องค์ความรู้จากการลงทุนอย่างเป็นระบบ

การลงทุนอย่างเป็นระบบและหลักการ PDCA อาวุธลับในการยกระดับการลงทุน!

มด แมงเม่าคลับ
ติดตามผม

ผมเชื่อว่านักลงทุนหลายคนมักเริ่มต้นด้วยความฝันที่ว่าจะได้ “ใช้เงินทำงาน” ผ่านการลงทุนกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อได้เข้ามาลงทุนจริงๆนั้นกลับพบว่ามันต้องใช้ทั้งเวลาและความพยายาม จนรู้สึกเหนื่อยล้าท้อแท้กว่าที่คิดเป็นอย่างมาก

ในบทความนี้ ผมจึงอยากจะขอแนะนำให้คุณได้เห็นถึงประโยชน์ของการลงทุนอย่างเป็นระบบในแต่ละขั้นตอนของการลงทุนโดยละเอียด ตามกรอบแนวคิดวงจรคุณภาพหรือ PDCA  ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถเข้าใจได้ว่ากระบวนการลงทุนอย่างเป็นระบบนั้น จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้กับเรา โดยใช้เวลาในการลงทุนน้อยลง และลดความเครียดจากการลงทุนกันได้อย่างไร

ผมหวังว่าบทความชิ้นนีจะทำให้นักลงทุนหลายๆท่านค้นพบวิธีการทุ่นแรง และหันมาเริ่มต้นในการลงทุนอย่างเป็นระบบกันมากยิ่งขึ้นไม่มากก็น้อยกันนะครับ หากมีคำถามเพิ่มเติมใดๆก็สามารถ Comment หรือ Inbox สอบถามเพิ่มเติมกันเข้ามาได้เลยนะครับ 😀

กระบวนการลงทุนที่มีคุณภาพและวงจรของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Invesment PDCA Process)

ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเหตุผลที่ว่าทำไมกระบวนการลงทุนอย่างเป็นระบบและกระบวนการ PDCA นั้น จึงสามารถที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนของพวกเรากันได้เป็นอย่างดี ผมเองอยากที่จะเริ่มต้นด้วยการชี้ให้นักลงทุนหลายๆท่านได้เห็นภาพกันก่อนว่า 

แม้ว่าผลตอบแทนในการลงทุนอาจเป็นสิ่งที่คาดการณ์และควบคุมได้ยาก แต่ในทางกลับกันแล้วกระบวนการและขั้นตอนต่างๆในการลงทุนนั้น กลับเป็นสิ่งที่เราจะสามารถควบคุมและพัฒนาได้ง่ายกว่าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเราตั้งใจทำให้การลงทุนเป็นสิ่งที่เป็นระบบโดยมีขั้นตอนต่างๆที่ชัดเจน

ดังนั้น เมื่อเราได้เข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้โดยตรง (ผลตอบแทน) และอะไรเป็นสิ่งที่ควบคุมได้โดยตรง (แนวทางและขั้นตอนในการลงทุน) เราก็สามารถที่จะนำเอาแนวคิดของ “วงจรการบริหารงานคุณภาพ” หรือที่หลายๆคนรู้จักกันดีในชื่อย่อ PDCA Process มาประยุกต์ใช้ในการลงทุนของเราได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกันนั่นเอง

โดยที่การนำเอาแนวคิดของการทำ PDCA มาใช้กับกระบวนการลงทุนต่างๆของเรานั้น จะช่วยให้นักลงทุนมุ่งเน้นความใส่ใจไปที่กระบวนการซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์แทน (Focus on process, NOT outcome) โดยทำการวางแผน, ปฎิบัติ, ตรวจสอบ และพัฒนาแก้ไขปรับปรุงแผนกลยุทธ์และกระบวนการลงทุนอย่างครบวงจรต่อเนื่องไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่วงจรคุณภาพหรือ PDCA ในการลงทุนนั้นจะประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆดังต่อไปนี้

วงจรคุณภาพของกระบวนการลงทุน (Investment PDCA Process)

  1. Plan (วางแผน) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การตั้งเป้าหมายในการลงทุนไปจนถึงแผนกลยุทธ์การลงทุน
  2. Do (ปฏิบัติตามแผน) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การคัดกรองหุ้นไปจนถึงการส่งคำสั่งการซื้อขายต่างๆ
  3. Check (ตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การบันทึกข้อมูลไปจนถึงการวิเคราะห์ตรวจสอบผลลัพธ์ในการลงทุนต่างๆ
  4. Act/Adjust (ปรับปรุงแก้ไข) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะปรับปรุงแก้ไขไปจนถึงการกำหนดมาตรฐานในการลงทุนต่างๆ

