บทความพิเศษ

รีวิวผลตอบแทน 40 กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี ค.ศ. 2021

Thanadon Praphutikul

ในบทความนี้เราจะมารีวิวผลตอบแทนของ 40 กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ที่สร้างขึ้นมาจากแนวคิดของนักลงทุนระดับโลกประจำปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมากัน

โดยสำหรับในปี 2021 นั้นเป็นปีที่ดัชนี SETTRI Index มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.67% ซึ่งภาพรวมถือว่าตลาดมีแนวโน้มที่เป็นขาขึ้นภายหลังการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เมื่อปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เรากลับพบว่ากลยุทธ์การลงทุนส่วนใหญ่ได้ให้ผลตอบแทนในระดับที่ดีเยี่ยมเหนือกว่าตลาดเป็นอย่างมาก!!

โดยในการรีวิวนี้ผมได้นำ 40 กลยุทธ์การลงทุนใน SiamQuant AlphaSuite ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นมาโดยยึดหลักการแนวคิดของเซียนหุ้นระดับโลก มาเป็นตัวแทน (Proxy) ของกลยุทธ์การลงทุนที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักใช้กัน และนำมาทำการทดสอบในตลาดหุ้นไทยให้เพื่อนๆพี่น้องนักลงทุนได้เห็นถึงประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุนในแต่ละแนวทางที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถที่จะเปรียบเทียบผลตอบแทนของตัวคุณเอง ได้ในมุมมองที่กว้างกว่าเพียงการเปรียบเทียบกับดัชนี SETTRI Index ซึ่งถึงแม้ว่าเป็นดัชนีตัวแทนของผลตอบแทนรวมเงินปันผลในรูปแบบ Market Value-Weighted Index แต่หุ้นที่มีน้ำหนักมากที่สุดเพียง 50 ตัวแรกกลับมีน้ำหนักอยู่ที่ราวๆ 70% ของดัชนีเลยทีเดียว โดยผมหวังว่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านครับ!

40 กลยุทธ์การลงทุนจากแนวคิดของเซียนหุ้นระดับโลก

ภาพที่ 1 : ภาพแสดงเส้น Equity ของกลยุทธ์ทั้งหมดใน SiamQuant AlphaSuite เปรียบเทียบกับดัชนี SETTRI Index (เส้นสีดำ) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2012-01-01 ถึง 2021-12-31

สำหรับการรีวิวผลตอบแทนของกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 40 รูปแบบในบทความนี้นั้น ผมได้นำเอากลยุทธ์การลงทุนจากแนวคิดของเซียนหุ้นชื่อดังต่างๆที่ผมและทางทีมงาน SiamQuant ได้เคยวิจัย และเผยแพร่ชุด Code Template เอาไว้ใน SiamQuant Amibroker’s AlphaSuite มาทำการทดสอบถึงผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยกันออกมา โดยที่เราสามารถที่จะแบ่งกลยุทธ์ต่างๆออกเป็น 5 กลุ่มหลักๆ ตามแนวทางและปรัชญาการลงทุนที่แตกต่างกันไปดังต่อไปนี้

