้องกับการทดสอบการแบ่งรายดัชนีในภาพที่ 2 และภาพที่ 1 คือ ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยนั้นจะอยู่ในระดับสูง 1 ปีก่อนที่จะมีการแตกพาร์ และค่อยๆลดลงเรื่อยๆจนใกล้ศูนย์เมื่อใกล้เวลาที่จะมีการแตกพาร์ โดยหลังจากที่มีการแตกพาร์ไปแล้วอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นจะค่อยๆเพิ่มขึ้นทั้งด้านบวกและลบตั้งแต่หลังครึ่งปีเป็นต้นไป

การแบ่งกลุ่มของหุ้นที่แตกพาร์ออกเป็นแต่ละปียังทำให้เห็นถึงค่า Outlier อีกด้วยโดยจะเห็นได้ว่ามีเพียงปี 2012 และ ปี 2013 เท่านั้นที่อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเฉลี่ยก่อนแตกพาร์นั้นสูงเกินกว่าปีอื่ืนๆอย่างมีนัยยะซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วมาจากหุ้น MALEE ในปี 2012 และหุ้น DIGI ในปี 2013 โดยค่า Outlier เหล่านี้ทำให้ดึงค่าเฉลี่ยของภาพรวมให้เพิ่มขึ้นไปด้วย

บทสรุปของหุ้นแตกพาร์

การแตกพาร์นั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้นที่มีราคาสูงจนทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่สามารถซื้อขายได้อย่างสะดวก ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลทำให้เราสามารถเข้าใจผลกระทบก่อนและหลังการแตกพาร์ได้มากยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในนั้นคือการที่ค่าเฉลี่ยของอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นและส่วนเบี่ยงเบนจากค่ามาตรฐานลดต่ำลงกว่าตอนก่อนที่จะมีการแตกพาร์ โดยจะเห็นได้ว่าช่วงเวลาที่ให้ผลตอบแทนที่สูงนั้นจะเกิดในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการแตกพาร์มากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลที่บริษัทต้องทำการแตกพาร์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้นอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง หรืออีกนัยนึงคือการแตกพาร์นั้นอาจไม่ใช่ตัวแปรที่สามารถใช้ในการทำนายราคาในอนาคตได้ดีเท่าไหร่นั่นเองครับ โดยพวกเราหวังว่าเพื่อนๆพี่ๆนักลงทุนที่คิดจะเก็งกำไรหุ้นจากการแตกพาร์นั้นจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยจากงานวิจัยชิ้นนี้ครับ

Thanadon Praphutikul
ทีมงานวิจัยระบบการลงทุน SiamQuant Alpha Researcher
เริ่มต้นการลงทุนตั้งแต่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ด้วยความต้องการเอาชนะตลาด โดยมีจุดเปลี่ยนมาสู่การลงทุนอย่างเป็นระบบ เนื่องจากช่วยให้เราสามารถพิสูจน์ถึงสิ่งต่างๆได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้จริง ^^

Write A Comment