จากเหตุผลที่กล่าวมานี้เอง เราจึงจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแท้จริงแล้วแม้สิ่งต่างๆที่เราจะต้องทำในการลงทุนจะดูซับซ้อนสักแค่ไหน แต่แท้จริงแล้วเราก็สามารถที่จะวิเคราะห์แยกแยะและจัดระเบียบกิจกรรมต่างๆในการลงทุน ให้อยู่ในกรอบแนวคิดของวงจรคุณภาพหรือ PDCA ได้อยู่ดีนั่นเองครับ

ภาพที่ 1 : วงจรการบริหารจัดการคุณภาพ (PDCA) และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continous Improvement Process) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การวางแผน, ปฎิบัติ, ตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไข จนก่อให้เกิดเป็นมาตรฐานในการปภิบัติที่ดีเยี่ยม (Standard) เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไปเรื่อยๆ – ขอบคุณภาพจาก ConceptDraw ครับ

แล้วการลงทุนอย่างเป็นระบบภายใต้กรอบแนวคิดของ PDCA จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลตอบแทนให้นักลงทุนได้อย่างไร?

เพื่อให้เพื่อนๆนักลงทุนได้เห็นถึงประโยชน์ของการลงทุนอย่างเป็นระบบ (นอกเหนือไปจากการช่วย Scan หุ้นอย่างที่หลายๆคนเข้าใจผิดกัน :P) รวมไปถึงเหตุผลที่ว่าทำไมการลงทุนอย่างเป็นระบบ จึงสามารถที่จะช่วยให้การลงทุนของคุณมีประสิทธิภาพมากกว่ากระบวนการลงทุนแบบดั้งเดิมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นนั้น ผมจึงได้นำเอากิจกรรมหรืองานหลักๆที่นักลงทุนต้องทำ (Investor’s jobs to be done) มาแตกออกเป็นข้อๆตามภาพและตารางด้านล่าง แล้วอธิบายเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างตามหมวดหมู่ของกรอบแนวคิดของ PDCA Process ดังต่อไปนี้

ภาพที่ 2 : ภาพรวมของกระบวนการลงทุนคุณภาพและวงจรการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (PDCA with Continous Development Process) โดยอาศัย SiamQuant AlphaSuite ชุดเครื่องมือและฐานข้อมูลเพื่อการลงทุนอย่างเป็นระบบแบบครบวงจร

