บทความพิเศษ

รีวิวผลตอบแทน 33 กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 2019

มด แมงเม่าคลับ
ติดตามผม

ไกล้จบปี 2019 กันแล้ว รู้สึกสงสัยกันบ้างไหมครับว่าเราลงทุนได้ดีแค่ไหนในปีนี้ และอันที่จริงแล้วนักลงทุนส่วนใหญ่เขาจะมีผลตอบแทนกันเป็นอย่างไรบ้าง? 

ในบทความนี้ผมจะนำเอา 33 กลยุทธ์การลงทุนจากแนวคิดของเซียนหุ้นระดับโลก ซึ่งถือเป็นตัวแทน (Proxy) ของวิธีการลงทุนของนักลงทุนส่วนใหญ่มาทำการทดสอบในตลาดหุ้นไทยเพื่อวัดผลตอบแทนออกมาให้เห็นกัน เพื่อช่วยให้คุณสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนของคุณได้ในมุมมองที่กว้างกว่าเพียงการเปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผลตอบแทนจากกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว 

หวังว่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านครับ!

33 กลยุทธ์การลงทุนจากแนวคิดของเซียนหุ้นระดับโลก

ภาพที่ 1 : ภาพแสดงเส้น Equity ของกลยุทธ์ทั้งหมดใน SiamQuant AlphaSuite เปรียบเทียบกับดัชนี SETTRI Index (เส้นสีดำ) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2019-12-25

สำหรับการรีวิวผลตอบแทนของกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 33 รูปแบบในบทความนี้นั้น ผมได้นำเอากลยุทธ์การลงทุนจากแนวคิดของเซียนหุ้นชื่อดังต่างๆที่ผมและทางทีมงาน SiamQuant ได้เคยวิจัย และเผยแพร่ชุด Code Template เอาไว้ใน SiamQuant Amibroker’s AlphaSuite มาทำการทดสอบถึงผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยกันออกมา โดยที่เราสามารถที่จะแบ่งกลยุทธ์ต่างๆออกเป็น 5 กลุ่มหลักๆ ตามแนวทางและปรัชชญาการลงทุนที่แตกต่างกันไปดังต่อไปนี้

  • Momentum/Trend Following : แนวคิดการลงทุนที่พิจารณาที่ความแข็งแกร่งและแนวโน้มของราคาหุ้นเป็นหลัก โดยในแต่ละกลยุทธ์นั้นก็จะมีแนวคิดและใช้เครื่องมือทางเทคนิคในการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น กลยุทธ์ขง Jesse Livermore, Mark Minervini รวมถึง Mangmao All-Time-High ที่ผมเคยได้เผยแพร่เอาไว้
  • Growth Investing : แนวคิดการลงทุนที่พิจารณาแนวโน้มการเติบโตของกิจการจากข้อมูลปัจจัยพื้นฐาน โดยจะเน้นลงทุนในหุ้นของกิจการที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง อาทิเช่นกลยุทธ์การค้นหาหุ้น 10 เด้งของ Peter Lynch
  • Value Investing : แนวคิดการลงทุนแนวหุ้นคุณค่าที่พยายามหาหุ้นที่มีราคาตลาดต่ำกว่าราคาเหมาะสม (Intrisic Value) โดยในแต่ละกลยุทธ์นั้นก็จะมีแนวคิดและวิธีการคำนวนราคาเหมาะสมจากข้อมูลปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น กลยุทธ์ Buffettology ของ Marry Buffett, NCAV ของ Benjamin Graham หรือ Enterprise Multiple ของ Tobias Carlisle
  • Dividend Investing : แนวคิดการลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ให้เงินปันผลสูง อาทิเช่นกลยุทธ์หุ้นปันผล 10-11-12 ของ Marc Lichtenfeld หรือ Chowder Rule ของ Lowell Miller
  • Hybrid Investing  : แนวคิดการลงทุนแบบผสมผสาน โดยใช้ทั้งการวิเคราะห์แนวโน้มราคาหุ้นด้วยปัจจัยเทคนิค, การวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของกิจการ และ การวิเคราะห์ราคาเหมาะสมจากข้อมูลปัจจัยพื้นฐาน โดยในแต่ละกลยุทธ์การลงทุนนั้นก็จะมีแนวคิดการผสมผสานปัจจัยต่างๆที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น CANSLIM ของ O’Neil, Earning Surprise Breakout ของ Driehaus และ Zulu Principle ของ Jim Slater