  • Momentum/Trend Following : แนวคิดการลงทุนที่พิจารณาที่ความแข็งแกร่งและแนวโน้มของราคาหุ้นเป็นหลัก โดยในแต่ละกลยุทธ์นั้นก็จะมีแนวคิดและใช้เครื่องมือทางเทคนิคในการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น กลยุทธ์ของ Jesse Livermore, Mark Minervini รวมถึง Mangmao All-Time-High ที่เราเคยได้เผยแพร่เอาไว้
  • Growth Investing : แนวคิดการลงทุนที่พิจารณาแนวโน้มการเติบโตของกิจการจากข้อมูลปัจจัยพื้นฐาน โดยจะเน้นลงทุนในหุ้นของกิจการที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง อาทิเช่นกลยุทธ์การค้นหาหุ้น 10 เด้งของ Peter Lynch
  • Value Investing : แนวคิดการลงทุนแนวหุ้นคุณค่าที่พยายามหาหุ้นที่มีราคาตลาดต่ำกว่าราคาเหมาะสม (Intrinsic Value) โดยในแต่ละกลยุทธ์นั้นก็จะมีแนวคิดและวิธีการคำนวนราคาเหมาะสมจากข้อมูลปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น กลยุทธ์ Buffettology ของ Marry Buffett, NCAV ของ Benjamin Graham หรือ Enterprise Multiple ของ Tobias Carlisle 
  • Dividend Investing : แนวคิดการลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ให้เงินปันผลสูง อาทิเช่นกลยุทธ์หุ้นปันผล 10-11-12 ของ Marc Lichtenfeld หรือ Chowder Rule ของ Lowell Miller
  • Hybrid Investing  : แนวคิดการลงทุนแบบผสมผสาน โดยใช้ทั้งการวิเคราะห์แนวโน้มราคาหุ้นด้วยปัจจัยเทคนิค, การวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของกิจการ และ การวิเคราะห์ราคาเหมาะสมจากข้อมูลปัจจัยพื้นฐาน โดยในแต่ละกลยุทธ์การลงทุนนั้นก็จะมีแนวคิดการผสมผสานปัจจัยต่างๆที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น CANSLIM ของ O’Neil, Earning Surprise Breakout ของ Driehaus และ Zulu Principle ของ Jim Slater

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์การลงทุนในแนวทางทั้ง 5 นั้น ก็ค่อนข้างที่จะเพียงพอต่อการทำให้เราได้เห็นถึงภาพรวมของผลตอบแทนของนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากพวกมันถือได้ว่าเป็นแนวทางหลักๆที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยได้นำเอามาปรับใช้กันอย่างกว้างขวางนั่นเองครับ

สถิติผลตอบแทนในภาพรวมของ 40 กลยุทธ์การลงทุนของปี 2021

สำหรับการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนต่างๆเพื่อวัดผลตอบแทนในบทความนี้ เพื่อให้ผลลัพธ์นั้นได้สะท้อนถึงข้อจำกัดและสภาพแวดล้อมต่างๆของนักลงทุนส่วนบุคคลหรือรายย่อยในตลาดหุ้นไทยจนเกิดความสมจริงในระดับหนึ่ง ผมจึงได้ทำการทดสอบกลยุทธ์กำหนดเงื่อนไขต่างๆในระดับที่ไม่ได้เข้มงวดมากนัก ดังต่อไปนี้ (Mild Backtesting Restriction & Environment)

Condition Details
Backtesting Window
  • 01/01/2012 – 31/12/2021
Backtesting Restriction
  • เงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
  • อัตราค่า Commission 0.15% (รวมซื้อขาย 0.3%)
  • Long Only
  • ทดสอบบนฐานข้อมูล SiamQuant Hybrid Database  ที่รวมเงินปันผล
Universe
  • All Stocks หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์
Entry
  • ตามแนวคิดของแต่ละระบบ
Exit
  • ตามแนวคิดของแต่ละระบบ
Filters
  • กรองข้อมูลที่มีความผิดพลาดออกด้วย SQDataFilter(0)
Position Size
  • ตามแนวคิดของแต่ละระบบ
Position Score
  • ตามแนวคิดของแต่ละระบบ
Order Management
  • ทำการซื้อขายราคาเปิด (Open) ของวันถัดไปของวันที่เกิดสัญญาณ)

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขสำหรับการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 40 ระบบใน AlphaSuite

โดยหลังจากที่เราได้กำหนดเงื่อนไขการทดสอบต่างๆไว้เรียบร้อยแล้วนั้น ผมและทางทีมงาน SiamQuant ก็ได้ค่อยๆไล่ Backtest กลยุทธ์การลงทุนต่างๆใน AlphaSuite กันออกมา จากนั้นจึงนำผลลัพธ์ที่ได้มาทำการคิดผลตอบแทนเฉพาะช่วงปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมาดังนี้