PDCA Process Activities
Plan Goal Setting :
การตั้งเป้าหมายในการลงทุน
ตั้งเป้าหมายจากวัตถุประสงค์ของนักลงทุน ร่วมกับการประเมินจากผลการทดสอบ (Backtest Result) ที่เชื่อว่าจะมีโอกาสเป็นจริงตามระดับความมั่นใจทางสถิติที่ตั้งไว้ แทนที่การใช้ความมั่นใจจากความรู้สึกและประสบการณ์ในการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ทำการตั้งเป้าหมายและประมาณการผลตอบแทนและความเสี่ยงได้อย่างละเอียดและไกล้เคียงกับความเป็นจริงได้มากขึ้น (Realistic Expectation)
Study & Research :
การศึกษาองค์ความรู้ด้านการลงทุน และการยืนยันความน่าเชื่อถือของทฤษฎีและแนวคิดต่างๆ
หาความรู้จากแหล่งความรู้ในการลงทุนต่างๆเช่น หนังสือ, คอร์สอบรม, งานวิจัยทางการเงิน ผสานการใช้วิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) เพื่อศึกษาหาองค์ความรู้ต่างๆจากฐานข้อมูลโดยตรง และทำการยืนยันข้อเท็จจริงด้วยการทดสอบวิจัยเพื่อตรวจสอบผลจากตัวเลขทางสถิติ (Backtesting) แทนที่การอาศัยเพียงความน่าเชื่อถือของผู้สอนและความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตสื่อและข้อมูลต่างๆเพียงอย่างเดียว
Investment Planning :
การวางแผนกลยุทธ์การลงทุน
วางแผนการลงทุนด้วยการสร้างกฎในการลงทุนและเขียนโปรแกรมที่ชัดเจนไว้ล่วงหน้า (Trading/Investing System, Algorithm, Model) จากองค์ความรู้ที่ได้ทดสอบและยืนยันความน่าเชื่อถือจากการวิจัยอย่างเข้มงวด ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการนำไปปฎิบัติใช้และตรวจสอบประเมินผลการลงทุนในขั้นต่อไป
Do Signal Generation :
การคัดกรองและหาจังหวะเข้าลงทุน (Scan & Exploration)
คัดกรองและหาจังหวะเข้าซื้อขายจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติในแต่ละคาบเวลา (เช่นรายนาที, ชั่วโมง, วัน, อาทิตย์, เดือน หรือปี) แทนที่การคอยติดตามหรือค้นหาข่าวสารจากแหล่งต่างๆในขณะลงทุนด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยลดเวลาที่ใช้ในการลงทุนส่วนใหญ่ลงไปได้เป็นอย่างมาก
Position Sizing & Risk Management :
การกำหนดขนาดการลงทุนและบริหารความเสี่ยง
กำหนดขนาดการลงทุน (Position Size) ด้วยกฎที่กำหนดไว้ในระบบการลงทุนล่วงหน้า แทนการตัดสินใจจากความมั่นใจที่มีในหุ้นหรือหลักทรัพย์แต่ละตัว และใช้โปรแกรมในการช่วยคอยตรวจสอบความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตโฟลิโอโดยรวมในขณะที่ลงทุน (Risk Management Algorithm) เพื่อทำการปรับระดับความเสี่ยงให้เหมาะสมตามกฎเกณฑ์ที่ได้ตั้งไว้ต่อไป
Order Execution :
การส่งคำสังซื้อขาย
สามารถส่งคำสั่งได้ด้วยตนเอง (Manual Execution) หรือด้วยชุดคำสั่งซื้อขาย (Automated Execution) ที่ออกจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการส่งคำสั่งและลดข้อผิดพลาดในการส่งคำสั่งด้วยตนเองในแต่ละครั้ง
Check Record Keeping :
การบันทึกข้อมูลการลงทุน
บันทึกการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตนเอง (Manual Transaction Log) หรือรับข้อมูลกลับมาจากทางโบรคเกอร์โดยอยู่ในรูปของ Log File (Automated Transaction Log) อาทิเช่น Trade List หรือ Portfolio Value ตามคาบเวลาที่กำหนดไว้ แทนที่การใช้ Trading/Investing Journal สำหรับจดรายละเอียดและเหตุผลในการซื้อขายแบบดั้งเดิม ที่ต้องใช้เวลาและความนึกคิดในการบันทึกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเงื่อนไขของการซื้อขายตามระบบทุกครั้งจะเกิดขึ้นโดยมีเหตุผลที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
Execution Monitoring :
การตรวจสอบวินัยในการลงทุน
สามารถตรวจสอบวินัยในการลงทุน ด้วยการนำ Real Trade List เทียบเคียงจาก Signal Trade List ที่ได้จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ว่ามีความแตกต่างกันมากแค่ไหนทั้งในแง่ของชุดคำสั่ง (Order) และความคลาดเคลื่อนของราคาซื้อขายที่ได้รับจริง (Slippage) แทนที่การตรวจสอบการส่งคำสั่งและทบทวนเหตุผลในการปฎิบัติด้วยความรู้สึกของตนเอง
Performance Analysis :
การประเมินผลการลงทุน
ทำการวิเคราะห์, ประเมิน และเปรียบเทียบผลการลงทุนด้วยตัวเลขที่ได้จากทั้ง Trade List และ Portfolio Value โดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการเปรียบเทียบแบบ

1. Direct Benchmark หรือแบบโดยตรง ซึ่งวิเคราะห์จากผลกำไรขาดทุนของตัวกลยุทธ์เอง
2. Comparison Benchmark หรือแบบทางอ้อม เช่นการเปรียบเทียบกับดัชนี Benchmark ในการลงทุนต่างๆ

แทนที่การเปรียบเทียบโดยอาศัยความรู้สึกหรือประสบการณ์ของผู้ลงทุน จึงทำให้เกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการวัดผลตอบแทนการลงทุนที่มากยิ่งขึ้น