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์การลงทุนในแนวทางต่างๆนี้นั้น ก็ค่อนข้างที่จะเพียงพอต่อการทำให้เราได้เห็นถึงภาพรวมของผลตอบแทนของนักลงทุนส่วนบุคคลกันส่วนใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากพวกมันถือได้ว่าเป็นแนวทางหลักๆที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยได้นำเอามาปรับใช้กันอย่างกว้างขวางนั่นเองครับ 

สถิติผลตอบแทนในภาพรวมของ 33 กลยุทธ์การลงทุนในปี 2019

สำหรับการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนต่างๆเพื่อวัดผลตอบแทนในบทความนี้นั้น เพื่อให้ผลลัพธ์นั้นได้สะท้อนถึงข้อจำกัดและสภาพแวดล้อมต่างๆของนักลงทุนส่วนบุคคลหรือรายย่อยในตลาดหุ้นไทยจนเกิดความสมจริงในระดับหนึ่งนั้น ผมได้ทำการทดสอบกลยุทธ์โดยกำหนดเงื่อนไขต่างๆในระดับอ่อนเอาไว้ดังนี้ (Mild Backtesting Restriction & Environment)

Condition Details
Backtesting Window
  • 01/01/2009 – 25/12/2019
Backtesting Restriction
  • เงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
  • อัตราค่า Commission 0.15% (รวมซื้อขาย 0.3%)
  • Long Only
  • ทดสอบบนฐานข้อมูล SiamQuant Hybrid Database  ที่รวมเงินปันผล
Universe
  • All Stocks หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์
Entry
  • ตามแนวคิดของแต่ละระบบ
Exit
  • ตามแนวคิดของแต่ละระบบ
Filters
  • กรองข้อมูลที่มีความผิดพลาดออกด้วย SQDataFilter(0)
Position Size
  • ตามแนวคิดของแต่ละระบบ
Position Score
  • ตามแนวคิดของแต่ละระบบ
Order Management
  • ทำการซื้อขายราคาเปิด (Open) ของวันถัดไปของวันที่เกิดสัญญาณ)

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขสำหรับการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 33 กลยุทธ์การลงทุนใน SiamQuant AlphaSuite

โดยหลังจากที่เราได้กำหนดเงื่อนไขการทดสอบต่างๆไว้เรียบร้อยแล้วนั้น ผมและทางทีมงาน SiamQuant ก็ได้ค่อยๆไล่ Backtest กลยุทธ์การลงทุนต่างๆใน SiamQuant AlphaSuite กันออกมา ซึ่งพวกมันก็ได้แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนในปี 2019 ออกมาในภาพรวมดังนี้ (ใครมึนกับข้อมูลให้ข้ามไปอ่านช่วงสรุปประเด็นได้เลยนะครับ :D)

ภาพที่ 2 : ภาพแสดงเส้น Equity ของกลยุทธ์ทั้งหมดใน SiamQuant AlphaSuite เปรียบเทียบกับดัชนี SETTRI Index (เส้นสีดำ) ตั้งแต่วันที่ 2019-01-01  ถึง 2019-12-25

ภาพที่ 3 : Bar Chart แสดงผลกำไร (Net Profit) ของกลยุทธ์ทั้งหมดใน SiamQuant AlphaSuite เปรียบเทียบกับดัชนี SETTRI Index (เส้นสีดำ) ตั้งแต่วันที่ 2019-01-01  ถึง 2019-12-25

