งานวิจัยและบทความทั้งหมด

สถิติตลาดหุ้นไทยกับสงครามของอเมริกา

SiamQuant Team
ติดตามพวกเรา

สงคราม! คือคำสั้นๆที่ทำให้นักลงทุนต้องหวาดผวา ดังนั้น ในวันนี้ผมจึงอยากที่จะนำเอาสถิติผลตอบแทนของดัชนี SET Index เมื่อเกิดสงครามที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้องในอดีตมาให้ได้เรียนรู้กัน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้นักลงทุนไทยมีสติและความเข้าใจในการรับมือกับมัน หากว่ามีสงครามหรือปฎิบัติการใดๆเกิดขึ้นในอนาคตครับ!

สงครามโดยสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีดัชนี SET Index

“สงคราม” ถือเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน และยังจะคงอยู่คู่กับพวกเราไปตลอดกาล ดังนั้นแล้วในฐานะของนักลงทุนนั้น สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่เสมอเช่นนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ควรจะต้องถูกทำความเข้าใจอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะเตรียมตัวรับมือกับสงครามต่างๆที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตสักวันใดวันหนึ่ง

โดยที่ในบทความนี้นั้น เราจะนำเอาผลของการทำวิจัยแบบ “Event Study” หรือการศึกษาผลตอบแทนของดัชนี SET Index ภายหลังจากที่เกิดสงครามและปฎิบัติการต่างๆของทางสหรัฐอเมริกา (US) มาให้ศึกษากัน เนื่องจากผลกระทบของสงครามโดย US นั้นมักที่จะเป็นข่าวใหญ่ และก่อให้เกิดผลกระทบไปยังตลาดหุ้นทั่วโลกกันในปัจจุบันนั่นเอง 

โดยที่เหตุการณ์ที่จะนำมาศึกษานั้นจะนำมาจากสงครามและปฎิบัติการบางส่วนที่ถูกบันทึกไว้ใน List of wars involving the United States ตั้งแต่ช่วงปี 1975-2015 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีตลาดหุ้นไทยและดัชนี SET Index เกิดขึ้นแล้ว โดยจะประกอบไปด้วยเหตุการณ์หลักๆดังนี้ครับ

สถานที่เกิด ชื่อปฎิบัติการ วันที่เริ่มต้นปฎิบัติการเป็นครั้งแรก
Zaire Shaba II 1978-05-11
Lybia Freedom of Navigation 1981-08-18
Lebanon Multinational force in Lebanon 1982-08-23
Lebanon Multinational force in Lebanon 1982-09-29
Grenada Urgent Fury 1983-10-25
Lybia The Line of Death 1986-03-24
Lybia Operation El Dorado Canyon 1986-04-15
Panama Just Cause 1989-12-21
Saudi Arabia Desert Shield 1990-08-07
Iraq Desert Storm 1991-01-17
Somalia Gothic Serpent 1993-08-23
Haiti Uphold Democracy 1994-09-19
US 911 Attacked 2001-09-11
Afghanistan Enduring Freedom 2001-10-08
Iraq Iraqi Freedom 2003-03-19
Iraq New Dawn 2010-09-01
Afghanistan Freedom’s Sentinel 2015-01-05

ตารางที่ 1 : สงครามและปฎิบัติการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ. 1975-2015

ผลกระทบจากสงครามและปฎิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกา

ภาพที่ 1 : ร้อยละของผลตอบแทนตามคาบเวลา (Trading Days) ตั้งแต่วันเริ่มต้นปฎิบัติการที่ Day0 จนถึงวันที่ Day+260

Day0 Day+3 Day+5 Day+10 Day+20 Day+60 Day+120 Day+260
Average 0.00% -0.47% -0.12% 0.18% 1.94% 5.35% 13.12% 21.29%
Median 0.00% 0.00% 0.00% 1.00% 2.00% 2.00% 9.00% 7.00%

ตารางที่ 2 : ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยจากเหตุการณ์ทั้งหมดตามคาบเวลา (Trading Days) แบบค่าเฉลี่ยเลขคณิต (Average) และแบบมัฐยฐาน (Median) ตั้งแต่วันเริ่มต้นปฎิบัติการที่ Day0 จนถึงวันที่ Day+260

โดยจากการศึกษาถึงผลกระทบนั้นพบว่า ภายหลังการเกิดขึ้นของปฎิบัติการทางทหารที่ Trading Day0 นั้น เหตุการณ์ส่วนใหญ่มักทำให้ดัชนี SET Index ค่อยๆไล่ระดับวิ่งขึ้นไป โดยเริ่มมีค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนจากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เป็นบวกตั้งแต่ Day+10 ขึ้นไป จนทำให้ในวันที่ Trading Day+260 นั้น (ซึ่งก็คือราว 1 ปี เนื่องจากนับเฉพาะวันที่ตลาดเปิดทำการ) มีเหตุการณ์ที่ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกกว่า 70% โดยเป็นบวก 11 จากเหตุการณ์ทั้งหมด 17 ครั้งเลยทีเดียว 

โดยเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดติดลบภายในช่วง 1 ปีถัดมานั้นมีเพียง 5 เหตุการณ์ก็คือปฎิบัติการณ์ Urgent Fury ในลิเบียเมื่อปี 1983, Just Cause ในปานามาปี 1989, Desert Shield เพื่อปกป้องซาอุดิอาราเบียในปี 1990, Uphold Democracy ในเฮติปี 1994 และ Freedom’s Sentinel ในอัฟกานิสฐานเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา

สงครามมักเป็นนรกสำหรับผู้เผชิญชะตากรรม แต่อาจเป็นสวรรค์ของนักลงทุน

จากข้อมูลที่เกิดขึ้นนั้น เราจะเห็นได้ว่าแม้สงครามจะเป็นเรื่องที่โหดร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่มันมักทำให้ตลาดหุ้นไทย (และตลาดหุ้นอเมริกา) มีผลตอบแทนที่เป็นบวกหลังจากเกิดปฎิบัติการขึ้นเป็นครั้งแรกไม่นานนัก (หรืออาจพูดได้ง่ายๆว่าถ้าจะเกิดก็ขอให้เกิดเร็วจบเร็วจะดีที่สุด) 

ดังนั้นแล้ว ในฐานะนักลงทุนนั้น เราจึงไม่ควรที่จะตื่นตระหนกจนเกินไปเมื่อเกิดเหตุสงครามขึ้นมาจริงๆ เพราะจากสถิติที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันมักให้ผลที่เป็นบวกกับตลาดหุ้นนั่นเอง (ยกเว้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งเราต้องเข้าไปเอี่ยวด้วยจริงๆนะครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นน่าจะพังกันหมดฮะ T_T) 

สุดท้ายนี้ อยากเน้นย้ำว่าถึงตลาดจะมีโอกาสขึ้นมากกว่าลง แต่ผมไม่ได้อยากให้มีสงครามนะครับ! และโดยส่วนตัวแล้วก็ขอให้ไม่เกิดสงครามกันขึ้นจนบายปลายไปทั่วโลกเช่นกัน 

หวังว่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่บทความหน้าครับ 🙂

Write A Comment