ระบบการลงทุน

ระบบการลงทุน MACD-ATH (โดยคุณ มด แมงเม่าคลับ)

มด แมงเม่าคลับ
ติดตามผม

หลังจากที่ผมได้ทราบว่าข่าวเศร้าว่าคุณ Gerald Appel ผู้คิดค้น MACD Indicator ได้เสียชีวิตลงแล้วจาก Twtter ของ Dr.Alexander Elder เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมานั้น ในวันนี้ผมจึงอยากที่จะนำหนึ่งระบบการลงทุนเก่าเก็บที่ผมได้เคยสร้างเอาไว้โดยมีผลตอบแทนทบต้นกว่า 40 ปีที่ผ่านมาสูงถึงราว 19% ต่อปี มาเผยแพร่ให้นักลงทุนไทยได้รู้จักกัน เพื่อเป็นการระลึกถึงอีกหนึ่งบรมครูผู้คิดค้น Technical Trading Indicator ที่ถูกใช้มากที่สุดรูปแบบหนึ่งบนโลกใบนี้ครับ

ที่มาของระบบการลงทุน MACD-ATH

ก่อนที่ผมจะเล่าถึงแนวคิดของระบบ MACD-ATH ให้ทุกคนได้อ่านกันนั้น ผมอยากขอท้าวความกลับไปถึงสิ่งหนึ่งที่ผมมักจะพูดเสมอก็คือ ความจริงแล้วแม้ MACD จะถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือการวิเคราะห์ทาง Technical Analysis ที่น่าสนใจมาก และถือเป็นนวัตกรรมด้านการวิเคราะห์กราฟราคาในยุค 70 เลยก็ว่าได้ (MACD ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1979)

อย่างไรก็ตาม วิธีการใช้ MACD ที่ถูกคนรู้จักและสอนกันโดยทั่วไปอย่างดาดเดื่อน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณแบบ Zero Line Cross-Over, Signal Line Cross-Over หรือแม้แต่ Divergence ต่างๆนั้น กลับไม่สามารถใช้ได้ผลดีในตลาดหุ้นไทยสักเท่าไหร่นัก (รายละเอียดและผลการทดสอบอ่านได้จากบทความ MACD ดีจริงหรือ?)

แต่ … สำหรับในวันนี้นั้น เพื่อเป็นเกียรติกับ Gerald Appel บุคคลผู้ที่ทำให้ผมมีที่พึ่งยามยากในช่วงเริ่มต้นการลงทุนของผม (ฮ่าๆ) ผมจึงอยากจะมาเล่าถึงแนวคิดและวิธีการ “บิด” ให้ MACD Indicator ที่อาจให้ผลลัพธ์ที่อาจดูไม่น่าสนใจนัก กลายเป็นอีกหนึ่งระบบการลงทุนที่แสนจะเรียบง่ายแต่ทรงพลัง โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา Indicator อื่นๆให้วุ่นวายอย่างที่หลายๆคนมักเชื่อกันผิดๆเลยทีเดียว (และแน่นอนว่ามันทรงพลังกว่าหลายๆกลยุทธ์ที่พึ่งพา Indicator เป็นจำนวนมากอีกด้วย) 

ว่าแล้วก็เริ่มเข้าเรื่องระบบบการลงทุน MACD-ATH ของผมกันเลยดีกว่าครับผม 😀

แนวคิดของระบบการลงทุน MACD-ATH

ภาพที่ 1 : ตัวอย่างสัญญาณการซื้อขายของระบบการลงทุน MACD-ATH

MACD-ATH ย่อจาก Moving Average Convergence Divergence All-Time-High นั่นเองเองครับ (จะอ่านรวบๆว่า “แมคดีเอทีเอช” หรือ “แมคแดท” ก็ตามใจชอบนะครับ :D)  ซึ่งหลายคนน่าจะพอเดาทางออกแล้วบ้างแล้วว่าแนวคิดหลักของมันจะเป็นอย่างไร นั่นก็คือการเข้าซื้อเมื่อค่า MACD มีค่าสูงที่สุดในอดีตที่ผ่านมานั่นเอง!