(ตารางสามารถคลิ้กที่ชื่อกลยุทธ์สีเขียวเพื่ออ่านบทความเพิ่มเติมได้ครับ)

System Net Profit (%) Maximum Drawdown (%) Longest Drawdown (Months) Correlation with SET Index
SETTRI Index 3.81 -9.95 5.76 0.99
SQ Simple MACD -18.8 -21.42 8.04 0.02
SQ PE Band -8.4 -18.03 5.33 0.67
SQ Livermore -1.8 -5.29 4.47 0.27
SQ Elder Triple Screen With Force index -14.68 -15.63 8.14 0.48
SQ Elder Triple Screen With Force index (Modified) 0.7 -10.41 4.28 0.43
SQ Elder Triple Screen With MACD -2.59 -15.74 5.38 0.55
SQ Elder Triple Screen With MACD (Modified) -1.97 -14.13 4.67 0.55
SQ Buffettology -1.59 -8.66 4.8 0.66
SQ Buffettology (Modified) -3.96 -12.46 7.62 0.68
SQ TenBagger 1.38 -4.09 7.6 0.05
SQ TenBagger (Modified) -7.07 -16.64 4.95 0.71
SQ F-Score -12.45 -20.49 9.71 0.60
SQ CANSLIM -0.81 -1.967 9.19 0.37
SQ CANSLIM (Modified) 5.13 -8.42 3.52 0.62
SQ Mangmao ATH 6.51 -9.62 5.42 0.47
SQ Mangmao ATH with SET Filter 7.65 -15.12 5.42 0.38
SQ 52 Week High -3.15 -13.24 5.8 0.12
SQ NCAV Graham -13.1 -26.29 7.57 0.35
SQ Enterprise Multiple -14.17 -21.76 8.04 0.77
SQ Fibo Triple Moving Average -15.45 -16.36 10.23 0.67
SQ Marc Lichtenfeld 10-11-12 -2.89 -19.99 4.95 0.72
SQ Turtle Trading Signals -11.02 -19.41 5.8 0.48
SQ Z-Score 1968 -11.04 -16.44 4.95 0.65
SQ Z-Score 1985 -10.42 -17.75 4.81 0.65
SQ Minervini Trend template 7.31 -7.86 2.09 0.57
SQ Shareholder’s Yield -24.92 -20.56 9.90 0.29
SQ Magic Formula -13.49 -20.56 9.71 0.71
SQ Rinen System -2.69 -14.45 4.95 0.76
SQ ZULU Principle -5.98 -6.51 11.28 0.46
SQ Chowder Rule -4.92 -17.74 5.85 0.74
SQ Oberweis Octagon -14.82 -18.07 9.52 0.26
SQ EdSeyKoTa -10.8 -20.62 5.38 0.54
SQ Earning Surprise Direhaus 8.48 -5.85 4.85 0.63

ตารางที่ 2 : ฺตารางค่าสถิติสำคัญของ 33 กลยุทธ์ใน AlphaSuite เปรียบเทียบกับดัชนี SETTRI Index ตั้งแต่ต้นปี 2019 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2019

โดยจากผลการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 33 รูปแบบในปี 2019 นั้น เราสามารถที่จะสรุปประเด็นต่างๆที่น่าสนใจต่างๆได้ดังนี้

สรุปประเด็นที่น่าสนใจของผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจาก 33 กลยุทธ์การลงทุนในปี 2019

1. กลยุทธ์การลงทุนส่วนใหญ่นั้นขาดทุนและแพ้ตลาดในปี 2019 

โดยจากกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 33 รูปแบบนั้นพบว่าในปีนี้มีเพียง 7 กลยุทธ์เท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก (Positive Return) และมีเพียง 5 กลยุทธ์เท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของ SETTRI Index ซึ่งก็คือ

