บทความแปลและสรุป

ระบบการลงทุน “หุ้นห่านทองคำ”

Thanadon Praphutikul

เพื่อเป็นการระลึกถึงการจากไปของ อาจารย์เทพ รุ่งธนาภิรมย์ ผู้เขียนหนังสือชุดหุ้นห่านทองคำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือหุ้นเล่มแรกๆที่นักลงทุนแทบทุกคนน่าจะเคยได้อ่านกันเป็นเล่มแรกๆนั้น ในบทความนี้พวกเราทีมงาน SiamQuant จึงอยากที่ขอนำเอาระบบการลงทุนซึ่งได้ถอดแนวคิดออกมาจากหลักการซื้อหุ้นทั้ง 9 ข้อที่อาจารย์เทพได้เคยเผยแพร่เอาไว้ (ตามการตีความของผู้วิจัย) มาเผยแพร่ถึงแนวคิดและผลลัพธ์ของกลยุทธ์ในระยะยาวให้นักลงทุนไทยได้อ่านกันนะครับ

ทั้งนี้ ทางทีมงาน SiamQuant ทุกคนขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของอาจารย์เทพ รุ่งธนาภิรมย์ ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ พวกเราหวังว่าบทวิจัยนี้จะช่วยเผยแพร่แนวคิด “หุ้นห่านทองคำ” ของอาจารย์ให้คงอยู่ไปกับนักลงทุนไทยได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้นไม่มากก็น้อยครับ

ด้วยจิตคารวะ ทีมงาน SiamQuant

ภาพที่ 1 : ภาพหนังสือกลยุทธ์หุ้นห่านทองคำของอาจารย์เทพ รุ่งธนาภิรมย์

ข้อดีของการลงทุนในหุ้นห่านทองคำ

สำหรับหุ้นห่านทองคำ” ตามความหมายของผู้เขียนคือ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีผลกำไรดีและสามารถที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ โดยการลงทุนในหุ้นดังกล่าวนั้นมีข้อดีคือ

  1. ทำให้เรามีความสุขในการลงทุน : เนื่องจากหุ้นห่านทองคำเป็นทั้งหุ้นของบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรได้ดี จึงทำให้นักลงทุนสามารถสบายใจในการลงทุนได้
  2. เก็บกินเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง : การที่หุ้นห่านทองคำนั้นมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ที่ลงทุนในหุ้นดังกล่าวสามารถได้รับเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในหุ้นเหล่านี้จำนวนมากเปรียบเสมือนกับการที่เรามีฟาร์มห่านทองคำ ซึ่งคอยผลิดอกออกผลให้อย่างต่อเนื่อง
  3. สามารถสร้างผลกำไรได้ในระยะยาว : เนื่องจากหุ้นห่านทองคำนอกจากจะจ่ายปันผลที่ดีแล้ว ยังมีผลประกอบการที่ดี ซึ่งการมีผลประกอบการหรือกำไรของบริษัทที่ดี ก็มักจะทำให้ราคาของหุ้นเกิดการปรับตัวสูงขึ้นหรือมี Capital Gain อีกด้วย

ซึ่งจะสังเกตได้ว่าหุ้นห่านทองคำไม่เพียงแต่จะช่วยให้เรามีความมั่นใจและความสุขในการลงทุนแล้ว ยังมีเงินปันผลให้เราเก็บกินอย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างผลตอบได้ในระยะยาวอีกด้วย

ลักษณะของหุ้นห่านทองคำ

โดยหลังจากเราได้ทราบประโยชน์ของการลงทุนในหุ้นห่านทองคำแล้วนั้น ในส่วนถัดไปนี้เราจะพูดถึงคุณลักษณะของหุ้นห่านทองคำกันครับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. บริษัทมีกําไรต่อเนื่อง : บริษัทนั้นต้องสามารถทํากําไรได้จากการดำเนินธุรกิจ เพราะถ้าบริษัทขาดทุนก็ไม่สามารถจ่ายปันผลได้
  2. กําไรของบริษัทมีคุณภาพ : กําไรที่ทําได้จากการดำเนินธุรกิจนั้นควรต้องเป็นเงินสดส่วนใหญ่ ซึ่งตรวจสอบได้จากงบกระแสเงินสด 
  3. บริษัทมีกําไรสะสมเป็นบวก เนื่องจากถ้าบริษัทยังมีผลขาดทุนสะสมอยู่ บริษัทก็จะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้
  4. บริษัทมีเงินสดเหลือเฟือ : บริษัทที่จะจ่ายเงินปันผลได้นั้นมักมีเงินสดอยู่ในมือสูง 
  5. บริษัทมีหนี้สินตํ่ำ : หรือการที่บริษัทไม่มีภาระหนี้สินที่เกินตัว 
  6. บริษัทมีการขยายงานพอดี : บริษัทมีการขยายงานที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
  7. บริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ : มีประวัติการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง
  8. บริษัทมีจํานวนหุ้นที่เหมาะสม : เพราะการที่บริษัทมีจํานวนหุ้นมาก ก็จะทำให้ตัวหารเพิ่มขึ้น และเป็นเหตุให้กําไรสุทธิต่อหุ้นจะลดลง หรือเรียกว่าเกิด Dilution Effect. 
  9. ธุรกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคง : โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบริษัทมีการขยายงานอัตราการเติบโตของยอดขายสูงกว่าการเติบโตของต้นทุนและค่าใช้จ่าย 

จากคุณลักษณะสำคัญของหุ้นห่านทองคำดังกล่าวนั้นสามารถสรุปเป็นตัวแปรหลักของหุ้นห่านทองคำได้ดังนี้

