องค์ความรู้จากการลงทุนอย่างเป็นระบบ

ปรัชญาการลงทุน 100 เท่า ของ Jeff Bezos

มด แมงเม่าคลับ
ติดตามผม

อะไรคือสิ่งที่ทำให้มหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง Jeff Bezos สามารถสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาได้อย่างยิ่งใหญ่และรวดเร็วจนแซงมหาเศรษฐีรุ่นเก่าๆได้ในระยะเวลาเพียงชั่วอายุคน? ในบทความนี้เราจะมาไขความลับการสร้างความมั่งคั่งของ Jeff Bezos ที่พวกเราทีมงาน SiamQuant ได้ในมาปรับใช้ในการลงทุนของเราไปด้วยกันครับ!

ความลับจากจดหมายสู่นักลงทุน Annual Letter ของ Jeff Bezos

อะไรคือความลับในการทำธุรกิจและการลงทุนของ Jeff Bezos? และเราจะหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับแนวความคิดของเขากันได้อย่างไรดี?

คำตอบง่ายๆก็คือการอ่าน Annual Letter ของ Amazon.com ซึ่งเขียนโดย Jeff Bezos นั่นเองครับ!

หลายคนอาจไม่เคยทราบว่าโดยปกติแล้วนั้น ในแต่ละปีสุดยอดนักธุรกิจและนักลงทุนระดับโลกที่เรารู้จักกันนั้น มักที่จะต้องทำการเขียนจดหมายชี้แจงประจำปี (Annual Letter) เพื่อทำการสื่อสารให้สาธารณะชนได้รับรู้ถึงเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของพวกเขาเป็นประจำทุกปีอยู่เสมอ โดยที่ Jeff Bezos มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Amazon.com นั้น ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้เขียนจดหมายเหล่านี้ออกมาในทุกๆปี และที่สำคัญก็คือมันมักอุดมไปด้วยคมความคิดในการทำธุรกิจและการลงทุนที่สุดยอดเขาอยู่เสมอ

โดยที่เนื้อหาส่วนหนึ่งที่อยู่ใน Jeff Bezos Annual Letter ในปี 2015 ซึ่งถือเป็นปีที่ Amazon.com ได้มียอดขายเกิน 100,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกนั้น ก็ได้เผยให้เราได้เห็นถึงปรัชญาในการลงทุนและการเดิมพันของเขาออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าจะมีประโยชน์กับนักธุรกิจและนักลงทุนจำนวนมากในบ้านเรา ผมจึงอยากที่จะนำมันมาเผยแพร่เอาไว้ให้นักลงทุนไทยทุกคนได้เรียนรู้กัน โดยผมจะขอเรียกมันว่าปรัชญาการลงทุน 100 เท่า (100X) ของ Jeff Bezos ซึ่งมีเนื้อหาตามต้นฉบับภาษาอังกฤษดังนี้

“Outsized returns often come from betting against conventional wisdom, and conventional wisdom is usually right. Given a 10 percent chance of a 100 times payoff, you should take that bet every time. But you’re still going to be wrong nine times out of ten . . . We all know that if you swing for the fences, you’re going to strike out a lot, but you’re also going to hit some home runs. The difference between baseball and business, however, is that baseball has a truncated outcome distribution. When you swing, no matter how well you connect with the ball, the most runs you can get is four. In business, every once in a while, when you step up to the plate, you can score 1,000 runs. This long-tailed distribution of returns is why it’s important to be bold. Big winners pay for so many experiments.” — Jeff Bezos

โดยจากเนื้อหาในข้างต้นนี้ เราก็สามารถแปลเป็นไทยได้ว่า (อาจไม่ตรงเป้ะๆ เพราะผมมีการใส่สีตีใข่ให้มันเข้าใจง่ายและได้อรรถรสมากยิ่งขึ้นนะครับ 😆)

“ผลตอบแทนที่มากมายมหาศาลนั้น มักจะเกิดขึ้นจากการเดิมพันที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อและภูมิปัญญาดั้งเดิมของพวกเราทุกคน ถึงแม้ว่าภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมของพวกเรานั้นมักจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ตาม! 

ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณมีโอกาสเพียงแค่ 10% ที่จะคิดวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง แต่หากความสำเร็จนั้นสามารถที่จะให้ผลตอบแทนกับคุณเป็น 100 เท่า เมื่อเทียบกับต้นทุนที่คุณได้เดิมพันมันลงไปล่ะก็ ผมคิดว่าคุณควรที่จะตัดสินใจเดิมพันกับพวกมันในทุกๆครั้งที่มีโอกาสเกิดขึ้นมาอยู่เสมอ 

แน่นอนว่าคุณอาจมีโอกาสทำผิดพลาดมากถึง 9 ใน 10 ครั้ง … แต่เราทุกคนก็รู้ดีว่าถ้าคุณตั้งใจที่จะหวดลูกเบสบอลแบบสุดแรงเพื่อให้มันทะลุที่นั่งอัฒจรรย์ออกไปเลยนั้น คุณย่อมต้องเสี่ยงที่จะตีผิดพลาดไปอย่างมากมาย แต่มันก็คือสิ่งจำเป็นที่จะทำให้คุณสามารถตีลูกโฮมรันที่พุ่งแรงแบบนั้นได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากจะบอกคุณก็คือจริงๆแล้วมันมีความแตกต่างระหว่างเกมเบสบอลกับการทำธุรกิจอยู่ในจุดๆหนึ่ง นั่นก็เพราะคะแนนในการเล่นเบสบอลนั้นเป็นไปอย่างจำกัดตามกฎของมัน โดยเมื่อคุณหวดลูกออกไปนั้น ไม่ว่าคุณจะตีมันได้สวยสุดยอดสักเท่าไหร่ แต่แต้มที่คุณจะได้นั้นส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 4 คะแนนอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ในเกมธุรกิจนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณสามารถหวดมันได้อย่างถูกต้องและสวยงาม คุณก็อาจได้รับคะแนนพอๆกับการตีโฮมรันเป็นพันๆครั้งในคราวเดียวเลยก็เป็นได้!

ผลตอบแทนระดับมหาศาลซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการเดิมพันในลักษณะนี้นั้น คือเหตุผลที่ว่าทำไมมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องมีความกล้าหาญที่จะเดิมพันกับสิ่งที่มีผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ เพราะในที่สุดแล้วนั้น ผลตอบแทนที่มหาศาลเหล่านี้ ก็จะช่วยหักล้างต้นทุนในการเดิมพันครั้งที่ผ่านๆมาของคุณในที่สุด!”

ที่มา : https://s2.q4cdn.com/299287126/files/doc_financials/annual/2015-Letter-to-Shareholders.PDF

ถอดรหัสปรัชญาการลงทุน 100 เท่าของ Jeff Bezos

หลังจากที่เราได้อ่านถึงเนื้อหาของ “ปรัชญาการลงทุน 100 เท่า” ของ Jeff Bezos กันไปแล้วนั้น มันก็ถึงเวลาที่ผมอยากจะทำการวิเคราะห์และอธิบายถึงความลับของหลักการเหล่านี้ออกมาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้นักลงทุนอย่างพวกเราได้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำหลักการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการลงทุนของทุกๆคน ด้วยการอาศัยกรอบแนวคิดในการลงทุนเชิงปริมาณแบบ Quantitative Investing ออกมาเพิ่มเติมกันสักหน่อย เพราะอันที่จริงแล้ว รากฐานแนวความคิดในการลงทุนของ Jeff Bezos ก็เป็นสิ่งที่เขาได้รับมาจากการที่เคยทำงานใน สุดยอดกองทุน Hedge Fund สาย Quant ที่ชื่อว่า D.E. Shaw ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของชีวิตการทำงานของเขามาเช่นกันนั่นเอง โดยที่ผมเชื่อว่ามันประกอบไปหลักการสำคัญเบื้องหลังดังต่อไปนี้ครับ

1. 100X Moonshot Homerun Philosophy : 

