องค์ความรู้จากการลงทุนอย่างเป็นระบบ

เหตุผลที่คุณไม่จำเป็นต้องคาดการณ์ตลาด เพื่อทำกำไรในการลงทุน!

มด แมงเม่าคลับ
ติดตามผม

การคาดการณ์ตลาด, เศรษฐกิจ และเหตุการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นนั้น ถือเป็นของคู่กันกับนักลงทุนมาอย่างช้านาน เนื่องจากคนส่วนใหญ่คิดว่ามันเป็นวิธีการที่จะช่วยให้เราสามารถทำกำไรจากตลาดขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม น้อยคนนักที่จะเข้าใจดีว่าการคาดการณ์อนาคตให้ได้อย่างแม่นยำอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และไม่ได้มีความจำเป็นในการทำกำไรจากการลงทุนเลย! ในบทความนี้ ผมจึงอยากจะขออธิบายถึงเหตุและผลที่อาจช่วยทำให้คุณเลิกเสพย์ติดและพยายามคาดเดาตลาด อีกทั้งยังจะสามารถช่วยให้เราทำกำไรได้อย่างยั่งยืนในการลงทุนกันอีกด้วยครับ

ทำไมเราจึงไม่สามารถพยากรณ์ตลาดได้อย่างแม่นยำ?

ทำไมการพยากรณ์ตลาดจึงอยากนัก?

คำตอบแบบตรงประเด็นเลยก็เพราะตลาดหุ้นนั้น (หรือตลาดการเงินอื่นๆ) เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมากๆ และมีตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อกันอยู่มากมาย อีกทั้งผลกระทบกันไปมาของตัวแปรแต่ละตัวแปรนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนอยู่เสมออีกด้วย มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณหรือใครๆ จะสามารถคาดเดาตลาดได้อย่างแม่นยำอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าเราจะพยายามอย่างไรก็ตาม ซึ่งข้อจำกัดหรือ Limitation ในการพยากรณ์ตลาดของเรานั้น จะสามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่หลักๆได้ดังต่อไปนี้

Human Brain Limitation : ขีดจำกัดจากการใช้วิจารณญาณ

โดยเมื่อเรามองไปยังข้อจำกัดในการวิเคราะห์และประมวลผลจากสมองของมนุษย์อย่างเรานั้น เราจะพบว่าจุดอ่อนสำคัญมากๆจากสมองของเรา ก็คือความลำเอียงในการตัดสินใจโดยปราศจากอารมณ์ (Bias), ข้อจำกัดในการจดจำและวิเคราะห์ถึงข้อมูลที่มีจำนวนมาก (Big Data), ข้อจำกัดในการวิเคราะห์ถึงปัญหาที่มีลักษณะซับซ้อนหลายตัวแปร (Complex Problem) และข้อจำกัดในการวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ของตัวแปรที่เกิดผลกระทบอย่างไม่ตรงไปตรงมาอยู่ตลอดเวลา (Non-Linear Problem) ซึ่งปัจจัยต่างๆที่ว่ามานี้นั้น ถือได้ว่าเป็นสภาพแวดล้อมโดยปกติที่เราจะต้องเผชิญในตลาดและในการลงทุนของเราอยู่เสมอ! มันจึงเป็นเรื่องยากมากๆที่ใครสักคนหนึ่งจะสามารถใช้สมองวิเคราะห์และคำนวณสิ่งต่างๆได้อย่างถูกต้องอยู่เสมอในระยะยาวกันนั่นเองครับ

Predictive Model & Data Limitation : ขีดจำกัดจากการใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์

ในทางกลับกันนั้น หากว่าเราตัดสินใจที่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประมวลผลและการพยากรณ์ของเรานั้น ผมก็ยังคงต้องแจ้งให้ทราบถึงข่าวร้ายว่าแม้แต่ในปัจจุบันนี้นั้น กระทั่งสุดยอดกองทุน Hedge Fund ซึ่งมีทั้งเงินทองที่มากมายมหาศาลและทรัพยากรบุคคลที่สุดยอดในระดับยิ่งกว่าหัวกะทิบนโลกใบนี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะประสบกับความสำเร็จในการพยากรณ์ตลาดได้อย่างแม่นยำได้อยู่ดี 

โดยที่ประโยคต่อไปนี้นั้น คือสิ่งที่ Ray Dalio ผู้ก่อตั้งกองทุน Bridgewater ซึ่งเป็น Hedge Fund ที่ใหญ่ที่สุดโลกในขณะนี้ได้กล่าวเอาไว้ในการให้สัมภาษณ์กับรายการของสถานีโทรทัศน์ CNBC ครับ

“Don’t try to time [the market] yourself because you’ll probably lose,” he said. The odds, Dalio said, are stacked against you — for instance, Bridgewater spends “hundreds of millions of dollars” a year trying to get an edge, and it is still “competitive” even for them.

