ระบบการลงทุน

กลยุทธ์หุ้นเหนือเมฆ Ichimoku Cloud Strategy!!

Koedkao Peeratiyuth

กราฟเมฆหมอกหรือ Ichimoku Cloud ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือวิเคราะห์หุ้นแนว Technical Analysis ที่พึ่งมาได้รับความสนใจไม่น้อยจากนักลงทุนไทย วันนี้ทีมงาน SiamQuant จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับต้นกำเนิดที่มา, องค์ประกอบของ Ichimoku, กลยุทธ์การซื้อขายรูปแบบต่างๆ รวมถึงผลการ Backtest กับตลาดหุ้นไทยไปพร้อมๆกันครับ!

จุดกำเนิด Ichimoku Cloud เครื่องมือชี้วัดแนวโน้มจากยุคคำนวณมือสู่ยุค Computer

Ichimoku Cloud นั้นถูกคิดค้นโดยคุณ Goichi Hosoda ที่มีอาชีพเป็นนักข่าวรายงานการเคลื่อน ไหวของราคาตลาดข้าวของญี่ปุ่นในช่วงปี 1940 โดยคุณ Goichi ได้ใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นถึง 30 ปี ในการทดสอบวิจัยและสร้างสูตร Indicator ที่มีจุดประสงค์ทำให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นแนวโน้มของราคา, แนวรับแนวต้านสำคัญและ จุดกลับตัวของแนวโน้มได้ใน “การมองเพียงครั้งเดียว” (One Glace) ซึ่งเป็น ความหมายของคำว่า Ichimoku นั่นเอง

วิธีการ Charting แบบนี้เริ่มมีการเผยแพร่ให้กับสาธารณะชนในปี 1969 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในประเทศญี่ปุ่น แต่ถึงแม้จะได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเกิด โลกตะวันตกกลับเพิ่งได้เริ่มรู้จักวิธี Charting แบบ Ichimoku ในปี 1990 น่าเสียดายที่ข้อจำกัดทางภาษาและความซับซ้อนของการตีความเส้นต่างๆ ทำให้ Ichimoku นั้นยังไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนเท่าที่ควร

จนมาถึงในศตวรรษที่ 21 เมื่อ Internet ทำให้ภาษาไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไปนักลงทุนทั้งในโลกตะวันตกและประเทศไทยจึงเริ่มหันมาศึกษาและสนใจวิธีการส้รางกราฟเมฆหมอก Ichimoku Cloud กันมากขึ้น

ทำความรู้จักส่วนประกอบต่างๆในที่ประกอบขึ้นเป็น Ichimoku Cloud

SiamQuant-ichimoku-cloud-strategy-1

ภาพที่ 1 : ส่วนประกอบของกราฟเมฆหมอก Ichimoku Cloud

โดยส่วนที่เหมือนเมฆ (Kumo) ที่เป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างเส้น Senkou Span A และ Span B นั้นคือหัวใจของ Indicator Ichimoku ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้ผู้ใช้สามารถดูแนวโน้มได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายตามความหมายของคำว่า “Ichimoku” (แปลว่า One Glance) โดยถ้ากลุ่มก้อนเมฆนั้นอยู่เหนือราคาแปลว่าแนวโน้มหลักเป็นขาลง กลับกันถ้าราคาอยู่เหนือกลุ่มเมฆก็แปลว่าแนวโน้มหลักเป็นขาขึ้น ความหนาของก้อนเมฆนั้นแสดงถึงความแข็งแกร่งของแนวโน้ม ถ้าขนาดของเมฆหนาแปลว่าแนวโน้มทิศทางนั้นมีความแข็งแกร่ง