ภาพที่ 2 : ภาพแสดงเส้น Equity ของกลยุทธ์ทั้งหมดใน SiamQuant AlphaSuite เปรียบเทียบกับดัชนี SETTRI Index (เส้นสีดำ) ตั้งแต่วันที่ 2021-01-01  ถึง 2021-12-31

ภาพที่ 3 : Bar Chart แสดงผลกำไร (Net Profit) ของกลยุทธ์ทั้งหมดใน SiamQuant AlphaSuite เปรียบเทียบกับดัชนี SETTRI Index (เส้นสีดำ) ตั้งแต่วันที่ 2021-01-01  ถึง 2021-12-31

Strategy Net Profit (%) Max. DD (%) Longest DD Correlation with SETTRI
SQ Oberweis Octagon 123.9 -17.57 5.6 0.5
SQ Minervini Trend template 111.69 -12.33 2.5 0.54
SQ CANSLIM (Modified) 108.09 -10 2.25 0.46
SQ Tiny Titan 106.55 -10.21 3.65 0.51
SQ EdSeyKoTa 99.17 -9.6 1.15 0.38
SQ Mangmao ATH 80.13 -12.75 2.4 0.54
SQ Elder Triple Screen With Force index (Modified) 77.49 -9.52 3.5 0.51
SQ Turtle Trading Signals 73.1 -16.05 4.35 0.36
SQ Elder Triple Screen With Force index 69.9 -9.47 2.65 0.4
SQ Darvas 61.76 -19.23 5.7 0.38
SQ Magic Formula 60.6 -6.85 3.3 0.49
SQ Fibo Triple Moving Average 57.52 -8.42 1.15 0.55
SQ TenBagger (Modified) 56.93 -8.78 3.2 0.62
SQ NCAV Graham 56.35 -15.45 4.4 0.56
SQ MACD-ATH 56.25 -21.28 4.8 0.53
SQ Livermore 55.51 -7.44 2.55 0.62
SQ Enterprise Multiple 50.29 -7.14 3.65 0.56
SQ Walter Schloss 50.02 -8.89 3.35 0.68
SQ Chowder Rule 43.61 -6.63 1.75 0.65
SQ F-Score 43.48 -15.41 7.85 0.54
SQ Mangmao ATH with SET Filter 40.9 -7.97 4.8 0.6
SQ Buffettology (Modified) 40.75 -6.46 3.15 0.48
SQ 52 Week High 38.79 -10.12 5.25 0.53
SQ Rinen System 36.46 -4.87 2.55 0.74
SQ Buffettology 35.5 -5.26 3.1 0.71
SQ PE Band 32.16 -4.63 1.9 0.66
SQ Marc Lichtenfeld 10-11-12 31.04 -9.68 7.9 0.65
SQ Earning Surprise Direhaus 26.85 -15.55 7.8 0.55
SQ Shareholder Yield 25.92 -14.08 7.05 0.64
SQ Z-Score 1968 22.8 -7.27 5.95 0.58
SQ Elder Triple Screen With MACD (Modified) 22.28 -9.59 6.6 0.62
SQ Elder Triple Screen With MACD 21.5 -11.79 4.85 0.51
SQ The Golden Goose 21.36 -5 5.95 0.57
SQ Z-Score 1985 20.74 -6.94 5.95 0.6
SETTRI Index 17.67 -6.98 2.6 1
SQ Kenneth Fisher Growth Stock 13.2 -11.37 7 0.55
SQ ZULU Principle 3.94 -6.82 8.05 0.46
SQ TenBagger 0.66 -0.91 7.55 0.3
SQ CANSLIM -0.85 -1.09 7.05 0.06
SQ Larry William OOPs -8.3 -8.32 12 0.17
SQ Simple MACD -8.32 -10.45 11.65 0.26