แปลเป็นไทยง่ายๆได้ว่า

อย่าพยายามจับจังหวะตลาดด้วยตัวของคุณเองเลยครับ เพราะคุณมีโอกาสสูงมากๆที่จะไม่ประสบความสำเร็จและขาดทุน เนื่องจากแต้มต่อในการทำอย่างนั้นไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับคุณเลย ตัวอย่างง่ายๆเลยนะครับ ขนาดกองทุน Bridgewater ที่ได้เคยใช้เงินทองไปเป็นจำนวนหลายร้อยล้านเหรียญดอลลาร์มาเป็นเวลาหลายปี เพื่อที่จะวิจัยค้นหาวิธีการเหล่านั้นออกมานั้นออกมาให้ได้ มันยังถือเป็นเรื่องยากมากๆเลยด้วยซ้ำ!

มาถึงตอนนี้หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วทำไมมันจึงเป็นสิ่งที่ยากอย่างนั้น แม้กระทั่งกับสุดยอดโมเดลการพยากรณ์ทางคณิตศาสตร์และสถิติที่สุดลึกล้ำของบรรดาสุดยอดกองทุนในปัจจุบันนี้?

คำตอบก็เพราะหากเราต้องการที่จะสร้างโมเดลที่สามารถทำนายตลาดออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบจริงๆนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับตลาดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก (ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักลงทุนโดยทั่วไปมีในทุกๆวันนี้ อาทิเช่น Data ที่ Scrap มาจาก Yahoo.com 🤪) และเนื่องจากตัวแปรที่มีผลกระทบกับตลาดนั้นมีอยู่เป็นร้อยเป็นพันตัวแปร อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีตัวแปรใหม่ๆเกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ (ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น การถือกำเนิดขึ้นมาของ Cryptocurrency และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง) มันจึงเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทำเช่นนั้นได้ 

นอกจากนั้นแล้ว ด้วยความที่ผลกระทบจากตัวแปรต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อกันไปมาเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมากๆ มันจึงเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันที่เราจะพยากรณ์มันออกมาได้อย่างแม่นยำ โดยที่มันได้เคยถูกพิสูจน์เอาไว้ในเชิงคณิตศาสตร์ จนทำให้ศาสตร์จารย์อองรี ปวงกาเร (Henri Poincare) สุดยอดนักคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศษ ได้รับรางวัลจากพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดน ในปี ค.ศ. 1889 เลยทีเดียว โดยที่ศาสตราจารย์ปวงการเรได้ค้นพบว่า เพียงแค่ปัญหาที่มีตัวแปรหรือวัตถุแค่ 3 ตัวแปรนั้น ผลกระทบไปมาจากตัวแปรแต่ละตัวที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันนั้น ก็ทำให้เราไม่สามารถที่จะสามารถคำนวณออกมาได้อย่าง “แน่นอน” ว่า ผลกระทบจากการตอบสนองไปมาของตัวแปรแต่ละตัว จะก่อให้เกิดสิ่งไดหรือเกิดขึ้นในรูปแบบใดได้เลย และนี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดหุ้น, ตลาดพันธบัตร และตลาดอนุพันธ์ล่วงหน้า รวมถึงตลาดการเงินอื่นๆเช่นเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องที่จะส่งผลกระทบอีกอย่างต่อความแม่นยำในการพยากรณ์ของโมเดลนั้น ก็คือการใช้คำพยากรณ์นั้นมาทำการลงทุนจริงๆในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโมเดลหรือสูตรคณิตศาสตร์ที่ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการทำนายซึ่งเป็นที่เผยแพร่กันโดยทั่วไป (ใช่แล้วครับ ไม่ว่าจะเป็น Indicators หรือโมเดลคณิตศาสตร์ในการทำนายที่เราหยิบใช้จากภาษา Programing แบบ Open Source กันทั่วบ้านทั่วเมืองกันนั่นเอง) โดยเมื่อเราและคนอีกหลายๆคนได้ใช้มันทำนายและลงทุนตามไปพร้อมๆกันในตลาดนั้น มันก็อาจสามารถที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดโดยตรงได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งทำให้มันส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการพยากรณ์ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนั่นเอง