จะสังเกตุเห็นได้ว่าเส้น Senkou Span B นั้นสร้างมาจากค่าเฉลี่ยของช่วงเวลาที่ยาวกว่าเพราะฉะนั้นถ้า Senkou Span B อยู่ด้านบนแปลว่าแนวโน้มเป็นขาลง กลับกันถ้า Senkou Span B อยู่ด้านล่างก็แปลว่าแนวโน้มเป็นขาขึ้น โดยใช้หลักการเหมือนกับการเรียงตัวของค่าเฉลี่ยนั่นเอง (Moving Average)

ก้อนเมฆยังช่วยบอกลำดับความสำคัญ (Priority) ของสัญญาณซื้อขายด้วยเช่นสัญญาณซื้อ (Long) ที่เกิดตอนที่ราคาอยู่เหนือก้อนเมฆ (แนวโน้มขาขึ้น) สัญญาณซื้อนั้นย่อมมีนัยยะมากกว่าสัญญาณซื้อที่ เกิดตอนราคาอยู่ใต้ก้อนเมฆเป็นต้น

ส่วนประกอบหลักของกราฟเมฆหมอกแบบ Ichimoku นั้นคือเส้นต่างๆ 5 เส้นซึ่งแต่ละเส้นมีสูตรที่ใช้คำนวณ ดังนี้ :

  1. เส้น Kijun-Sen หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Base Period คำนวณมาจาก:

(ราคาสูงสุดในรอบ 26 วัน + ราคาต่ำสุดในรอบ 26 วัน) / 2

หมายเหตุ 1 : 26 วันคือค่า Default ของเส้น Kijun-Sen

2. เส้น Tenkan-Sen หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Conversion Period คำนวณมาจาก:

(ราคาสูงสุดในรอบ 9 วัน + ราคาต่ำสุดในรอบ 9 วัน) / 2

หมายเหตุ 2 : 9 วันคือค่า Default ของเส้น Tenkan-Sen

3. เส้น Senkou Span A หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Leading Span A คำนวณมาจาก:

(Tenkan-Sen + Kijun-Sen) / 2

หมายเหตุ 3 : เส้น Senkou ทั้ง Span A และ B จะต้อง plot ไป 26 วันข้างหน้า

4. เส้น Senkou Span B หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Leading Span B คำนวณมาจาก:

(ราคาสูงสุดในรอบ 52 วัน + ราคาต่ำสุดในรอบ 52 วัน) / 2

หมายเหตุ 4 : 52 วันคือค่า Default ของ Senkou-Span B และเส้น Senkou ทั้ง Span A และ B จะต้อง plot ไป 26 วันข้างหน้า

5. เส้น Chinkou Span หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Lagging Span คำนวณมาจาก:

ราคาปิดของวันนี้แล้ว Plot ย้อนหลังไป 26 วัน

กลยุทธ์ Tenkan-Kijun Cross Over (CrossOver)สำหรับกลยุทธ์ที่เราจะมาทดสอบให้ดูกันในวันนี้นั้นเป็นกลยุทธ์ยอดนิยมที่ใช้คู่กับกราฟเมฆหมอก Ichimuku Cloud โดยจะมีทั้งหมด 4 กลยุทธ์ด้วยกันคือ:

  1. กลยุทธ์ราคายืนเหนือเส้น Kijun (AboveKijun)
  2. กลยุทธ์ Cloud Breakout (CloudBreak)
  3. กลยุทธ์ Cloud Twist (CloudTwist)

โดยเงื่อนไขในการทดสอบในการวิจัยกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 4 จะมีเงื่อนไขเบื้องต้นในการ Backtest ดังต่อไปนี้ครับ

