บทความแปลและสรุป

เล่าสู่กันฟัง : ต้นกำเนิดของ D.E. Shaw Quant Hedge Fund ที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล

Koedkao Peeratiyuth

ในบทความนี้จะเป็นการ “เล่าสู่กันฟัง” ถึงความเป็นมาของ D.E. Shaw ซึ่งเป็นหนึ่งใน Quant Hedge Fund ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารถึง 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ณ สิ้นปี 2018) รวมถึงเคยเป็นที่ทำงานเก่าของ Jeff Bezos บุคคลที่รวยที่สุดในโลกผู้ก่อตั้ง Amazon.com นั่นเอง

โดยแนวคิดการวิจัยค้นหากลยุทธ์การลงทุนด้วยกระบวนการคณิตศาสตร์และสถิติจากข้อมูลเชิงปริมาณหรือที่เรียกว่า Quantitative นั้นอาจเป็นเรื่องที่ดูใหม่ในสายตาของนักลงทุนไทย แต่จริงๆแล้วแนวคิดการวิเคราะห์ในรูปแบบนี้นั้นถูกนำมาใช้และมีหลักฐานความสำเร็จเชิงประจักษ์มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90 แล้ว

ซึ่งเรื่องราวของ D.E. Shaw นี้ ถือเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของพวกเราทีมงาน SiamQuant ที่ทำให้เรามีความเชื่อว่าการลงทุนแบบ Quantitative Investing ที่มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ และสถิตินั้นจะสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่พิชิตตลาดหุ้นไทยได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ไม่ต่างจากที่ D.E. Shaw เคยพิชิตตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว 

จากกลุ่มคนนอกรีต สู่นักปฎิวัติแห่ง Wall Street

ภาพที่ 1 : David E. Shaw ศาสตราจารย์สาขา Computer Science ผู้ก่อตั้ง Quant Hedge Fund D.E. Shaw

ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1988 Donald Sussman ผู้จัดการกองทุน Hedge Fund ชื่อดัง ได้รับโทรศัพท์จาก David Shaw อดีตศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียสาขา Computer Science ซึ่งในขณะนั้นอายุได้ 37 ปี และทำงานอยู่ใน “หน่วยลับ” ของ Morgan Stanly ที่ทำการทดลองการลงทุนด้วยกลยุทธ์ที่พัฒนามาจากการสร้าง Computer Model และวิเคราะห์ข้อมูลราคาย้อนหลัง ซึ่งก็คือการลงทุนเชิง Quantitative ยุคแรกๆนั่นเอง!!

ในตอนนั้น David Shaw ต้องการคำปรึกษาจาก Donald Sussman ผู้ซึ่งคร่ำหวอดในวงการการเงิน ถึงข้อเสนอจาก Goldman Sach ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งกับ Morgan Stanly ที่ Shaw ทำงานอยู่ในขณะนั้น แต่สิ่งที่ Sussman พบหลังจากพูดคุยกับ Shaw นั้นคือแนวคิดการลงทุนด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่มาจากการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยีและ Computer Model ซึ่งแปลกใหม่ออกไปจากแนวทางของคนหมู่มากใน Wall Street ในยุคนั้นอย่างสิ้นเชิง

หลังจาก Sussman และหุ้นส่วนของเค้าได้ฟังในสิ่งที่ Shaw เล่าเขาก็ได้ยื่นข้อเสนอให้กับ Shaw เป็นจำนวน 30 ล้านดอลล่าร์สหรัฐทันที (ซึ่งเป็นการเกทับข้อเสนอจาก Goldman Sach) เนื่องจาก Shaw ได้เล่าให้ฟังถึงแนวคิดของเขาที่จะใช้ Computer Model มาสร้าง Portfolio การลงทุนที่เป็นกลาง (Market Neutral) ซึ่งจุดเด่นก็คือ ทำให้สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่เอาชนะตลาดได้ไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลงก็ตาม

โดยถึงแม้ว่าในยุคนั้น Hedge Fund ต่างๆก็ได้เริ่มมีการใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น Black–Scholes model มาใช้ในการพัฒนากลยุทธ์การลงทุนอยู่บ้างแล้ว แต่สิ่งที่ Shaw วาดภาพไว้นั้นคือการยกระดับการใช้คณิตศาสตร์และ Computer ในการวิเคราะห์การลงทุนไปสู่อีกระดับนึงจนกลายมาเป็นมาตราฐานอุตสาหกรรม

และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงวงการ Hedge Fund จากบรรยากาศของ Trading Floor ที่เสียงดังและมีแต่ความวุ่นวายไปสู่บรรยากาศของห้องทำงานวิจัย Algorithm ที่เงียบกริบราวกับหอสมุดแห่งชาติ โดยในช่วงทศวรรษที่ 90  D.E.Shaw เคยส่งคำสั่งซื้อขายรวมกว่า 2% ของจำนวนคำสั่งซื้อขายทั้งหมดในตลาดหุ้น New York Stock Exchange (NYSE)

ภายในเวลาระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีนั้น ความสำเร็จของ D.E Shaw ทำให้วงการ Hedge Fund ที่เต็มไปด้วย Trader ที่ใส่สูทและมีรูปลักษณ์แบบ “Tough Guy จาก Wall Street” ได้กลายวงการที่เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และแม้กระทั่งนักดนตรี ที่ใส่กางเกงยีนและเสื้อยืด   

จาก Hedge Fund ห้องแถวสู่แนวหน้าของวงการ

ใครจะเชื่อว่าบริษัทที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ อย่าง D.E. Shaw จะมีจุดเริ่มต้นมาจากแค่ Office ที่อยู่ชั้น 2 ของร้านหนังสือ และเครื่องคอมพิวเตอร์ Sun Microsystem 2 เครื่อง ซึ่งเปรียบเทียบได้ราวกับรถ Ferrari ของคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น 

“ถ้า Shaw อยากได้ Ferrari เค้าก็ต้องได้ Ferrari” Donald Sussman ได้เคยกล่าวไว้

ภาพที่ 2 : Donald Sussman ผู้จัดการกองทุน Paloma Funds และนักลงทุนคนแรก (Angel Investor) ของ D.E. Shaw

ในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัทนั้น Shaw ไม่อยากได้ทีมงานที่เป็นผู้มีประสบการณ์จากการทำงานใน Wall Street ซึ่งแตกต่างจากวิธีการคัดเลือกคน (Recruit) ของ Hedge Fund ต่างๆในเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง Lou Salkind หนึ่งในลูกจ้างของ Shaw ในยุคก่อตั้ง ซึ่งในขณะนั้นกำลังศึกษาปริญญาเอกด้าน Computer Science กล่าวไว้ว่า “ก่อนหน้าที่จะมาทำงานกับ Shaw นั้นมีบริษัทใน Wall Street มาคุยกับผมหลายที่อยู่ ซึ่งผมเองนั้นไม่เคยชอบงานในสาย Finance เลย”

โดย Salkind นั้นมีความสนใจและหลงไหลในศาสตร์ของการเดิมพัน (Betting) โดยเขาได้เรียนรู้การนับไพ่ และสามารถที่จะสร้างระบบการแทงม้าได้ตั้งแต่อายุ 13 หลังจากที่ Salkind ได้พูดคุยกับ Shaw เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าสิ่งที่เค้าหลงไหลนั้นจะมีประโยชน์อย่างมากในการบริหาร Hedge Fund 

ความฝันของ Shaw นั้นคือ การสร้างบริษัทที่เป็นการรวมกันของเทคโนโลยีและไฟแนนซ์ โดยเขาบอกกับ Salkin ว่า ซักวันบริษัทของเขานั้นจะสามารถแทนที่ Market Maker ใน Wall Street ได้ด้วยการออกแบบระบบ Market Maker อัตโนมัติที่ทำงานด้วย Computer  “อ่อเข้าใจละเหมือน พวกเจ้ามือในบ่อนที่เก็บค่าต๋งใช่มั้ย?” หลังจากที่ได้คุยกัน Salkin ชื่นชอบแนวคิดของ Shaw เป็นอย่างมาก และได้กลายเป็นลูกจ้างคนแรกๆของ D.E. Shaw    

ในช่วงแรกๆนั้น Sussman จะมาเยี่ยมเยียนที่ Office ของ Shaw ทุกอาทิตย์ “พวกเค้า (Trader ของ D.E. Shaw) สามารถทำกำไรได้ดี ตั้งแต่ช่วงแรกๆเลย แต่บรรยากาศที่ทำงานนั้นเงียบเป็นป่าสากอย่างกับหอสมุด Congress” 

Anne Dinning  Ph.D Computer Science ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นของ Salkin ที่ New York University (NYU) ได้รู้จักและร่วมงานกับ Shaw ในช่วงปี 1990 กล่าวไว้ว่า “ตอนแรกฉันยังไม่รู้เลยว่า Hedge Fund เค้าทำอะไรกัน” โดยงานแรกที่เธอได้รับมอบหมายนั้นคือการวิเคราะห์และทำการพยากรณ์หุ้นญี่ปุ่น “ในตอนนั้นฉันไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหุ้นญี่ปุ่นหรือตลาดหุ้นญี่ปุ่นเลย โดยคอมพิวเตอร์นั้นจะเป็นคนคำนวนทุกอย่าง ซึ่งในช่วงแรกๆนั้นคอมพิวเตอร์จะทำการ Run แบบจำลอง (Simulation) 24 ชั่วโมง โดยฉันต้องตื่นมาทุกๆ 6 ชั่วโมงเพื่อตรวจสอบผลลัพธ์” Dinning กล่าวต่อ “โดยในช่วงแรกนั้น ฉันจะคอยตรวจสอบกำไรขาดทุนทุกวันเพื่อตรวจสอบว่า Algorithm นั้นทำงานอย่างที่เราคาดไว้หรือไม่ มันเหมือนกับการทดลองที่เราสามารถเห็นผลลัพธ์ได้ทันที”     