ดังนั้นแล้วข้อสรุปในเรื่องนี้ง่ายๆเลยก็คือ โลกของเรานั้นมันช่างยิ่งใหญ่นัก และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายมากกว่าที่ Super Computer และ Predictive Model ที่ละเอียดและซับซ้อนที่สุดของเราจะสามารถเก็บรายละเอียดและคำนวณออกมาได้ทั้งหมด อีกทั้งโมเดลที่มีความซับซ้อนเหล่านี้นั้น (มีการวัดหรือใช้ตัวแปรมากกว่า 3 ตัวขึ้นไป) ก็มักที่จะเสี่ยงต่อการจับเอาข้อมูลที่ไม่ใช่สาระสำคัญในอดีตมาใช้พยากรณ์อนาคต (Curve-Fitting) และพังทลายลงให้เราพยายามใช้มันที่จะพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นใตลาดออกมานั่นเอง และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยมี Data Scientist คนไหนไม่เคยพูดถึง ไม่เชื่อก็ลองไปหาอ่านบทความต่างๆกันเพิ่มได้บนอินเตอร์เนท อาทิเช่นบทความ Quit Trying to Predict The Market และบทความอื่นๆอีกมากมายครับ

ผลเสียของการยึดติดกับการพยากรณ์ตลาดมากจนเกินไป

หลังจากที่ผมได้เล่าถึงเหตุผลบางส่วนที่ทำให้เราไม่มีวันที่จะคาดการณ์หรือพยากรณ์ตลาดและอนาคตกันได้อย่างแม่นยำไปแล้วนั้น ผมเองคิดว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่คุณควรจะรู้เอาไว้ว่าการยึดติดกับการพยากรณ์ตลาดเป็นแก่นสำคัญในการลงทุนนั้นจะส่งผลเสียกับคุณได้มากแค่ไหน

ซึ่งเหตุผลหลักๆที่มันทำให้การยึดติดกับการพยากรณ์หรือการคาดการณ์ตลาดให้ได้อย่างแม่นยำเลยก็คือเรื่องของอคติในการลงทุนหรือ Investment Bias นั่นเอง โดยที่มันอาจทำให้คุณเกิดอาการดังต่อไปนี้ จนส่งผลกระทบในการลงทุนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ยกตัวอย่างเช่น มันอาจส่งผลให้คุณเกิดความมั่นใจเกินไป (Over Confident Bias) ซึ่งจะทำให้คุณเกิดการ Overtrade หรือลงทุนด้วยการแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนจนเกินพอดี ซึ่งเป็นสาเหตุให้นักลงทุนหลายต่อหลายคนหมดตัวกันแบบไม่รู้ตัวกันมาอย่างมากมาย 

นอกจากนั้นแล้ว ยิ่งเมื่อคุณได้ตกลงปลงใจที่จะเชื่อการพยากรณ์หรือคาดการณ์เหล่านั้นอย่างสุดใจแล้ว มันก็อาจทำให้คุณเกิดความ “อิน” จมปลัก (Commitment Bias) ซึ่งจะทำให้คุณไม่ยอมเปิดรับต่อข้อมูลข่าวสารชิ้นใหม่ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบกับการพยากรณ์และคาดการณ์ของคุณได้ ซึ่งอคติเหล่านี้ก็ได้เคยทำให้นักลงทุนหลายต่อหลายคนต้องเกิดอาการซึมเศร้าและความหวาดกลัวจากประสบการณ์การติดหุ้นหรือติดดอยกันมานักต่อนักแล้ว!

ด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง คุณจึงควรที่จะเลิกยึดติดหรือเสพย์ติดกับคำพยากรณ์หรือการคาดการณ์มากจนเกินไป เพราะอย่าลืมว่าแท้จริงแล้วหัวใจของการลงทุนหรือการเก็งกำไรนั้น มันไม่ใช่เกมของการที่ว่าเราจะทาย “ถูก” หรือ “ผิด” เพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเกมของการทำกำไรให้มากกว่าการขาดทุนที่เคยเกิดขึ้นต่างหาก ดังเช่นที่ George Soros พ่อมดการเงินที่หลายๆคนเกลียดชังได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“It’s not whether you’re right or wrong, but how much money you make when you’re right and how much you lose when you’re wrong.” – George Soros

ซึ่งผมอยากให้นักลงทุนทุกคนได้ตระหนักและเน้นย้ำเอาไว้ในใจอยู่เสมอว่า

“มันไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะคิดถูกหรือคิดผิด แต่มันสำคัญที่ว่าคุณทำกำไรได้มากแค่ไหนเมื่อคุณคิดถูก และคุณขาดทุนมากแค่ไหนเมื่อคุณคิดผิดไปต่างหากครับ!