  1. กลยุทธ์การลงทุนหุ้บเติบโตผสานโมเมนตัม Earning Surprise Breakout ของ Richard Driehaus ซึ่งให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก +8.48 %
  2. กลยุทธ์การลงทุนแมงเม่า All Time High with SET Filter โดยมดแมงเม่าคลับ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก +7.65%
  3. กลยุทธ์การลงทุนตามแนวโน้มของ Mark Minervini Trend Template ซึ่งให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก +7.31%
  4. กลยุทธ์การลงทุนแมงเม่า All Time High ของ โดยมดแมงเม่าคลับ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก+6.51%
  5. กลยุทธ์การลงทุนหุ้บเติบโตผสานโมเมนตัม CANSLIM ของ William J. O’neil ที่ปรับปรุงโดยทีมงาน SiamQuant ซึ่งให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก +5.13%

หมายเหตุ 1 : สำหรับการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนส่วนใหญ่ในแนวทางต่างๆในครั้งนั้น จะอยู่ในรูปแบบของการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงออกไปในหุ้นหลายๆตัว ดังนั้นแล้ว มันจึงอาจเป็นไปได้ที่กลยุทธ์บางรูปแบบจะยังสามารถให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกแทนที่จะติดลบ ในกรณีที่ใช้การลงทุนแบบโฟกัสในหุ้นไม่กี่ตัวและโชคดีพอที่หุ้นเหล่านั้นจะถือเป็น Outlier ที่ให้ผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมก็เป็นได้

2. Momentum/Long-Term Trend Following คือกลยุทธ์ที่โดดเด่นในปี 2019 นี้

ในแง่ของกลุ่มกลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในปีนี้นั้น พบว่าพวกมันล้วนแล้วแต่เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่มีความเป็นกลยุทธ์แบบ Momentum หรือ Trend Following ที่เน้นการเกาะแนวโน้มขาขึ้นใหญ่ๆทั้งสิ้น! 

โดยมีสาเหตุหลักเนื่องจากจุดเด่นของกลยุทธ์ประเภท Long-Term Trend Following นั้นคือ การเลือกลงทุนในช่วงที่หุ้นมีแนวโน้มราคาเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน และหลีกเลี่ยงการถือครองหุ้นที่อยู่ในขาลง ซึ่งในปีนี้นั้นตลาดค่อนข้างมีความผันผวนสูงและไร้ทิศทางในภาพใหญ่ โดยที่ในช่วงครึ่งปีแรกนั้นตลาดได้มีแนวโน้มในระยะสั้นและกลางเป็นขาขึ้น ทำให้กลยุทธ์ได้กำไรจากหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดซึ่งมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดได้กลับตัวเป็นทิศทางขาลง กลยุทธ์แบบ Trend Following จึงเกิดกลไกในการทยอยขายหุ้นออกมา 

ด้วยสภาวะเช่นนี้เอง จึงทำให้กลยุทธ์แบบ Trend Following เกิดความเสียน้อยกว่ากลยุทธ์ประเภทอื่นๆในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากไม่ได้ถือครองหุ้นอยู่จนเต็มพอร์ตอยู่ตลอดเวลาเหมือนกลยุทธ์ประเภทอื่นๆนั่นเอง

3. ปี 2019 คือปีที่ไม่เอื้ออำนวยสำหรับกลยุทธ์ที่ใช้ปัจจัยพื้นฐานเป็นองค์ประกอบหลักในการลงทุน

โดยที่ในปี 2019 นี้นั้น กลยุทธ์การลงทุนที่อาศัยปัจจัยพื้นฐานเป็นองค์ประกอบในการวิเคราะห์หุ้นเป็นหลักต่างก็ให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตลาดทั้งสิ้น! ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ประเภท 

  • ปัจจัยด้านการเติบโตของบริษัท (Growth)
  • ปัจจัยเชิงคุณค่า (Value)
  • ปัจจัยด้านคุณภาพของบริษัท (Quality)
  • ปัจจัยด้านเงินปันผล (Dividend) 