แต่ก็อาจจะมีหลายคนสงสัยว่า MACD นั้นถือเป็น Technical Indicator ประเภท Oscillator ที่จะแกว่งไปมาระหว่างค่า 0 เนื่องจากมันถูกคำนวณจากระยะห่างระหว่างเส้น EMA สองเส้น ซึ่งก็คือเส้นสั้นที่ 12 วัน และเส้นยาวที่ 26 วัน ไม่ใช่เหรอ!?

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนอาจไม่ได้นึกถึงก็คือค่าระยะห่างระหว่าง MACD นั้นไม่ใช่ค่าระยะห่างแบบร้อยละหรือ Percentage แต่เป็นช่วงห่างของราคาต่างหาก ดังนั้นแล้ว ในมุมหนึ่งแม้มันจะสะท้อนถึงความห่าง แต่อีกมุมหนึ่งที่ลึกกว่านั้น มันก็ได้สะท้อนถึงราคาของหุ้นในขณะนั้นด้วยเช่นกัน

จากเหตุผลนี้เอง ทำให้การใช้ค่า MACD All-Time-High แทน Price All-Time-High นั้น (เช่นระบบ Mangmao ATH ที่ผมเคยได้เผยแพร่ไว้หลายปีมาแล้ว และยังคงมีประสิทธิภาพที่ดีดังเดิม อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Mangmao ATH) จะเป็นการช่วยกรองสัญญาณ False Signal ที่เกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการจับเอาเฉพาะสัญญาณที่เกิดขึ้นในขณะที่แนวโน้มของราคาหุ้นเป็นขาขึ้นใหญ่ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมหรือ Market Anomaly ที่มีประสิทธิภาพในการทำกำไรในตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างมากอีกด้วยนั่นเอง

โดยที่กลยุทธ์หรือระบบการลงทุน MACD-ATH ที่ผมจะนำมาเผยแพร่ในวันนี้นั้นมีกฎที่ง่ายมากๆ (แต่คุณอาจไม่เคยได้ยินหรือเรียนมาจากที่ไหนเลย :P) และยังใช้ MACD Indicator ในการตัดสินใจเข้าซื้อขายเพียงตัวเดียวเท่านั้นซึ่งก็คือ

Buy Signal : เข้าซื้อหุ้นเมื่อ MACD อยู่ ณ จุดที่สูงที่สุดในอดีต และมีค่ามากกว่า 0 (เป็นขาขึ้นใหญ่)

Sell Signal : ขายหุ้นออกเมื่อ MACD มีค่าลดลงต่ำกว่า 0 

Position Size : ขนาดการลงทุน จะซื้อหุ้นครั้งละ 5% ของมูลค่าพอร์ตทั้งหมดในขณะนั้นเพื่อกระจายความเสี่ยงจาก False Signal ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ!

และนี่ก็คือกฎหลักๆทั้งหมดของระบบการลงทุน MACD-ATH ที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดได้อย่างยั่งยืนกันนั่นเอง โดยที่ในส่วนต่อไปจะเป็นผลทดสอบที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นกันว่า “Simple is the best” กันครับ 😀

ผลตอบแทนของระบบการลงทุน MACD-ATH

ภาพที่ 2 : ตัวอย่างสัญญาณการซื้อขายจาก MACD-ATH, MACD Zero Line, MACD Signal Line

หลังจากที่เราได้ทราบถึงแนวคิดของระบบการลงทุน MACD-ATH ไปแล้วนั้น ในคราวนี้ผมจะมาทำการทดสอบถึงประสิทธิภาพ, ผลตอบแทน และความเสี่ยงของมัน โดยจะเปรียบเทียบกับดัชนี SET Index, สัญญาณ MACD Zero Line Cross-Over และ MACD Signal Line Cross-Over เนื่องจากเป็นสัญญาณที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบใช้กันให้ทุกคนได้ดูกันในคราวเดียวเลยนะครับ