การมุ่งเน้นในการเดิมพันที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงในระดับที่สูงมากๆเป็นแก่นสำคัญ (High Pay-Off) ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ถือเป็นรากฐานแนวคิดของสุดยอดนักธุรกิจและนักลงทุนระดับโลกอีกมากมาย โดยที่เราจะสังเกตได้ว่าวิธีการลงทุนที่มีความเสถียรยั่งยืนในระยะยาวจนเป็นที่ยอมรับกันโดยสากล ไม่ว่าจะเป็น Value Investing, Trend Following หรือแม้แต่ Hybrid Investing นั้น ต่างก็มุ่งเน้นในการที่จะสร้างผลกำไรก้อนใหญ่ในการลงทุนแต่ละครั้งออกมาด้วยกันทั้งสิ้น

เนื่องจากโดยปกติแล้วนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนที่เก่งมากๆหรือมีทรัพยากรและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยสักแค่ไหน แต่จากประวัติศาสตร์ด้านการลงทุนและฐานข้อมูลที่ได้ถูกบันทึกไว้ในอดีตตลอดมานั้นพบว่า อันที่จริงแล้วการคาดการณ์สิ่งต่างๆเกี่ยวกับการลงทุนให้ถูกต้องแม่นยำในระดับสูงอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ทางออกที่ง่ายกว่าจึงกลายเป็นการมองหาการเดิมพันที่มีโอกาสให้ผลกำไรก้อนใหญ่ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) แทนที่การเติบโตแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไปอย่างที่คนทั่วๆไปรู้สึกคุ้นชินกัน (Incremental Growth) และถึงแม้ว่าโอกาสเหล่านี้จะเกิดความสำเร็จได้ไม่บ่อยนัก แต่หากเราทำมันสำเร็จแล้วล่ะก็ มันก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนในระดับสูง (Long-Tail Distribution of Return) จนเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนทั้งหมดที่ได้เคยทุ่มเทลงไปนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การที่เราจะสามารถทำการเดิมพันในลักษณะเช่นนี้ได้อย่างสม่ำเสมอนั้น เราก็ยังจะต้องเรียนรู้ที่จะมีทัศนคติและแนวคิดในการกล้าคิด, กล้าผิดพลาด และกล้าที่จะเดิมพันในสิ่งใหม่ๆต่อไปเรื่อยๆ (Experimental Mindset) โดยไม่ยึดติดอยู่กับความถูกต้องและความสมบูรณ์แบบในการตัดสินใจของเราในการลงทุน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่แตกต่างและตรงกันข้ามกับทัศนคติของนักธุรกิจและนักลงทุนส่วนใหญ่อย่างมากมาย

2. Positive Mathematical Expectancy (Investing Edge) :

แน่นอนครับว่าความผิดพลาดและการขาดทุนที่จะต้องเกิดขึ้นจากกลยุทธ์การเดิมพันแบบนี้นั้น ย่อมเป็นสิ่งที่จะทำให้นักลงทุนหลายๆคนเกิดความกังวลขึ้นไม่มากก็น้อย

คำถามที่สำคัญก็คือเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าวิธีการมุ่งเน้นในการลงทุนที่ให้เดิมพันสูงๆ แทนที่การมุ่งเน้นความถูกต้องเพื่อการป้องกันความผิดพลาดและการขาดทุนนั้น จะให้ผลตอบแทนในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนจริงๆ?

สำหรับความสงสัยในข้อนี้นั้น ข่าวดีก็คือเราสามารถที่จะพิสูจน์และอธิบายได้ตามหลักการทางคณิตศาสตรในการลงทุนที่เรียกว่าค่ากำไรคาดหวัง (Expectancy or Edge) ซึ่งมีสูตรง่ายๆดังนี้

Expectancy = (Average.Win * %Win) + (Average.Loss * %Loss)

โดยที่สมการนี้จะช่วยให้เราคำนวณได้ว่าวิธีการเดิมพันหรือการลงทุนใดๆจะเป็นเกมที่คุ้มค่าสำหรับเราหรือไม่ในระยะยาว โดยที่เราควรจะเล่นเฉพาะเกมที่เรามีค่ากำไรคาดหวังที่เป็นบวกเท่านั้น!!! (Positive Expectancy) และเราต้องเลิกเดิมพันในเกมที่เรามีค่ากำไรคาดหวังติดลบเป็นอันขาด (อาทิเช่น เกมการพนันต่างๆที่เราไม่ใช่เจ้ามือ เพราะว่าเจ้ามือเค้าคำนวณแล้วว่าค่า Expectancy ของเขาต้องเป็นบวก ไม่งั้นเค้าจะไม่เปิดบ่อน Casino ให้เราเข้าไปเล่นแน่นอน 😂) 