ซึ่งในระยะเวลาต่อมา Dinning นั้นได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสาขา London และ Tokyo ของ D.E. Shaw โดยทั้ง Dinning และ Salkin นั้นได้ดำรงตำแหน่งเป็น คณะกรรมการพิเศษที่บริหารบริษัทต่อหลังจากที่ Shaw ได้ถอยออกจากการบริหารงานแบบเต็มเวลาในปี 2002

จากวิสัยทัศน์การคัดเลือกบุคลากรของ Shaw นั้นทำให้บริษัทของเขาให้เป็นศูนย์รวมบุคคลากรที่มีความสามารถอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆเป็นอย่างมาก เช่น แชมป์หมากรุก, นักเขียน, นักวิทยาศาสตร์, นักดนตรี และอื่นๆ

โเงินลงทุนจำนวน 30 ล้านดอลล่าร์สหรัฐของ Sussman ในปี 1988 นั้นได้ออกดอกผลกลายมาเป็นบริษัทมูลค่ากว่า 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐภายใน 30 ปี โดยมีลูกจ้างกว่า 1000 คน และทำให้ลูกทีมในยุคก่อตั้งรวมทั้ง Dinning และ Salkin นั้นกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน โดยตัว Shaw เองนั้นมีมูลค่า (Net Worth) กว่า 5,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐจากการประมาณการของนิตยสาร Forbes 

ผู้นำด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่เรื่องการลงทุน

ระหว่างที่ D.E. Shaw นั้นกำลังรุ่งเรือง Shaw ไม่ได้หยุดอยู่แค่ความพยายามในการทำกองทุน Quantitative Hedge Fund เท่านั้น ด้วยประสบการณ์การทำงานในวงการวิชาการ Shaw ได้นำเทคโนโลยี Arpanet ซึ่งถือเป็นต้นแบบของ Internet มาใช้ในการสื่อสารในองค์กรด้วย 

ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับบริการ Email ฟรีแห่งแรกๆใน Internet  “Juno” ในปี 1996 ซึ่ง D.E. Shaw นั้นเป็นคนสนับสนุนทางการเงิน และต่อมาได้ถูกซื้อและควบรวมโดยบริการ E-mail คู่แข่ง

นอกจากนั้น Shaw ยังได้แชร์ความคิดของเขาให้กับลูกทีมของเขาฟังว่า “ผมคิดว่าในอนาคต คนจะซื้อของผ่าน Internet พวกเขาจะ Shopping ผ่าน Internet และเมื่อของที่พวกเขาซื้อนั้นสามารถใช้งานได้ดีหรือไม่ พวกเขาจะมีการ Review คุณภาพของสินค้านั้นๆ โดยคนที่ซื้อแบบเดียวกันจะได้รู้ว่าควรเลือกสินค้าชิ้นไหน” ไม่ทราบว่าผู้อ่านคุ้นๆมั้ยครับ

ในปี 1990 ชายชื่อ Jeff Bezos เข้ามาร่วมทีมที่ D.E. Shaw และได้รับมอบหมายให้ดูแลโปรเจ็ค “Online Retailing” นี้โดย Bezos นั้นมีความตื่นเต้นและสนใจไอเดียของ Shaw เป็นอย่างมาก จนต่อมา Bezos ได้เข้าไปขออนุญาต Shaw ว่าเขาจะนำแนวคิดของโปรเจ็คนี้ไปพัฒนาต่อและไปตั้งบริษัทของตัวเองได้ไหม ซึ่ง Shaw เองก็ตกลง

หมายเหตุ : ถึงแม้ Shaw จะเป็นต้นคิดไอเดียนี้แต่เขากลับไม่ได้ลงทุนใน Amazon เลย ซึ่งปัจจุบัน Amazon เป็นบริษัทที่ทำให้ Jeff Bezos นั้นขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในบุคคลที่รวยที่สุดในโลก

ภาพที่ 3 : Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon และอดีตภรรยา Mackenzie ซึ่งทั้ง 2 นั้นรู้จักกันระหว่างทำงานที่ D.E. Shaw