วิธีการทำกำไรในการลงทุน โดยไม่ต้องคาดการณ์

มาถึงในขณะนี้นั้น ผมเชื่อว่านักลงทุนโดยเฉพาะมือใหม่หลายๆคนอาจมีคำถามต่อมาว่า “แล้วเราจะทำกำไรได้อย่างไรโดยไม่ต้องคาดการณ์ในการลงทุน?”

คำตอบของผมนั้นง่ายๆมากๆครับ นั่นก็เพราะหากว่าคุณลองทำการพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงหลักวิชาการลงทุนหรือการเก็งกำไรที่ได้รับการยอมรับถึงความสำเร็จกันอย่างกว้างขวาง รวมถึงแนวคิดของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกหลายต่อหลายคนนั้น คุณจะพบว่าพวกเขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่

Re-Act NOT Pre-Act!

อาทิเช่น คุณจะเห็นได้ว่าความจริงแล้วแก่นแท้ของหลักของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ Value Investing นั้นคือการรอคอยเพื่อที่จะ “ซื้อหุ้น ณ ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง” ซึ่งไม่มีคำหรือวลีไหนเลยที่บอกให้คุณต้องพยายามคาดเดาว่าตลาดจะเป็นไปอย่างไรในวันนี้หรือพรุ่งนี้! 

และสำหรับในส่วนของหลักการลงทุนตามแนวโน้มหรือ Trend Following นั้น แก่นของหลักการที่แท้จริงของมันก็คือการรอคอยเพื่อที่จะ “เข้าซื้อหรือขายหุ้นตามแนวโน้มของราคาที่เกิดขึ้น” ซึ่งเมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่ามันคือการรอคอยให้เกิดแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นมาก่อน และทำการลงทุนไป “ตาม” แนวโน้มของตลาด (ไม่ใช่การ “นำ” แนวโน้ม) ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของคำว่า Trend “Following” นั่นเอง

หรือแม้กระทั่งหลักการจัดพอร์ตโฟลิโอหรือการทำ Asset Allocation นั้น หัวใจหลักของมันก็คือการผสมผสานสินทรัพย์ที่คุณลักษณะและผลตอบแทนที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน (Non or Low Correlation) เพื่อเป็นการสร้างพอร์ตโฟลิโอที่มีคุณลักษณะของผลตอบแทนที่เหมาะสมกับเป้าหมายในการลงทุนของแต่ละคน ไปตามสูตรการจัดพอร์ตต่างๆที่เคยได้ทำการพิสูจน์ไว้จากข้อมูล “ในอดีต” ที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้คุณก็ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องพยายามไปเสียเวลากับการทำนายตลาดอีกเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นแล้ว หากคุณจะถามว่าแล้ววิชาการลงทุนเชิงปริมาณในสมัยใหม่อย่าง Quantitative Investing มันไม่ทำการคาดการณ์ตลาดกันหรืออย่างไร? ผมก็คงจะต้องตอบว่าแม้ว่าเราส่วนใหญ่มักใช้คำว่า Predictive Model กันนั้น แต่เนื้อหาสาระที่สำคัญของการลงทุนในลักษณะนี้นั้น ความจริงแล้วกลับเป็นการพยายามทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อค้นหาถึง Pattern ของข้อมูลบางอย่าง ที่เราเชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการบ่งชี้ถึงราคาหรือข้อมูลบางอย่างในอนาคต ภายใต้กลุ่มตัวอย่างของการทำนายจำนวนหนึ่ง (ไม่ใช่ว่าเราจะคาดหวังว่ามันจะต้องถูกต้องเสมอไป อันที่จริงแล้ว Pattern หลายๆรูปแบบนั้นถูกต้องแค่เพียง 30% ก็เพียงพอที่จะช่วยให้เราสามารถทำกำไรในการลงทุนได้เป็นอย่างดีแล้ว) โดยหลังจากที่เราได้ค้นพบกับรูปแบบ Pattern ของข้อมูลบางอย่าง หรือสร้างระบบการลงทุนที่มีประสิทธิภาพในการทำกำไรกันออกมาเรียบร้อยแล้วนั้น สิ่งที่เราต้องทำต่อไปเรื่อยๆก็คือการ “รอคอย” ให้เกิดสัญญาณต่างๆขึ้น โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปปวดหัวกับการพยากรณ์ว่าตลาดจะดีหรือร้ายแต่อย่างใดครับ!