ยกตัวอย่างเช่นหากเราทำการคำนวณค่า Expectancy จากแนวคิดของ Jeff Bezos ที่บอกให้เราลงทุนเฉพาะในสิ่งที่จะให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินลงทุนที่ 100 ขึ้นไปนั้น หากเรามีโอกาสสำเร็จเพียงแค่ 1 ใน 10 ครั้งหรือแค่เพียง 10% เราจะได้ค่า Expectancy (E) ดังนี้

กำหนดให้ค่าของผลตอบแทนต่อความเสี่ยงมีหน่วยเป็น X

E = (100X * 10%) + (-1X * 90%)
E = (100X * 0.1) + (-1X * 0.9)
E = (10X) + (-0.9X)
E = 9.1X

ดังนั้นแล้ว จากการคำนวณตามสูตร Expectancy ออกมานั้น หากคุณเดิมพันในสิ่งเหล่านี้บ่อยๆไปเรื่อยๆจนมากเพียงพอแล้วล่ะก็ แม้ว่าคุณจะมีโอกาสสำเร็จเพียงแค่ 10% แต่ผลกำไรสุทธิโดยเฉลี่ยของคุณในการลงทุนแต่ละครั้งนั้น จะมีค่าอยู่ที่ราวๆ 9.1 เท่าของความเสี่ยงเลยทีเดียว! (พูดง่ายๆก็คือทุกครั้งที่คุณเดิมพันลงไป คุณจะได้กำไรเฉลี่ยถึง 9.1 เท่าของเงินที่ลงนั่นเอง) 

และนี่ก็คือข้อเท็จจริงที่สามารถคำนวณและพิสูจน์ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่มีใครสามารถปฎิเสธหรือหยุดยั้งธรรมชาติของมันได้นั่นเอง!!

3. Law of Large Numbers and The Continuous Game :

สำหรับประเด็นในข้อสุดท้ายนี้ ผมอยากเน้นย้ำให้คุณได้เข้าใจอีกครั้งหนึ่งว่าการที่กลไกของ Moonshot Philosophy และ Mathematical Expectancy ของ “ปรัชญาการลงทุน 100X” จะทำงานได้เป็นอย่างดีนั้น คุณจะต้องไม่ลืมว่าพวกมันคือปรากฎการณ์ทางธรรมชาติตามหลักการทางสถิติ มันจึงต้องการกลุ่มตัวอย่างหรือ Sample Size ที่มีจำนวนมากเพียงพอก่อนที่มันจะสามารถสะท้อนถึงพลังของมันออกมาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามกฎว่าด้วยจำนวนของหลักการทางสถิตินั่นเอง! (Law of Large Numbers)

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม Jeff Bezos จึงได้เน้นย้ำว่า หากความสำเร็จนั้นสามารถที่จะให้ผลตอบแทนกับคุณเป็น 100 เท่า เมื่อเทียบกับต้นทุนที่คุณได้เดิมพันมันลงไปล่ะก็ ผมคิดว่าคุณควรที่จะตัดสินใจเดิมพันกับพวกมันในทุกๆครั้งที่มีโอกาสเกิดขึ้นมาอยู่เสมอ” นั่นก็เพราะหากคุณตัดสินใจทำมันแบบลุ่มๆดอนๆเดี๋ยวทำเดี๋ยวหยุดล่ะก็ กลไกเบื้องหลังที่ได้ถูกออกแบบเอาไว้ก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากคุณหยุดทำมันกลางคัน คุณก็อาจจะต้องจมอยู่กับการขาดทุนด้วยกลยุทธ์การเดิมพันในลักษณะนี้ก็เป็นไปได้

และเพื่อที่จะทำให้คุณได้เห็นผลลัพธ์ของมันอย่างชัดเจนนั้น ผมจึงได้ทำการทดลองสร้างผล Simulation ของผลตอบแทนสะสม ซึ่งเกิดขึ้นจาก “ปรัชญาการลงทุน 100X” ของ Jeff Bezos ซึ่งมีค่า Expectancy ที่ราว 9.1 เท่า เป็นจำนวน 10 รอบ (10 Random Experimental Runs) เพื่อให้มันเป็นตัวแทนของคนจำนวน 10 คน ซึ่งได้ทดลองใช้แนวคิดนี้ในการลงทุนของพวกเขา โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีลักษณะดังต่อไปนี้