Condition Details
Backtesting Window
  • 01/01/2007 – 01/01/2017
Backtesting Restriction
  • เงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
  • 0.15% Per Trade Commission
  • 1% Slippage Entry & Exit (รวม 2%)
  • Long Only
Universe
  • All Stocks หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์
Filter
  • มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยใน 1 ปีมากกว่า 1 ล้านบาท/วัน
  • กรองข้อมูลที่มีความผิดพลาดออกด้วย SQdatafilter(1)
Indicator
  • ใช้ ค่าต่างๆใน Indicator Ichimoku ดังนี้ (9 ,26, 52)
    • Tenkan-Sen 9 Period
    • Kijou-Sen 26 Period
    • Leading Span and Lagging Span 26 Period
    • Senkou-Span B 52 Period
Position Size
  • กระจายน้ำหนักไปยังหุ้นทุกตัวในพอร์ตโฟลิโอในอัตราส่วนที่เท่า กัน (Equal-weighted) โดยให้น้ำหนักตัวละ 5% ของพอร์ตโฟลิโอ โดยมีจำนวณหุ้นที่ถือมากที่สุด 20 ตัว
Risk Management
  • ไม่มี
Order Management
  • ทำการซื้อขายวันถัดไป ราคาเปิด (Open)

 

ตารางที่ 1 :เงื่อนไขในการทดสอบของระบบการลงทุนที่ใช้ Ichimoku Cloud ทั้ง 4 กลยุทธ์

1. กลยุทธ์ Tenkan-Kijun Cross Over (CrossOver)

กลยุทธ์แรกที่จะนำมาทดสอบกันนั้น มีความใกล้เคียงกับกลยุทธ์ที่ใช้เส้นค่าเฉลี่ย 2 เส้นตัดขึ้น (Moving Average Cross Over) ค่อนข้างมาก แต่ในกรณีของกราฟเมฆหมอก Ichimoku Cloud เราจะใช้เส้น Tenkan (สีฟ้า) ซึ่งเป็นเส้นที่มี Period สั้นกว่าตัดขึ้นเหนือเส้น Kijun (สีส้ม) เป็นสัญญานซื้อโดยจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมในตำแหน่งที่เส้นตัดกันด้วยว่ามันอยู่เหนือก้อนเมฆ (Kumo) หรือไม่ และยังมีการตรวจสอบเส้น Chinkou (สีดำ) ว่าอยู่เหนือราคาปิดเป็นการยืนยันสัญญาณซื้ออีกที

  • จุดเข้าซื้อ (Entry) :
    • เส้น Tenkan(สีฟ้า) ตัดเหนือเส้น Kijun (สีส้ม)
    • ราคาปิดของหุ้นอยู่สูงกว่าเส้น Senkou-Span A (กรอบเมฆเส้นสีเขียว) และ Senkou-Span B (กรอบเมฆเส้นสีแดง)
    • ราคาปิดของหุ้นอยู่ต่ำกว่าเส้น Chinkou (สีดำ)
  • จุดขาย (Exit) :
    • เส้น Tenkan (สีฟ้า) ตัดลงใต้เส้น Kijun (สีส้ม)

SiamQuant-ichimoku-cloud-strategy-2ภาพที่ 2: ตัวอย่างการซื้อขายด้วยกลยุทธ์ CrossOver เมื่อเส้น Tenkan (เส้นสีฟ้า) ตัดขึ้นเหนือเส้น Kijun (เส้นสีส้ม) ระบบจะเข้าซื้อและถือหุ้นไว้ซึ่งแสดงให้เห็นด้วยกราฟราคาสีเขียว และจะขายหุ้นทิ้งเมื่อเส้น Tenkan (เส้นสีฟ้า) ตัดลงใต้เส้น Kijun (เส้นสีส้ม) ซึ่งแสดงให้เห็นด้วยกราฟราคาสีแดง

2. กลยุทธ์ซื้อเมื่อราคาปิดเหนือเส้น Kijun (AboveKijun)

กลยุทธ์ที่สองที่จะนำมาทดสอบกันนั้นมีความใกล้เคียงกับกลยุทธ์ราคาปิดเหนือเส้นค่าเฉลี่ยแบบมาตราฐาน แต่ในกรณีของกราฟเมฆหมอก Ichimoku Cloud เราจะใช้ราคาและเส้น Kijun (สีส้ม) ซึ่งเป็นแกนหลัก โดยจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมในตำแหน่งที่เกิดสัญญาณด้วยว่าอยู่เหนือเมฆ (Kumo) หรือไม่ สุดท้ายคือมีการตรวจสอบเส้น Chinkou (สีดำ) เป็นการยืนยันสัญญาณซื้ออีกทีหนึ่ง