ตารางที่ 2 : ตารางแสดงค่าสถิติของกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 40 ระบบใน AlphaSuite ในช่วงปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา (ตารางสามารถคลิ้กที่ชื่อกลยุทธ์สีเขียวเพื่ออ่านบทความเพิ่มเติมได้ครับ)

โดยจากผลการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 40 รูปแบบในปี 2021 นั้น เราสามารถที่จะสรุปประเด็นต่างๆที่น่าสนใจต่างๆได้ดังนี้

หมายเหตุที่ 1 : สำหรับผลการทดสอบดังกล่าวเกิดจากการทดสอบระยะยาว 10 ปี แล้วจึงทำการตัดผลตอบแทนเฉพาะของปี 2021 มาทำการประเมินประสิทธิภาพนี้ ซึ่งผลลัพธ์อาจจะมีความแตกต่างจากการทดสอบเฉพาะปี 2021 เนื่องจากการทดสอบในระยะยาวจะมีหุ้นบางส่วนที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอมาตั้งแต่ก่อนปี 2021 นั่นเอง

สรุปประเด็นที่น่าสนใจของผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจาก 40 กลยุทธ์การลงทุนในปี 2021

1. กลยุทธ์การลงทุนส่วนมากนั้นมีผลตอบแทนเป็นบวกและชนะตลาดเป็นส่วนใหญ่

สำหรับปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทย (ดัชนี SETTRI Index) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.67% โดยเมื่อเราพิจารณากลยุทธ์การลงทุนที่อยู่ใน AlphaSuite ทั้งหมด 40 กลยุทธ์พบว่ามี 34 กลยุทธ์จากทั้งหมด 40 กลยุทธ์หรือคิดเป็น 85% ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เหนือดัชนี SETTRI Index 

ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในช่วงระยะที่ผ่านมาปัจจัยที่เป็นรากฐานของกลยุทธ์ต่างๆใน AlphaSuite ทั้งปัจจัยด้านแนวโน้มของราคา (Momentum), ปัจจัยเชิงคุณค่า (Value), ปัจจัยด้านการเติบโตของกิจการ (Growth) และ ปัจจัยด้านเงินปันผล (Dividend) นั้นล้วนแล้วแต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap Factor) 

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตลาดนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  1. เป็นกลยุทธ์ที่มีเงื่อนไขในการคัดกรองที่เข้มงวดจนเกินไป เป็นเหตุให้มีหุ้นจำนวนน้อยที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองทำให้กลยุทธ์มีสัดส่วนการถือเงินสดเป็นปริมาณมาก โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ กลยุทธ์การลงทุน CANSLIM ของ William J’ Oneil ซึ่งสัดส่วนการถือครองเงินสดจะอยู่ช่วง 95-100% ตลอดช่วงปี 2021 อย่างไรก็ตาม เมื่อเรานำกลยุทธ์การลงทุน CANSLIM มาทำการปรับแต่งให้มีความเหมาะสมกับสภาพตลาดหุ้นไทยเราจะพบว่ากลยุทธ์การลงทุน CANSLIM ฉบับปรับปรุงโดยทีมงาน SiamQuant นั้นให้ผลตอบแทนสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 โดยมีผลตอบแทนเท่ากับ 108.09% และนอกจาก CANSLIM แล้วกลยุทธ์อื่นๆที่อยู่ในลักษณะดังกล่าว เช่น กลยุทธ์การลงทุน ZULU Principle และกลยุทธ์การลงทุนหุ้นสิบเด้งของ Peter Lynch เป็นต้น
  2. เป็นกลยุทธ์ที่ให้ผลคอบแทนคาดหวัง (Expectancy) เป็นลบ เช่น กลยุทธ์การลงทุน Simple MACD และกลยุทธ์การลงทุน OOPs ของ Larry Williams เนื่องจากกลยุทธ์ดังกล่าวจะมีลักษณะร่วมกันคือ สัญญาณที่เกิดให้ซื้อขายมีปริมาณที่มากแต่กลับมาความแข็งแรงของสัญญาณในระดับที่ต่ำ รวมถึงมีช่วงระยะเวลาการถือครองหุ้นนั้นมีระยะเวลาที่สั้น ทำให้ผลตอบแทนคาดหวังโดยเฉลี่ยต่อการซื้อขายหนึ่งครั้งอยู่ระดับที่ต่ำ ซึ่งในการทดสอบดังกล่าวได้มีการเพิ่มปัจจัยด้านต้นทุนของการซื้อขายประกอบด้วย อัตราค่าคอมมิสชั่น และค่าความคลาดเคลื่อนจากการซื้อขาย (Slippage) ทำให้ค่า Expectancy โดยรวมกลยุทธ์ติดลบจนเป็นเหตุให้ภาพรวมผลตอบแทนของกลยุทธ์เหล่านี้ให้ผลตอบแทนที่เป็นลบนั่นเองครับ