โดยในบทความนี้นั้นเราจะทำการทดสอบให้พิเศษกันขึ้นสักหน่อย โดยที่ผมจะทำการ Backtest ย้อนหลังยาวถึงราว 40 ปี เนื่องจาก Gerald Appel ได้ทำการเผยแพร่ MACD Indicator เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1979 ผมจึงอยากจะให้ผลของมันสะท้อนช่วงเวลาตั้งแต่มันได้ถูกเผยแพร่ออกมานั่นเอง โดยจะทำการทดสอบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980-2020 (สิ้นเดือนพฤษภาคม) ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอที่จะผ่านวิกฤติเศรษฐกิจทั้งในไทยและระดับโลกถึง 6 ครั้ง! นั่นก็คือ 1) วิกฤติลดค่าเงินบาทและราชาเงินทุน 2) วิกฤติ Black Monday 3) วิกฤติสงครามอ่าวเปอร์เซีย 4) วิกฤติต้มยำกุ้ง 5) วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 6) วิกฤติ Covid-19

โดยผลตอบแทนที่คุณจะได้เห็นกันนั้น เป็นผลตอบแทนที่ได้รวมเอาค่า Commission ที่ 0.15% ในการซื้อขายแต่ละครั้ง และ Slippage ในการซื้อขายที่ครั้งละ 1% (รวม 2%) ตามมาตรฐานการทดสอบระบบการลงทุนโดยทั่วไปเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้ครับ

รายละเอียดการทดสอบ

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขสำหรับการทดสอบระบบการลงทุนของ SQ MACD-ATH

ผลลัพธ์การทดสอบ

ภาพที่ 3 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอของกลยุทธ์ SQ MACD-ATH (เส้นสีเขียว), SQ MACD Zero Line (เส้นสีฟ้า), SQ MACD Signal Line (เส้นสีแดง) และดัชนี SET Index (เส้นสีดำ) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980-2020 (สิ้นเดือนพฤษภาคม)

ตารางที่ 2 : ตารางแสดงค่าสถิติเปรียบเทียบระหว่างกลยุทธ์ SQ MACD-ATH, SQ MACD Zero Line Crossover, SQ MACD Signal Crossover และดัชนี SET Index ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980-2020 (สิ้นเดือนพฤษภาคม)

ตารางที่ 3 : ตารางแสดงผลตอบแทนรายเดือนและรายปีระหว่างกลยุทธ์ SQ MACD-ATH เปรียบเทียบดัชนี SET Index ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980-2020 (สิ้นเดือนพฤษภาคม)

โดยจากผลการทดสอบย้อนหลังเป็นเวลากว่า 40 ปีนั้น เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าระบบการลงทุน MACD-ATH นั้นได้ให้ผลตอบแทนทบต้นหรือ CAGR ที่สูงถึงราว 19.83% ต่อปี ซึ่งทิ้งห่างกับ Benchmarks เช่น ดัชนี SET Index ที่ 5.75% ต่อปี และสัญญาณการซื้อขายที่ถูกใช้กันโดยทั่วไปอย่าง MACD Zero Line Cross Over และ MACD Signal Line Cross Over แบบไม่เห็นฝุ่น (Signal Line ขาดทุนจนเกือบหมดพอร์ต) แถมระบบ MACD-ATH ยังมีกำไรที่เป็นบวกในปี ค.ศ. 2020 นี้อีกด้วย!

