งานวิจัยและบทความทั้งหมด

โรคระบาด และผลกระทบต่อตลาดหุ้น!

SiamQuant Team
ติดตามพวกเรา

ท่ามกลางความกังวลต่อชีวิตและสุขภาพของทุกๆคนจากไวรัสไข้หวัด “อู่ฮั่น” (Novel Corona Virus) ที่กำลังเริ่มต้นระบาดอยู่ในขณะนี้ หลายคนจึงเริ่มมีความวิตกต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยอยู่ไม่น้อย ในบทความนี้เราจะมาเล่าถึงสถิติของผลตอบแทนของตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ภายหลังจากที่เกิดโรคระบาดที่ร้ายแรงขึ้นในโลก รวมถึงวิธีรับมือกับมันในการลงทุนอย่างมีสติกันครับ! 😀

ไวรัส “อู่ฮั่น” ไม่ใช่โรคระบาดร้ายแรงครั้งแรกที่ตลาดหุ้นทั่วโลกได้เผชิญ!

ประเด็นแรกที่ผมอยากบอกให้ทุกคนได้รู้กันก่อนก็คือ อันที่จริงแล้วตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยนั้น ได้เผชิญกับข่าวร้ายของโรคระบาดที่แสนอันตรายมาแล้วเป็นสิบๆครั้ง ในช่วงเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา! 

และแม้นี่จะเป็นครั้งแรกของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าชนิดนี้ที่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีตัวยาที่ช่วยรักษาได้โดยตรง แต่มันก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่โรคระบาดต่างๆได้ก่อให้เกิดความสะพรึงกลัวลามมาถึงตลาดหุ้นเลย

แน่นอนครับว่าในที่สุดแล้ว พวกเราก็ผ่านมันมาได้ …

คำถามก็คือแล้วเราผ่านมันมาได้ด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่แพงแค่ไหน? (หรือมันอาจเป็นสิ่งที่เป็นบวกกับตลาดหุ้นแทนกันแน่?)

ในบทความนี้ผมจึงอยากที่จะค่อยนำเอาสถิติต่างๆจากทั้งตลาดหุ้นทั่วโลกมาเล่าให้ฟังกัน ว่าแล้วก็ตามอ่านกันได้เลยครับ!

โรคระบาดและผลกระทบสู่ตลาดหุ้นทั่วโลก

สำหรับผลกระทบของโรคระบาดต่อผลตอบแทนของตลาดหุ้นทั่วโลกนั้น เราสามารถที่จะทำการตรวจสอบผลกระทบของมันได้จากดัชนี MSCI World Index ซึ่งถือเป็นดัชนีที่สะท้อนถึงผลตอบแทนของกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่และขนาดกลางของตลาดหุ้นที่เจริญแล้ว (Developed Market) จำนวน 23 ประเทศทั่วโลก (แน่นอนครับว่ายังไม่รวม SET Index เข้าไปนะครับ :P) 

โดยที่สำหรับข้อมูลตรงนี้นั้น โชคดีหน่อยที่เราได้มีคนที่ได้ทำสรุปสถิติต่างๆเอาไว้ให้เราได้อ่านกันแล้วดังภาพและตารางด้านล่างนี้ครับ

ภาพที่ 1 : ผลตอบแทนของดัชนี MSCI World Index ภายหลังการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรงในอดีตที่ผ่านมา จากทาง Charles Schwab

โดยที่เราจะสังเกตได้ว่าภายหลังจากที่เกิดการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรงเหล่านี้ไม่นานนัก ดัชนี MSCI World ที่สะท้อนถึงตลาดหุ้นขนาดใหญ่และกลางทั่วโลกก็มักค่อยๆทะยานขึ้นไปได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมีค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนในภาพรวม 1, 3 และ 6 เดือนภายหลังการระบาดอยู่ที่ 0.44%, 3.08% และ 8.50% ตามลำดับ 

จากข้อมูลที่เกิดขึ้นนั้นเราจึงพอที่จะอนุมานคร่าวๆได้ว่า ถ้าการระบาดของไวรัส “อู่ฮั่น” ครั้งนี้ไม่ทำให้โลกกลายเป็นซีรี่ส์ Walking Dead ขึ้นแล้วล่ะก็ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ก็น่าจะสามารถดีดตัวกลับขึ้นไปภายหลังจากเกิดความวิตกกังวลกันได้อย่างไม่ยากนักนั่นเองครับ! (ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์วิกฤติอื่นๆมาแทรกเพิ่มเติมด้วยนะครับ)

โรคระบาดและผลกระทบสู่ตลาดหุ้นไทย

ในคราวนี้เราจะมาดูผลกระทบของโรคระบาดต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลกกับตลาดหุ้นไทยกันบ้าง ซึ่งผมได้นำเอาลิสต์รายชื่อโรคระบาดและช่วงเวลาในการแพร่ระบาดจากข้อมูลข้างต้นที่ได้จาก Charles Schwab และ Dow Jones Market Data มาเป็นจุดเริ่มต้นในการวิจัยศึกษากับดัชนี SET Index ในครั้งนี้กัน โดยได้ผลดังกราฟและตารางด้านล่างนี้ครับ

ภาพที่ 2 : ผลตอบแทนภายหลังการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรงต่างๆ ตามระยะเวลาจากวันทำการของตลาดหุ้นไทย (SET Index Trading Days) ที่ระยะ +5, +10, +20 (1 เดือน), +60 (3 เดือน), +120 (6 เดือน), +260 (1 ปี)

Day+20 Day+60 Day+120 Day+260
Events 12 12 12 12
Positive Case 9 6 6 7
% Positive Case 75.00% 50.00% 50.00% 58.33%
Average 3.29% 2.73% 8.03% 12.98%
Median 2.83% 0.09% 0.19% 7.01%
Max Return 16.80% 26.91% 62.63% 62.53%
Min Return -7.05% -18.33% -19.49% -15.33%