2. Momentum/Long-Term Trend Following คือกลยุทธ์ที่โดดเด่นในปี 2021 นี้

ในแง่ของกลุ่มกลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด 10 กลยุทธ์ในปีนี้นั้น พบว่ากลยุทธ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีปัจจัยที่เป็นรากฐานของผลตอบแทนร่วมกันคือปัจจัยด้านแนวโน้มของราคา (Momentum) หรือ Trend Following ที่มุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนจากแนวโน้มขาขึ้นครั้งใหญ่ทั้งสิ้น

โดยมีสาเหตุหลักเนื่องจากจุดเด่นของกลยุทธ์ประเภท Long-Term Trend Following นั้นคือ การเลือกลงทุนในช่วงที่หุ้นมีแนวโน้มราคาเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน และหลีกเลี่ยงการถือครองหุ้นที่อยู่ในขาลง ซึ่งในปี 2021 นี้ถือเป็นภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยต่อกลยุทธ์ประเภทดังกล่าว เนื่องจากภาวะตลาดโดยรวมนั้นมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนหุ้นที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นครั้งใหญ่ในตลาดนั้นมีปริมาณที่มากตามไปด้วย และจะทยอยลดสักส่วนการถือครองเมื่อหุ้นหมดแนวโน้มเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน

ด้วยสภาวะเช่นนี้เอง จึงทำให้กลยุทธ์แบบ Trend Following สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่ากลยุทธ์ประเภทอื่นๆในช่วงปีนี้ เนื่องจากกลยุทธ์ล้วนแล้วแต่คัดหุ้นที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอทั้งสิ้น

3. แม้ว่ากลยุทธ์ส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด แต่ในระยะสั้นๆกลยุทธ์ต่างๆก็มีช่วงเวลาที่ย่ำแย่เช่นกัน

ในประเด็นสุดท้ายนี่เราพบว่าแม้ว่ากลยุทธ์ส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด แต่ในระยะสั้นๆก็มีช่วงเวลาที่ย่ำแย่เช่นกัน โดยเมื่อเรานำกลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทนเหนือตลาด (Outperformance) ทั้ง 34 กลยุทธ์มาพิจารณาจะได้ดังนี้

Statistics Net Profit (%) Max. DD (%) Longest DD (Months) Correlation with SETTRI
SETTRI Index 17.67 -6.98 2.6 1
Total 34.00 34.00 34.00 34.00
Average 54.69 -10.36 4.19 0.55
Median 50.16 -9.56 3.65 0.55
Minimum 20.74 -21.28 1.15 0.36
Maximum 123.90 -4.63 7.90 0.74
STDev 28.67 4.27 1.93 0.09

ตารางที่ 3 : ตารางแสดงค่าสถิติของกลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทนเหนือตลาด (Outperformance) ในช่วงปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา

จากตารางข้างต้นจะแสดงให้เห็นว่าแม้ว่ากลยุทธ์เหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดแต่หากพิจารณาในด้านของความเสี่ยงซึ่งวัดโดยอัตราการถดถอยสูงสุดของพอร์ตโฟลิโอหรือค่า Maximum Drawdown นั้นพบว่าโดยเฉลี่ยกลยุทธ์เหล่านี้มีค่า Max. DD ที่ -10.36% เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนี SETTRI Index ที่ -6.98% หรือสูงกว่าดัชนี SETTRI ที่ราวๆ -3.38%  ทั้งนี้กลยุทธ์ที่มีอัตราการถดถอยของพอร์ตโฟลิโอสูงที่สุดคือ -21.28% (กลยุทธ์การลงทุน MACD-ATH)

นอกจากนี้หากวัดในแง่ของช่วงระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดที่พอร์ตโฟลิโอไม่ทำจุดสูงสุดใหม่หรือค่า Longest Drawdown นั้นพบว่าโดยเฉลี่ยกลยุทธ์เหล่านี้มีช่วงระยะเวลาที่พอร์ตโฟลิโอไม่ทำจุดสูงสุดนานถึง 4.19 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนี SETTRI Index ที่ 2.6 เดือน ทั้งนี้กลยุทธ์ที่มีช่วงระยะเวลาที่นานที่สุดที่พอร์ตโฟลิโอไม่ทำจุดสูงสุดใหม่คือ 7.9 เดือน (กลยุทธ์การลงทุน Marc Lichtenfeld 10-11-12) 

ดังนั้น จะสังเกตได้ว่ากลยุทธ์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่สูงกว่าตลาดเหล่านี้นั้น ก็มีช่วงระยะเวลาที่พอร์ตโฟลิโอปรับตัวลดลงและเป็นช่วงที่พอร์ตไม่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่เช่นกัน ซึ่งหากนักลงทุนขาดความเข้าใจในกลยุทธ์อย่างถ่องแท้ รวมถึงมีทัศนคติในการลงทุนที่ไม่เหมาะสมก็มักจะไม่สามารถทนรับกับช่วงเวลาเหล่านี้ได้ จนทำให้หลายๆคนไม่สามารถมีวินัยอยู่กับกลยุทธ์จนสร้างผลตอบแทนอย่างเป็นที่น่าพอใจได้ในที่สุด

บทสรุปการรีวิวผลตอบแทนของ 40 กลยุทธ์การลงทุนจากแนวคิดของเซียนหุ้นระดับโลกในปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา

จากข้อมูลผลตอบแทนของทั้ง 40 กลยุทธ์ของปี 2021 ที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่าดัชนี SETTRI Index ได้มีการปรับเพิ่มขึ้น 17.67% โดยในช่วงปีที่ผ่านมานั้นพบว่ากลยุทธ์การลงทุนกว่าส่วนใหญ่ AlphaSuite นั้นจะให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก ซึ่งมีกลยุทธ์การลงทุนกว่า 85.00% ที่ยังคงให้ผลตอบแทนที่มากกว่า 17.67% หรือให้ผลตอบแทนที่ชนะดัชนี SETTRI Index 

แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายๆสิ่ง ที่มีสำคัญมากกว่าผลตอบแทนที่เป็นบวกหรือเป็นลบ เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของกลยุทธ์อย่างลึกซึ้ง, การบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยง รวมถึง วินัยในการปฎิบัติตามกลยุทธ์ที่ดีไปจนตลอดรอดฝั่ง เป็นต้น

และนี่ก็คือบทสรุปการรีวิวผลตอบแทนของ 40 กลยุทธ์การลงทุนจากแนวคิดของเซียนหุ้นระดับโลก ในตลาดหุ้นไทยในปี 2021 นี้ หวังว่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านครับ 😀

Write A Comment