Adjust Decision Process :
การตัดสินใจ แก้ไข/เปลี่ยนแปลง/ปรับปรุง แผนการลงทุนและกระบวนการลงทุน
ตัดสินใจแก้ไข/เปลี่ยนแปลง/ปรับปรุง แผนกลยุทธ์หรือกระบวนการลงทุน โดยอาศัยข้อมูลตัวเลขและสถิติต่างๆที่ได้จากขั้นตอนการตรวจสอบในขั้นก่อนหน้า มาเปรียบเทียบกับเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงที่กำหนดเอาไว้ (Plan & Process Adjustment Condition) แทนที่การใช้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นซึ่งอาจเกิดจากอคติหรืออารมณ์ในการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นๆได้
Adjustment Process :
การดำเนินการ แก้ไข/เปลี่ยนแปลง/ปรับปรุง แผนการลงทุนและกระบวนการลงทุน
มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขที่ระบบการลงทุนแทนการแก้ไขที่ตัวบุคคล (Process Before People) โดยทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์หากระบวนการลงทุนที่ดีขึ้นกว่าเดิมในระยะยาว แล้วจึงเปลี่ยนแปลงกฎและชุดโค้ดในโปรแกรมที่ตั้งระบบการลงทุนเอาไว้ แทนที่การฝึกฝนพัฒนาวินัยหรือขีดความสามารถของตัวนักลงทุน ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานาน, ขาดความสม่ำเสมอในระยะยาว หรือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดต่างๆได้
Standardize & Documentation :
การสร้างมาตรฐานของกระบวนการลงทุน
เมื่อขั้นตอนในการลงทุนต่างๆที่มีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจแล้ว อาทิเช่น ขั้นตอนการส่งคำสั่งการซื้อขายที่ได้ให้ผลในการลงทุนเป็นอย่างดีแล้วนั้น มันจะถูกนำไปทำให้เป็นมาตรฐานในการปฎิบัติการลงทุนต่างๆในระยะยาวต่อไป (Standard Operating Process – SOP) ซึ่งจะช่วยให้สามารถขยับขยายหรือกระจายงานในขั้นตอนต่างๆออกไปให้กับผู้อื่น เพื่อลดภาระในการทำงานด้วยตนเองทิ้งไปให้มากที่สุด แต่ยังคงสามารถรักษาคุณภาพในการลงทุนเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ตารางที่ 1 : ประโยชน์และประสิทธิภาพของกระบวนการลงทุนอย่างเป็นระบบ ตามกิจกรรมหลักที่นักลงทุนต้องทำเป็นประจำตามหมวดหมู่ของวงจร PDCA

กระบวนการลงทุนอย่างเป็นระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนอย่างยั่งยืน

จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น ผมหวังว่าเพื่อนๆนักลงทุนหลายคนคงจะได้พอเห็นภาพแล้วว่ากระบวนการลงทุนอย่างเป็นระบบ ภายใต้กรอบการบริหารจัดการลงทุนแบบ PDCA นั้น จะสามารถช่วยยกระดับประสิทธิภาพการลงทุน ทั้งในขั้นตอนของการวางแผน, ปฎิบัติการลงทุน, ประเมิณผล และการพัฒนาต่อยอดในการลงทุนกันได้อย่างไร

นอกจากนี้แล้ว ผมหวังว่าคุณจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดนักลงทุนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถที่จะพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ ซึ่งนั่นก็เนื่องมาจากการขาดความใส่ใจในองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งในวงจรคุณภาพ PDCA อย่างครบถ้วนกันนั่นเอง (อาทิเช่น ไม่ทำการจดบันทึกผลการซื้อขายหรือจัดทำสรุปผลกำไรขาดทุนของตนเอง จึงมักทำให้ได้ข้อสรุปผลในการลงทุนที่คลาดเคลื่อน หรือไม่เห็นข้อผิดพลาดที่จะต้องถูกปรับปรุงแก้ไขอย่างชัดเจนและเร่งด่วน)

สุดท้ายนี้ผมก็อยากจะขอทิ้งท้ายบทความนี้ไว้ด้วยคำสอนของ Edward Deming ปรมจารย์ด้านการบริหารจัดการคุณภาพผู้พัฒนาแนวคิดของ PDCA ที่ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า

ถ้าคุณอธิบายสิ่งที่คุณทำให้กลายเป็นกระบวนการไม่ได้ นั่นแปลว่าคุณยังคงไม่เข้าใจว่าแท้จริงแล้วคุณกำลังทำอะไรอยู่

Edward Deming

ซึ่งผมเชื่อว่ามันก็คือบทสรุปของเหตุผลที่ว่าเหตุใดการลงทุนอย่างเป็นระบบ จึงสามารถที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลตอบแทนในการลงทุนให้กับพวกเราทุกคนนั่นเองครับ 😀

Write A Comment