และในส่วนของความเสี่ยงนั้น มันก็ยังมีอัตราการถดถอยของพอร์ตโฟลิโอหรือ Maximum Drawdown ที่น้อยกว่า Benchmarks ต่างๆเป็นอย่างมากที่ราว -35% ทั้งที่ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาถึง 6 ครั้ง ในขณะที่ SET Index มี Max.DD ที่ราว -88% ตามมาด้วย MACD Zero Line ที่ -84% และ MACD Signal Line ที่ -99% เลยทีเดียว

นอกจากนั้นแล้ว เรายังจะเห็นได้ว่าช่วง Flat Time ที่พอร์ตไม่สามารถสร้าง New High หรือขยับไปไหนได้นั้น ยังยาวนานแค่ 48 เดือน เมื่อเทียบกับดัชนี SET Index ที่ราว 294 เดือน ซึ่งเท่ากับว่ามันสามารถกลับไปมีมูลค่ามากกว่าเดิมเร็วกว่า SET Index ถึงราว 6 เท่า! มันจึงค่อนข้างชัดเจนมากๆว่าระบบการลงทุน MACD-ATH ที่สุดแสนจะเรียบง่ายนี้นั้นมีประสิทธิภาพมากและความเสถียรยั่งยืนมากสักแค่ไหนนั่นเองครับ 😀

ข้อสังเกตและข้อควรระวังในการนำระบบการลงทุน MACD-ATH ไปประยุกต์ใช้

ภาพที่ 4 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอของกลยุทธ์ SQ MACD-ATH (เส้นสีเขียว) เปรียบเทียบดัชนี SET Index (เส้นสีดำ) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980-2020 (สิ้นเดือนพฤษภาคม)

ผมเชื่อว่าถึงตรงนี้ทุกคนคงจะได้เห็นกันอย่างชัดเจนแล้วว่าระบบการลงทุน MACD-ATH นั้นมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน อย่างไรก็ตามหลายคนคงอาจกำลังสงสัยว่าทำไมมันจึงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการใช้ MACD แบบดั้งเดิมและดัชนี SET Index ขนาดนี้ ซึ่งเหตุผลก็เป็นเพราะ

  1. ระบบการลงทุน MACD-ATH นั้นถูกออกแบบให้จับพฤติกรรมของ “แนวโน้มใหญ่” หรือ Long-Term Momentum/Trend Anomaly ซึ่งมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมากและยาวนานในตลาดหุ้นไทย ซึ่งแตกต่างกับสูตรโดยทั่วไปและค่า Default Parameter ซึ่งจะพยายามจับ “แนวโน้ม” ระยะสั้นนั่นเอง
  2. ระบบการลงทุน MACD-ATH มีจุดขายแบบ Trailing Stop Loss ซึ่งจะช่วยขายหุ้นเมื่อแนวโน้มราคาของมันจบลง โดยหุ้นส่วนใหญ่มักเข้าสู่ขาลงใหญ่ในช่วงวิกฤติ มันจึงช่วยให้ปกป้องความเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆได้เป็นอย่างดี
  3. ระบบการลงทุน MACD-ATH มีการกระจายความเสี่ยงในระดับสูง จึงช่วยปกป้องความเสียหายจาก False Signal และการขาดทุนที่รุนแรงในหุ้นบางตัว อีกทั้งยังเป็นการ “การจายโอกาส” ให้ไม่พลาดตกรถในการทำกำไรในช่วงที่ตลาดโดยรวมเป็นขาขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้นั้น เนื่องจากระบบ MACD-ATH อาจทำให้หลายๆท่านเห็นผลตอบแทนแล้วรู้สึกตื่นเต้นกันไม่น้อย ผมจึงอยากที่จะพูดถึง “ข้อควรระวังเพิ่มเติม” ในการนำไปปรับใช้เอาไว้ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ

  1. ระบบ MACD-ATH เป็นระบบการลงทุนแบบ Long-Term Trend Following (LTTF) มันจึงมี Win Rate ที่ไม่สูงนักเพียงราวๆ 40% ของสัญญาณทั้งหมดเท่านั้น คุณจึงไม่ควรตัดสินผลของมันจากความแม่นยำโดยเฉพาะในระยะสั้นๆ
  2. อย่าได้กลัวสูญเสียกำไรที่เกิดขึ้นในระหว่างการลงทุนไป เนื่องจากกลยุทธ์แบบ LTTF มีธรรมชาติคือขาดทุนบ่อย แต่เวลาได้จะได้ไม้หนักๆ ดังนั้นถ้าคุณแหกระบบรีบชิงขายเพื่อ Take Profit คุณจะทำลายโอกาสที่จะได้กำไรก้อนใหญ่มากลบการขาดทุนก้อนเล็กๆจนระบบพังอย่างแน่นอน
  3. จากการที่ระบบมี False Signal ที่สูงถึง 60% คุณจึงต้องมีวินัยที่จะตัดขาดทุนตามสัญญาณทุกครั้ง เพื่อไม่ให้การขาดทุนกลายเป็นก้อนใหญ่ และทำให้กำไรที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลบการขาดทุนได้
  4. ระบบไม่ได้เทพขนาดทกำไรได้ทุกวัน, ทุกเดือน หรือทุกปี (อยากได้ระบบแบบนี้มีแต่ในนิยายนะครับ ขนาดกองทุนระดับตำนานหลายๆกองยังทำไม่ได้เลยครับ :D) โดยจะมีช่วงที่จมอยู่กับการขาดทุน, Flat Period หรือ Underperformance เป็นระยะ ซึ่งสถิติสำคัญที่คุณควรรู้คือช่วง Flat Period ที่ยาวนานที่สุดคือ 4 ปีในช่วงต้มยำกุ้ง คุณจึงต้องมองโลกในระยะยาว และรู้จักรอให้เป็นและทำตามระบบเรื่อยๆจนกว่าตลาดจะเริ่มกลับมาดีอีกครั้ง
  5. ระบบ MACD-ATH เป็นระบบที่มีกำไรโดยเฉลี่ยต่อการซื้อขายในแต่ละครั้งสูงไม่สูงมาก มันจึงเหมาะสมที่จะเป็นกลยุทธ์ให้คนที่มีพอร์ตขนาดเล็กถึงขนาดกลางๆเท่านั้น (ผลการทดสอบนี้ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจากขนาดของพอร์ตที่จะใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆนะครับ) โดยเมื่อพอร์ตคุณใหญ่ขึ้นคุณจะต้องหาระบบการลงทุนที่เหมาะสมกับขนาดพอร์ตของคุณต่อไป เพราะไม่เช่นนั้น Slippage ที่เกิดจากพอร์ตที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จะค่อยๆกินต้นทุนและ Performance ของคุณจนหมดไปนั่นเอง

บทสรุปของระบบ MACD-ATH

สุดท้ายนี้ หลังจากที่ผมได้เล่าเรื่องของระบบการลงทุน MACD-ATH จนจบแล้วนั้น ผมก็ว่าอยากทิ้งท้ายไว้ว่าแม้บทความนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ MACD Indicator แต่แท้จริงแล้วผมอยากบอกว่า Indicator ต่างๆนั้นไม่ใช่ Holy Grail ที่หลายๆคนพยายามตามหากันสักเท่าไหร่หรอกนะครับ หากแต่มันคือความเข้าใจถึงพฤติกรรมและจุดอ่อนของตลาด แล้วจึงเลือกใช้หรือปรับปรุง Indicator ต่างๆที่คุณมีให้เข้ากับพฤติกรรมในภาพรวมของตลาดที่มีความคงทนในระยะยาวต่างหาก (Robust Anomaly) ซึ่งเมื่อคุณเข้าใจหลักการที่สำคัญตรงนี้แล้ว คุณก็จะสามารถเปลี่ยนกิ่งไม้ (Indicator แย่ๆ) ให้เป็นยอดกระบี่ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก! 

สำหรับบทความระบบการลงทุน MACD-ATH นี้ก็คงจะขอจบเพียงเท่านี้ หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อย ยังไงใครอ่านแล้วชอบ ผมฝากไลค์ฝากแชร์ ฝากอ้างอิงกลับมาถึงเรา หรือมาใช้บริการต่างๆของ SiamQuant เพื่อสนับสนุนทีมงานกันด้วยนะครับผม แล้วเจอกันใหม่บทความหน้า ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ 😀

Write A Comment