ดังนั้นแล้ว คุณจึงควรเข้าใจว่าหัวใจของหลักการลงทุนและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จึงอยู่ที่การกระทำตามสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม แทนที่จะเป็นการพยายามพยากรณ์ถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆให้ปวดหัว … ซึ่งเราจะสามารถทำมันได้ด้วยการวางแผนและเตรียมพร้อมก่อนการลงทุน และทำการ Re-Act NOT Pre-Act ไปตามกลยุทธ์ของเรานั่นเองครับ!

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการคาดการณ์ตลาด จากมุมมองของสุดยอดนักลงทุนระดับโลก

สุดท้ายนี้นั้น หากคุณยังไม่เชื่อในสิ่งที่ผมได้เล่าให้ฟัง และยังเชื่อว่าเราต้องพยายามพยากรณ์หรือคาดการณ์ตลาดให้ได้แล้วล่ะก็ อย่างน้อยผมก็หวังว่าคุณจะเชื่อในสิ่งที่บรรดาสุดยอดนักลงทุนระดับโลกเหล่านี้ได้เคยพูดเอาไว้ ตามภาพและข้อความด้านล่างต่อจากนี้กันนะครับ ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากที่คุณได้อ่านบทความนี้จนจบ หากคุณได้ยินใครพูดว่าเขารู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นและตลาดจะเป็นอย่างไรนั้น ขอให้คุณจงรู้ไว้ว่าความจริงแล้วเขาอาจเป็นเพียงแค่พวกขี้โม้, คนหลงตัวเอง, มั่นใจในตนเองมากจนเกินไป หรือไม่เขาก็อาจเป็นเพียงแค่มือสมัครเล่นไม่ต่างจากคนส่วนใหญ่เลยก็เป็นได้ครับ! 

และนี่ก็คือความคิดเห็นและคำเตือนจากบรรดาสุดยอดนักลงทุนระดับโลก ก่อนที่คุณจะคิดพยายามคาดการณ์อะไรเกี่ยวกับตลาดหรือเศรษฐกิจต่างๆ ที่ผมอยากฝากเอาไว้ให้ทุกคนได้อ่านกันก่อนจบบทความนี้ หวังว่าจะช่วยเปลี่ยนมุมมองทุกท่านได้ไม่มากก็น้อยครับ 😃

“ในตลาดหุ้นนั้น การมองย้อนกลับไปในอดีตนั้นมันชัดเจนอยู่เสมอ แต่การมองไปในอนาคตข้างหน้านั้น คุณจะไม่ต่างอะไรกับการเป็นคนตาบอดเลย”
– Benjamin Graham บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า Value Investing

“การพยากรณ์ว่าน้ำจะท่วมโลกเมื่อไหร่นั้นไม่สำคัญ ที่สำคัญกว่าคือคุณมีเรือโนอาห์แล้วหรือยัง”
– Warren Buffett สุดยอดนักลงทุนเน้นคุณค่าแบบ Value Investing

“เรามีความแม่นยำในการทำนายที่ราวๆ 50.75% เท่านั้น … ในธุรกิจนี้นั้น มันง่ายมากๆที่คุณจะสับสนระหว่างโชคกับมันสมองของคุณ”
– Jim Simons ผู้ก่อตั้งสุดยอดกองทุน Renaissance Technology

“โดยปกติแล้วตลาดการเงินเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ … ความคิดที่ว่าคุณจะสามารถทำนายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นนั้น มันช่างขัดแย้งกับมุมมองในการลงทุนของผมเหลือเกิน”
George Soros สุดยอดนักเก็งกำไรผู้ก่อตั้งกองทุน Quantum Fund

“ไม่มีใครทำนายได้หรอกว่าอัตราดอกเบี้ย, ทิศทางของเศรษฐกิจ หรือสภาวะของตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร … ที่ผ่านมานั้นมีนักลงทุนมากมายที่ต้องเสียเงินทองของพวกเขาไป จากการพยายามคาดเดาถึงการร่วงหล่นของตลาด มากกว่าที่ตลาดจะสูญเสียมูลค่าของมันไปจากการร่วงหล่นลงมาจริงๆ”
– Peter Lynch สุดยอดผู้จัดการกองทุนในตำนานแห่ง Magellan Fund