ภาพที่ 1 : กราฟแสดงผลกำไร-ขาดทุนสะสม จากการทดลองสุ่มตัวเลขผลกำไรและขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น (Random Profit & Loss Simulation) โดยมีค่า Expectancy ที่ 9.1 เท่า โดยเมื่อได้กำไรเราจะได้กำไร 100 เท่าของความเสี่ยง และมีโอกาสได้กำไรอยู่ที่ 10% (หากอ่านแล้ว งง ให้ลองคิดว่าเวลาได้ ได้ทีละ 100 บาท เสียทีละ 1 บาท และมีโอกาสได้กำไร 10% ในการสุ่มผลแต่ละครั้ง)

ซึ่งจากภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่าผลกำไร-ขาดทุนสะสมจากการสุ่มนั้น ในระยะสั้นๆที่จำนวนครั้งหรือ Sample Size ยังไม่มากเพียงพอที่ราวๆ 1-20 ครั้งนั้น จะยังอาจทำให้เกิดการขาดทุนสะสมในบางการทดลองสุ่มขึ้นมาได้ แต่เมื่อจำนวน Sample Size ได้เพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ยาวนานออกไปที่ราว 20-30 ครั้งขึ้นไป ผลกำไรขาดทุนสะสมก็จะค่อยๆกลายเป็นบวกขึ้นในทุกๆการทดลอง และค่อยๆทวีคูณขึ้นไปตามลำดับ จนในที่สุดแล้วทุกๆการทดลองได้จบลงด้วยการมีกำไรสะสมมากกว่า 500 เท่า ภายหลังจากมี Sample Size ของการสุ่มที่ 100 ครั้ง 

บทสรุปปรัชญาการลงทุน 100 เท่าของ Jeff Bezos

หลังจากผมได้ทำการเล่าถึงแนวคิดและพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ในปรัชญาการลงทุน 100 เท่าของ Jeff Bezos กันไปแล้วนั้น ผมหวังว่าพวกเราหลายๆคนก็น่าที่จะพอจินตนาการได้ถึงพลังของมันกันได้อย่างชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว 

แน่นอนครับว่าในชีวิตและการลงทุนจริงๆนั้น เราคงจะไม่สามารถที่จะทำการคาดคะเนถึงค่า Pay-Off ได้อย่างแม่นยำอยู่เสมอ ว่าการลงทุนในครั้งใดที่จะให้ผลตอบแทนถึง 100 เท่าเมื่อเราคิดถูกต้องได้อย่างแน่นอน เพราะปัจจัยแวดล้อมภายนอกหลายๆอย่างในการลงทุนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และในบางครั้งที่คุณคิดถูกนั้น คุณอาจได้กำไรเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซนต์ หรืออาจไม่เคยได้กำไรถึง 100 เท่าจากการเดิมพันของคุณเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ว่าคุณจะได้ผลตอบแทน 100 เท่าสักครั้งหรือไม่ แต่มันคือการเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองจากการลงทุนที่มุ่งเน้นถึงความถูกต้องและการคาดหวังผลตอบแทนทีละเล็กละน้อยๆ มาเป็นการพยายามมองหาโอกาสในการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งแม้ว่าจะสำเร็จได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็มีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่มหาศาลขึ้นมาแทน เพราะนอกจากมันจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่เป็นบวกได้เป็นอย่างดีแล้วนั้น มันยังช่วยให้เราสามารถโฟกัสและทุ่มเทได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามปรัชญาของการทำน้อยแต่ได้มากในการลงทุนกันอีกด้วย (ผมจะหาโอกาสเขียนเรื่องกฎ 80/20 ของ Pareto ในการลงทุนเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งนะครับ) 

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ในการลงทุนและทำธุรกิจของทุกคนไม่มากก็น้อย แล้วพบกันในบทความต่อไปครับ 😃

Write A Comment