  • จุดเข้าซื้อ (Entry) :
    • ราคาปิดอยู่เหนือเส้น Kijun (สีส้ม)
    • ราคาปิดของหุ้นอยู่สูงกว่าเส้น Senkou-Span A (กรอบเมฆเส้นสีเขียว) และ Senkou-Span B (กรอบเมฆเส้นสีแดง)
    • ราคาปิดของหุ้นอยู่ต่ำกว่าเส้น Chinkou (สีดำ)
  • จุดขาย (Exit) :
    • ราคาปิดอยู่ใต้เส้น Kijun (สีส้ม)

SiamQuant-ichimoku-cloud-strategy-3ภาพที่ 3: ตัวอย่างการซื้อขายด้วยกลยุทธ์ โดยเข้าซื้อเมื่อราคาปิดเหนือเส้น Kijun (เส้นสีส้ม) และจะขายหุ้นเมื่อราคาปิดต่ำกว่าเส้น Kijun (เส้นสีส้ม) โดยช่วงเวลาซื้อและถือตัวกราฟราคาจะเป็นสีเขียวตามภาพ

3. กลยุทธ์ Cloud Breakout (CloudBreak)

กลยุทธ์ที่สามนั้นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะพยายามจะจับแนวโน้มระยะยาวตั้งแต่ช่วงแรกของแนวโน้ม โดยจะซื้อหุ้นเมื่อราคาปิดอยู่เหนือก้อนเมฆ (Kumo) และขายเมื่อราคาหุ้นนั้นปิดต่ำกว่าก้อนเมฆ

  • จุดเข้าซื้อ (Entry) :
    • ราคาปิดอยู่เหนือเส้น Senkou-Span A (กรอบเมฆเส้นสีเขียว) และ Senkou-Span B (กรอบเมฆเส้นสีแดง)
    • ราคาหุ้นต้องอยู่เหนือทั้งเส้น Tenkan (สีฟ้า) และเส้น Kijun (สีส้ม)
    • เมฆต้องเป็นรูปแบบ Bullish (ก้อนเมฆเป็นสีเขียว)
  • จุดขาย (Exit) :
    • ราคาปิดอยู่ใต้ก้อนเมฆ

SiamQuant-ichimoku-cloud-strategy-4ภาพที่ 4 : ตัวอย่างการซื้อขายด้วยกลยุทธ์ Cloud Breakout ซึ่งระบบจะเข้าซื้อและถือหุ้นเมื่อกราฟเป็นสีเขียว และจะขายหุ้นทิ้งเมื่อกราฟเป็นสีแดง

4. กลยุทธ์ Cloud Twist (CloudTwist)

กลยุทธ์ที่สุดท้ายนั้นเป็นกลยุทธ์ที่จะเข้าซื้อที่จุดกลับตัวของแนวโน้มซึ่งในกรณีกราฟเมฆหมอก Ichimoku Cloud นั้นคือจุดที่เส้น Senkou-Span A และ Senkou-Span B ตัดกัน (ก้อนเมฆเปลี่ยนสีจากแดงเป็นเขียวหรือกลับกัน) โดยในกรณีนี้ที่ระบบการซื้อขายเป็นแบบ Long อย่างเดียว เราจะซื้อหุ้นเมื่อ Senkou-Span A ตัดขึ้นเหนือ Senkou-Span B (ก้อนเมฆเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียว) และจะขายออกเมื่อก้อนเมฆเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง

  • จุดเข้าซื้อ (Entry) :
    • เส้น Senkou-Span A ตัดขึ้นเหนือเส้น Senkou-Span B (ก้อนเมฆเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียว)
    • ราคาหุ้นต้องอยู่เหนือทั้งเส้น Tenkan (สีฟ้า) และ เส้น Kijun (สีส้ม)
  • จุดขาย (Exit) :
    • เส้น Senkou-Span A ตัดลงต่ำกว่าเส้น Senkou-Span B (ก้อนเมฆเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง)

SiamQuant-ichimoku-cloud-strategy-5ภาพที่ 5 : ตัวอย่างการซื้อขายด้วยกลยุทธ์ Cloud Twist ซึ่งระบบจะเข้าซื้อและถือหุ้นเมื่อกราฟเป็นสีเขียวและจะขาย หุ้นทิ้งเมื่อกราฟเป็นสีแดง

ผลการทดสอบกลยุทธ์ Ichimuko ทั้ง 4 กลยุทธ์

SiamQuant-ichimoku-cloud-strategy-6ภาพที่ 6 : เปรียบเทียบมูลค่า portfolio ของทั้ง 4 กลยุทธ์ Ichimoku CrossOver (เส้นสีเขียว), Price Above Kijun (เส้นสีเหลือง), Cloud BreakOut (เส้นสีฟ้า), Cloud Twist (เส้นสีแดง) และ SET Benchmark (เส้นสีดำ) ตั้งแต่ 01/01/2007 – 01/01/2017

Portfolio Metric

CrossOver

AboveKijun

CloudBreak

CloudTwist

SET

Net Profit

506.31%

-71.47%

284.05%

58.83%

134.04%

CAGR

19.75%

-11.79%

14.41%

4.74%

9.17%

MaxDD

-45.95%

-82.95%

-54.85%

-53.87%

-58.02%

Longest DD (Month)

22.85

65.90

22.50

62.75

44.15

CAR/MDD

0.43

-0.14

0.36

0.09

0.16

Trade Metric          
No. of All Trade

1965

4126

1151

1028

Avg. Bar Held

26.17

13.64

47.70

53.12

% Win

33.13%

21.38%

28.58%

36.09%

Avg. Profit/Loss %

3.59%

-0.46%

4.80%

2.52%

Max Consecutive Loss

24

44

26

22

 

ตารางที่ 2 : ผลการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนด้วย Ichimoku Cloud ทั้ง 4 แบบตั้งแต่ 01/01/2007 – 01/01/2017

จากผลลัพธ์การทดสอบย้อนหลังแสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์การลงทุนด้วยกราฟเมฆหมอก Ichimoku Cloud เพียงบางกลยุทธ์เท่านั้นที่ืสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจได้ในตลาดหุ้นไทยได้ โดยที่กลยุทธ์ CrossOver นั้นเป็นกลยุทธ์ที่สามารถทำผลตอบแทนได้มากที่สุดที่ CAGR 19.75% ต่อปี โดยมี MaxDD ที่ -45.95% รองลงมาคือกลยุทธ์ Cloud Breakout ที่ทำผลตอบแทนได้ CAGR 14.41% ต่อปีโดยมี MaxDD ที่ -54.85% ส่วนกลยุทธ์ CloudTwist ถือว่าได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าทั้ง SET Benchmark ที่ CAGR 9.17% โดยกลยุทธ์ที่ผลตอบแทนแย่ที่สุด คือกลยุทธ์ Price Above Kijun โดย Portfolio สูญเสียมูลค่าไปถึง -71.47%

จากการวิเคราะห์ค่าสถิติของแต่ละกลยุทธ์การลงทุนจะเห็นได้ชัดว่าการที่กลยุทธ์ CrossOver มีผลตอบแทนดีที่สุดนั้นไม่ได้มาจากการถือยาวเหมือนกลยุทธ์ Cloud Breakout (Avg. Bar Held ที่ 26.17 วัน Vs. 47.70 วัน) แต่มาจากปัจจัยหลักคือจำนวนของการ Trade ที่เกิดมากกว่าเกือบ 1 เท่า (1965 ครั้ง vs. 1151 ครั้ง) เราจึงสรุปในเบื้องต้นได้ว่ากลยุทธ์ Ichimoku Cloud นั้นทำงานได้ดีที่สุดในกรณีที่ใช้เล่นรอบแบบ Swing Trade มากกว่าที่จะใช้กลยุทธ์ถือยาวแบบ Trend Following