ภาพที่ 2 : ภาพแสดงตัวแปรหลักตามสเป็คของหุ้นห่านทองคำ (อ้างอิงจากห้องเรียนนักลงทุน on stage ตอน ตามรอยเซียน “หุ้นห่านทองคํา” หน้า 12)

ซึ่งในส่วนถัดไปนั้นเราจะนำแนวคิดและเงื่อนไขดังกล่าวมาทำการแปลงเป็นสูตร Algorithm และทำการทดสอบกับข้อมูลในตลาดหุ้นไทยกันครับ

รายละเอียดการทดสอบกลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ

โดยจากลักษณะหุ้นห่านทองคำดังกล่าวข้างต้นนั้น เราสามารถสรุปเป็นเงื่อนไขต่างๆได้ดังนี้

เงื่อนไขการคัดกรองหุ้นห่านทองคำ

  • บริษัทมีกำไรเป็นบวก พิจารณาจากค่า EPS แบบรายปีเป็นบวกติดต่อกันมากกว่า 3 ปี
  • บริษัทมีกำไรเติบโต พิจารณาจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของ EPS Rolling แบบ QoQ เป็นบวก
  • บริษัทมีหนี้สินต่ำ พิจารณาจากหนี้สินมีค่าน้อยกว่าสินทรัพย์

เงื่อนไขการเรียงลำดับหุ้นห่านทองคำจะเป็นการเรียงลำดับจาก 4 มิติ ดังนี้

  • หุ้นที่มีอัตราส่วน ROE สูงที่สุด
  • หุ้นที่มีอัตราส่วน ROA สูงที่สุด
  • หุ้นที่มีอัตราส่วน Dividend Yield สูงที่สุด
  • หุ้นที่มีอัตราส่วน Net Profit Margin สูงที่สุด

โดยเราจะทำการเรียงลำดับทีละมิติก่อนแล้วนำคะแนนมารวมกัน ยกตัวอย่างเช่น หุ้นตัวหนึ่งมีอัตราส่วน ROE อยู่ในลำดับที่ 1 จากหุ้นทั้งหมด, มีอัตราส่วน ROA อยู่ในลำดับที่ 1 จากหุ้นทั้งหมด, มีอัตราส่วน DY อยู่ในลำดับที่ 1 จากหุ้นทั้งหมด และมีอัตราส่วน NPM อยู่ในลำดับที่ 1 จากหุ้นทั้งหมด จากนั้นเราจึงนำลำดับคะแนนมารวมกันโดยจากตัวอย่างหุ้นดังกล่าวจะมีค่า Score เท่ากับ 4 (1+1+1+1) ซึ่งหุ้นที่มี Score ต่ำที่สุดจะถือเป็นหุ้นที่เข้าเกณฑ์หุ้นห่านทองคำมากที่สุดนั่นเอง

และมีรายละเอียดการทดสอบในส่วนอื่นๆเพิ่มเติมดังนี้

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขสำหรับการทดสอบกลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ

ผลการทดสอบกลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ

ภาพที่ 3 : ภาพแสดงผลตอบแทนของกลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ (เส้นสีเขียว) เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index (เส้นสีดำ)

ตารางที่ 2 : ตารางแสดงค่าสถิติของระบบการลงทุนกลยุทธ์หุ้นห่านทองคำและดัชนี SET Index 

จากภาพและตารางข้างต้นจะสังเกตได้ว่า กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำนอกจากจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนี SET Index ในระยะยาวโดยมีอัตราส่วน CAGR เท่ากับ 10.67% และ 4.98% ตามลำดับหรือมีผลตอบแทนส่วนเกินเท่ากับ 5.69% แล้ว 

ในช่วงปี 2000 หรือภายหลังภาวะวิกฤติต้มยำกุ้งซึ่งตลาดยังคงมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่กลยุทธ์กลับปรับตัวลดลงไม่มากเนื่องจากกลยุทธ์มีการคัดกรองหุ้นที่มีกำไรเป็นบวกมากกว่า 3 ปี รวมถึงเงื่อนไขการคัดกรองอื่นๆที่ค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวหุ้นที่เข้าข่ายลักษณะนี้มีค่อนข้างน้อยทำให้กลยุทธ์ทำการถือเงินสดเป็นหลักนั่นเอง

แต่จะเห็นได้ว่าถึงแม่กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ชนะตลาดได้ แต่กลยุทธ์เอง ก็มีค่า Maximum Drawdown ที่ใกล้เคียงกับตลาดเช่นกัน เพราะว่าลักษณะของกลยุทธ์นั้นเป็นประเภท Buy & Hold นั่นเอง 

บทสรุปของกลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ

จากผลการทดสอบเชิงสถิติพิสูจน์ให้เห็นว่ากลยุทธ์การลงทุนหุ้นห่านทองคำของอาจารย์เทพ รุ่งธนาภิรมย์ซึ่งแม้จะถูกเผยแพร่มาเป็นระยะเวลาที่นานแล้ว แต่กลยุทธ์ดังกล่าวยังคงประสิทธิภาพและให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพวกเราทีมงาน SiamQuant หวังว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะเป็นการช่วยพัฒนาวงการการลงทุนไทยให้ก้าวหน้าขึ้นไปใกล้เคียงกับระดับโลกมากขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ

พวกเราทุกคน ขอคารวะอาจารย์เทพ รุ่งธนาภิรมย์ ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุน “หุ้นห่านทองคำ” ให้เป็นมรดกความรู้ของนักลงทุนไทยเอาไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งด้วยครับ

อ้างอิง :

ห้องเรียนนักลงทุน on stage ตอน ตามรอยเซียน “หุ้นห่านทองคํา”

Write A Comment