ตารางที่ 1 : สถิติภาพรวมของผลตอบแทนภายหลังการแพร่ระบาด ตามระยะเวลาจากวันทำการของตลาดหุ้นไทย (SET Index Trading Days) ที่ระยะ 5, 10, 20 (1 เดือน), 60 (3 เดือน), 120 (6 เดือน), 260 (1 ปี)

โดยที่เราจะสังเกตได้ว่าจากข้อมูลที่เกิดขึ้นนั้น การแพร่ของโรคระบาดร้ายแรงนั้นแทบไม่ได้ส่งผลที่ชัดเจนกับตลาดหุ้นไทยหรือดัชนี SET Index เลยในอดีต! โดยจากเหตุการณ์ (Events) ทั้ง 12 ครั้งนั้นพบว่าภายหลังการระบาดแล้ว ตลาดหุ้นไทยนั้นไม่ได้มีแนวโน้มที่จะบวกหรือลบอย่างชัดเจน โดยมี %Postive Case อยู่ที่ราว 50% ในภาพรวม และให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยแบบ Average และ Median เป็นบวกในทุกช่วงเวลาภายหลังการแพร่ระบาดคล้ายกับดัชนี MSCI World 

นอกจากนั้นแล้วในบางครั้งตลาดหุ้นไทยก็ยังกลับวิ่งขึ้นไปจนให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกได้อย่างรุนแรงถึงราว +60% ภายหลังการแพร่ระบาดของโรค SARs ในช่วงปี ค.ศ. 2003 โดยในกรณีที่เลวร้ายนั้น ตลาดหุ้นไทยเคยให้ผลตอบแทนที่ติดลบรุนแรงที่สุดที่ -19% ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคปอดในอินเดียเมื่อปี ค.ศ. 1994 (Pneumonic Plague) อย่างไรก็ตาม เหตุผลของการร่วงหล่นของดัชนีกลับไม่ใช่เรื่องของโรคระบาด แต่เป็นเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ที่เริ่มต้นก่อตัวขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1994 จนลากให้ตลาดหุ้นลงยาวๆไปถึงปี ค.ศ. 2000 เลยต่างหาก

เราจึงพอจะอนุมานสรุปคร่าวๆได้ว่าจากสถิติที่เกิดขึ้นได้ว่า ถ้าการระบาดของไวรัส “อู่ฮั่น” ครั้งนี้ไม่ทำให้โลกกลายเป็นซีรี่ส์ Walking Dead ขึ้นแล้วล่ะก็ ตลาดหุ้นไทยก็น่าจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสสักเท่าไหร่นักนั่นเองครับ! (ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์วิกฤติอื่นๆมาแทรกเพิ่มเติมด้วยนะครับ)

แล้วเราควรเตรียมตัวรับมือกับไวรัส “อู่ฮั่น” อย่างไรในตลาดหุ้น?

สำหรับผมแล้ว ผมเองเชื่อว่าสิ่งที่มักจะก่อให้เกิดอันตรายในการลงทุนที่สุดนั้น มักไม่ใช่เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในตลาดหุ้นสักเท่าไหร่นัก แต่กลับเป็นเรื่องของการขาดหลักการลงทุนที่ดี การขาดวินัยในการลงทุน รวมไปถึงจิตวิทยาการลงทุนที่จะช่วยประคองให้นักลงทุนสามารถทำสิ่งที่ควรทำเพื่อส่งผลดีกับผลตอบแทนในระยะยาวแทนต่างหาก

โดยหากว่าคุณมีข้อมูลที่ช่วยพิสูจน์ได้ว่าหลักการลงทุนของคุณเป็นสิ่งที่ยั่งยืนในระยะยาวแล้วล่ะก็ สิ่งที่คุณควรทำที่สุดก็คือการทำตามแผนการลงทุนที่เหมาะสมของคุณต่อไปให้ได้อย่างมั่นคงนั่นเองครับ!

เพราะหากหลักการลงทุนของคุณเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพจริงๆล่ะก็ ต่อให้เจอกับเหตุการณ์เลวร้ายอีกสักสิบครั้ง มันก็จะช่วยให้ปกป้องความเสี่ยง และทำให้พอร์ตโฟลิโอของคุณค่อยๆกลับมาสร้างผลตอบแทนทีเป็นบวกได้ในระยะยาวได้ในที่สุด แต่ถ้าหากมันเป็นหลักการที่ไม่เหมาะสมนั้น ต่อให้พอร์ตของคุณจะรอดจากไวรัส “อู่ฮั่น” แต่มันก็จะต้องพังทลายลงจากเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตสักครั้งอย่างแน่นอน!

ดังนั้นแล้วสำหรับข้อสรุปในเรื่องนี้ ผมจึงอยากจะทิ้งท้ายไว้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนนั้น ก็คือการทำตามหลักการลงทุนที่ดีของคุณเอาไว้ให้ได้มากที่สุด โดยอย่าได้เอาอารมณ์หรือความตื่นตระหนกใดๆเข้ามาบั่นทอนทำลายแผนการณ์ลงทุนที่ดีของคุณในระยะยาวนั่นเองครับ

สุดท้ายนี้ ผมอยากทิ้งท้ายย้ำเตือนไว้ว่าโรคระบาดไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับตลาดหุ้นสักเท่าไหร่นัก เอาเวลาไปป้องกันและดูแลสุขภาพของเราให้แข็งแรง ไม่ติดเชื่อติดโรคกันง่ายๆดีกว่าครับ

แล้วเจอกันใหม่บทความหน้าครับผม 😀

Write A Comment