การทดสอบยังทำให้เรารู้ว่า Ichimoku Cloud นั้นไม่ใช่ Indicator เอาไว้เล่นสั้น โดยจะสังเกตุได้ว่ากลยุทธ์ที่ขาดทุนจนเกือบหมดมูลค่าพอร์ตนั้นสาเหตุมาจากสัญญาณซื้อและขายที่เกิดบ่อยเกินไปซึ่งดูได้จาก Avg. Bar Held เพียงแค่ 13.64 วัน, จำนวน Trade ที่มากกว่ากลยุทธ์อื่นถึง 2-3 เท่าตัวและค่า Expectancy ที่ติดลบเนื่องจากเข้าออกเร็วเกินไปนั่นเอง (Avg. Profit/Loss -0.46%) ซึ่งเมื่อได้รับผลกระทบจากค่า Slippage ไปกลับรวมอีก 2% ที่เราได้เพิ่มเติมเข้าไป จึงทำให้กลยุทธ์ขาดทุนจนพังทลายลงนั่นเอง

สรุปการทดลองกลยุทธ์ ที่ใช้ Indicator Ichimoku ทั้ง 4 รูปแบบ

  • หลังจากที่นำกลยุทธ์ต่างๆที่ใช้ได้กับกราฟเมฆหมอก Ichimoku Cloud มาทำการทดสอบนั้น มีเพียงกลยุทธ์ CrossOver และ Cloud Breakout เท่านั้นที่สามารถทำกำไรในตลาดหุ้นไทยได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
  • กราฟเมฆหมอก Ichimoku Cloud ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในการ Trade ระยะกลางและยาว
  • ถึงแม้ว่าบางกลยุทธ์จะให้ผลกำไรที่สูงกว่า SET Index แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่า Max. Drawdown ที่ค่อนข้างสูงในทุกๆกลยุทธ์ของ Ichimoku Cloud
  • เห็นได้ชัดว่าความซับซ้อนในการสร้างและใช้งานของ Indicator นั้นไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อความประสิทธืภาพในการทำกำไร
  • Indicator หรือกลยุทธ์ที่ถูกโฆษณาว่าใช้ได้กับตลาดหนึ่งได้เป็นอย่างดี อาจจะไม่สามารถใช้ทำกำไรในอีกตลาดหนึ่งก็เป็นได้ นี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมเราต้องทำการทดสอบ Backtest ด้วยตัวเองเสมอ

จากผลการวิจัยทดสอบในวันนี้ทุกคนคงได้เห็นแล้วนะครับว่าไม่ว่าจะเป็น Indicator หรือกลยุทธ์ที่เราได้ยินหรือเคยอ่านมาจากที่ไหนก็ตาม ก่อนที่เราจะเอามาใช้งานหาสัญญาณซื้อขายไม่ว่าคุณจะลงทุนแบบเป็นระบบหรือไม่ก็ตาม เราควรต้องทดสอบด้วยการ Backtest ก่อนเพราะว่า เครื่องมือหรือแนวทางการลงทุนที่กูรูต่างประเทศนำมาเผยแพร่นั้นอาจจะไม่สามารถที่จะทำกำไรกับตลาดหุ้นของบ้านเราอย่างที่หวังก็เป็นได้

หวังว่าบทวิจัยนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อนๆนักลงทุนไม่มากก็น้อย และนี่ก็คือบทสรุปเบื้องต้นของกลยุทธ์หุ้นเหนือเมฆ Ichimoku Cloud ในตลาดหุ้นไทยครับ!

1 Comment

Write A Comment