แม้กระทั่งการแต่งตัวของพนักงานของ D.E. Shaw นั้นต่อมาได้ก็กลายเป็นมาตราฐานของ Silicon Valley ในปัจจุบัน ที่ทุกคนมักจะแต่งกายตามสบาย โดย Shaw เคยกล่าวไว้ว่า “เรามาเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคในการทำงานของเราออกให้หมดกันเถอะ ทำไมต้องใส่เนคไทกันด้วย?!” โดยในตอนนั้นบริษัทกฏหมายที่เช่าตึกเดียวกันกับ Shaw ถึงกับย้ายออกเพื่อประท้วงการแต่งกายของพนักงาน D.E. Shaw

ในปี 2015 Eric Schmidt อดีต CEO ของ Google นั้นได้เข้าซื้อหุ้นกว่า 20% ของ D.E. Shaw ซึ่งเป็นส่วนการลงทุนของ Lehman Brother ที่ล้มละลายไปในปี 2008

ถ้าอยากชนะตลาด คุณต้อง Innovate อยู่ตลอดเวลา 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันกลยุทธ์แบบเดิมๆที่ต้องพึ่งความไร้ประสิทธิภาพของตลาดนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้น้อยลงเรื่อยๆ แต่ Shaw ก็ได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอด้วยการนำเทคนิคการวิเคราะห์และทดสอบของ Quant นั้นมาประยุกต์ใช้ในทั้งการซื้อขาย Junk Bond, การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) และในสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากตลาด โดยอาศัยกระบวนการวิจัยแบบ Quantitative ในการหาความได้เปรียบ (Edge) ในตลาด โดยยังเน้นไปที่ความเข้าใจและประสบการณ์ในตลาดของมนุษย์ ในการแปรผลและตัดสินใจการลงทุนอยู่

ปัจจุบัน Shaw นั้นได้เปลี่ยน Focus ของตนเองออกจากโลกของการลงทุนไปตั้งบริษัท D.E. Shaw Research ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเรื่องการสร้างแบบจำลองชีวะเคมีด้วย Computer โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าใจระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์และหวังว่าจะทำให้มนุษย์นั้นสามารถที่จะรักษามะเร็งหรือโรคร้ายแรงอื่นๆได้ในที่สุด

บทสรุปของเรื่องราว

เป็นอย่างไรบ้างสนุกกันมั้ยครับ สำหรับเรื่องราวของ D.E. Shaw Quant Hedge Fund ที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะของบุคลากรหลายๆท่านที่กลายมาเป็นไอดอลในยุคปัจจุบัน ซึ่งสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นจุดเด่นของ D.E. Shaw ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จนั้นคือ 

  • ความแน่วแน่ในแนวคิดของตัวเอง ประกอบกับการสนุนความคิดเหล่านั้นด้วยข้อมูลทางสถิติ, ตัวเลขและหลักฐานทางวิชาการ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ D.E. Shaw ประสบความสำเร็จ
  • การที่ D.E. Shaw ให้อิสระกับพนักงานในการทำงานและเปิดให้ได้ใช้ความถนัดของตัวเองอย่างเต็มที่นั้น เป็นการดึงศักยภาพของบุคลากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • นายทุน (Donald Sussman) ที่มีวิสัยทัศน์ (Vision) ในการนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ดีที่สุดเพื่อสนับสนุนการวิจัย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น Know-How ที่มีมูลค่ามหาศาล  
  • สร้างวัฒนธรรมการทำงาน (Culture) ที่สบายๆแต่มีประสิทธิภาพ ทำให้วัฒนธรรมการทำงานแบบนี้ถูกนำไปใช้ต่อโดยบริษัทเทคโนโลยีใน Silicon Valley
  • สนับสนุนให้เกิดการ Innovation อยู่เสมอโดยมุ่งเน้นในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม

โดยผมหวังว่าสิ่งที่เรานำมาแชร์นั้นจะทำให้เพื่อนๆทุกคนได้รู้จักและเห็นถึงตัวอย่างของการทำงานและความสำเร็จของกองทุนที่ลงทุนด้วยกระบวนการวิจัยการลงทุนแบบ Quantitative ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทีมงาน SiamQuant นั้นยึดมั่นและต้องการเผยแพร่ เพื่อให้วงการการลงทุนไทยพัฒนาเข้าไปใกล้เคียงกับตลาดที่พัฒนาแล้วมากขึ้นครับ ขอบคุณครับ  

References :

http://nymag.com/intelligencer/2018/01/d-e-shaw-the-first-great-quant-hedge-fund.html

https://en.wikipedia.org/wiki/D._E._Shaw_%26_Co.

Write A Comment