“การพยายามพยากรณ์ตลาดนั้น มันไม่แตกต่างอะไรกับการพยายามเปลี่ยนก้อนหินให้เป็นทองหรอก”
– Philip Fisher บิดาแห่งการลงทุนในหุ้นเติบโต ผู้เป็นต้นแบบของ Warren Buffett

 

“การคาดการณ์ตลาดล่วงหน้าคือการพนัน การเก็งกำไรคือการรอคอยอย่างอดทน และตอบสนองเมื่อตลาดได้เกิดสัญญาณบางอย่างขึ้น”
– Jesse Livermore สุดยอดนักเก็งกำไรในตำนานแห่งตลาดหุ้น Wall Street

“มันช่างเป็นการกระทำของคนที่โง่เขลาในการที่จะพยายามคาดการณ์ตลาด … สิ่งสำคัญที่สุดนั้นไม่ใช่การหยั่งรู้อนาคต แต่เป็นการรู้ว่าคุณจะตอบสนองอย่างไรให้เหมาะสมกับข้อมูลที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาต่างหาก”
– Ray Dalio ผู้ก่อตั้งกองทุน Bridgewater Hedge Fund ที่มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการที่สูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน

“เราทุกคนควรฝึกฝนการลงทุนเชิงรับเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากผลลัพธ์ส่วนใหญ่ในการลงทุนนั้นมักจะไม่เป็นผลดีกับเราเลย มันเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าเราจะอยู่รอดของเราภายใต้ผลลัพธ์ของการลงทุนที่ย่ำแย่ มากกว่าที่จะหาวิธีรับประกันว่าเราจะทำกำไรมากที่สุดได้อย่างไร”
– Howard Marks สุดยอดนักลงทุนเน้นคุณค่าผู้ก่อตั้งกองทุน Oaktree Capital 

“คุณควรจะหัดคาดหวังในสิ่งที่ไม่เคยคาดหวังในการเก็งกำไร และคุณควรจะต้องคาดหวังในสิ่งที่แย่ที่สุดเอาไว้อยู่เสมอ อย่าได้คิดว่าตลาดจะทำสิ่งต่างๆเพียงแค่ภายในกรอบที่คุณคาดคิดเอาไว้ … หากจะมีบทเรียนอะไรที่ผมได้เรียนรู้ในช่วงเวลากว่า 20 ปีในการเก็งกำไรแล้วล่ะก็ มันก็คือการที่เรื่องเหนือความคาดหมายและสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้นั้น จะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่เสมอ”
– Richard Dennis สุดยอดนักเก็งกำไรตามแนวโน้มผู้ก่อตั้งกลุ่มนักลงทุน Turtle Traders

“ผมไม่เคยการณ์ถึงอนาคตที่ยังไม่เคยมีอยู่จริง … หากว่าคุณต้องการหลีกเลี่ยงการขาดทุนแล้วล่ะก็ ขอให้คุณหยุดการลงทุนหรือเก็งกำไรซะดีกว่า”
– Ed Seykota สุดยอดนักเก็งกำไรตามแนวโน้มผู้บุกเบิกการลงทุนอย่างเป็นระบบเชิง Systematic Trading

“หัวใจสำคัญของทฤษฎี Black Swan ก็คือเหตุการณ์เลวร้ายที่นานๆจะเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จากการสังเกตการณ์เชิงประจักษ์ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น … และบางทีแล้วผมคิดว่านักลงทุนที่ชาญฉลาดที่สุด ก็คือคนที่รู้ดีว่าเขาไม่สามารถที่จะมองเห็นอนาคตที่ไกลออกไปได้เลย”
– Nassim Taleb สุดยอดนักลงทุนผู้ก่อตั้งกองทุน Empirica Capital และผู้เขียนหนังสือ Fool by Randomness รวมถึงทฤษฎี Black Swan

“เราจะไม่มีการพยาการณ์อะไรทั้งสิ้น! … ไม่มีใครสามารถที่จะทำนายอะไรได้อย่างถูกต้องอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะกับการเป็นนักลงทุน และเราเชื่อว่าผลกำไรของพวกเรา มาจากนักลงทุนที่เชื่อว่าพวกเขาสามารถคาดการณ์หรือทำนายตลาดได้อยู่เสมอ”
– John W. Henry สุดยอดนักเก็งกำไรตามแนวโน้มและเจ้าของทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล ผู้บุกเบิกการบริหารจัดการและแข่งขันในเกมกีฬาด้วยกลยุทธ์เชิงปริมาณ จนเป็นที่มาของภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง Moneyball

Write A Comment