โดยจากการตรวจสอบเพิ่มเติมนั้น พวกเราทีมงาน SiamQuant ได้พบว่าในปี 2019 นี้ ปัจจัยขับเคลื่อนผลตอบแทนในเชิงปัจจัยพื้นฐานนั้น (Fundamental Factors) ต่างก็ด้อยประสิทธิภาพลงในตลาดหุ้นไทย โดยพบว่ากลุ่มหุ้นที่ประกาศผลกำไรเติบโตก็กลับมักถูกเทขายทำกำไรออกมาอย่างรุนแรง หรือแม้แต่กลุ่มหุ้นที่มีราคาถูก (เมื่อเทียบกับมูลค่าของมัน) ก็มักที่จะไม่ได้รับความสนใจหรือยังคงถูกเทขายออกมาจนทำให้ราคาหุ้นส่วนใหญ่ไม่สามารถวิ่งขึ้นไปได้สักเท่าไหร่นัก

ดังนั้นแล้ว หากคุณลงทุนด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่อ้างอิงปัจจัยเหล่านี้แล้วได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตลาดนั้น มันจึงอาจไม่ได้เป็นเพราะแนวคิดการลงทุนหรือกลยุทธ์คุณนั้นย่ำแย่หรือหมดประสิทธิภาพลงไป แต่เป็นเพราะว่าในปีนี้นั้นปัจจัยขับเคลื่อนผลตอบแทนของกลยุทธ์ในเชิงพื้นฐานในช่วงเวลานี้นั้นยังไม่ได้แสดงประสิทธิภาพกันออกมาอย่างเต็มที่ในช่วงเวลานี้ก็เป็นได้ (Underperformance Period

บทสรุปการรีวิวผลตอบแทนของ 33 กลยุทธ์การลงทุนจากแนวคิดของเซียนหุ้นระดับโลก ในตลาดหุ้นไทยในปี 2019

จากข้อมูลผลตอบแทนของทั้ง 33 กลยุทธ์ที่เกิดขึ้นในปี 2019 นี้นั้น เราจึงสามารถสรุปได้ว่าในภาพรวมนั้นกลยุทธ์การลงทุนส่วนใหญ่ได้ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างย่ำแย่ในตลาดหุ้นไทย โดยมีเพียงกลุ่มกลยุทธ์ที่ใช้ปัจจัยแบบ Momentum/Long-Term Trend Following หรือการลงทุนไปตามแนวโน้มของราคาในระยะกลางถึงยาวเท่านั้น ที่ได้ให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดได้อย่างชัดเจนในปีนี้ และนั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมมันจึงเป็นปีที่ยากและหินสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าสำหรับกลยุทธ์ที่ขาดทุนหรือแพ้ตลาดในปีนี้หลายๆกลยุทธ์นั้น อาจไม่ได้แปลว่ามันถือเป็นกลยุทธ์ที่ไร้ประสิทธิภาพหรือย่ำแย่ไปแล้วแต่อย่างใดก็ได้ เนื่องจากทุกกลยุทธ์นั้นย่อมต้องมีช่วงเวลาที่ดีและร้าย รวมถึงช่วงเวลาที่เอื้ออำนวยและไม่เอื้ออำนวยกับสภาวะตลาดของมันกันทั้งสิ้น และนี่เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในบางช่วงเวลาอยู่เสมอ

ดังนั้น ในที่สุดแล้วการมีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของกลยุทธ์อย่างถูกต้องและลึกซึ้ง, การบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยง รวมถึงการมีวินัยในการลงทุนให้สามารถปฎิบัติตามหลักการและกลยุทธ์ที่ดีได้จนตลอดรอดฝั่งนั้น จึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอยู่เสมอในการลงทุนนั่นเอง

และนี่ก็คือบทสรุปการรีวิวผลตอบแทนของ 33 กลยุทธ์การลงทุนจากแนวคิดของเซียนหุ้นระดับโลก ในตลาดหุ้นไทยในปี 2019 นี้ หวังว่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านครับ 😀

ข่าวประชาสัมพันธ์สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนอย่างเป็นระบบด้วยตัวของคุณเอง

📢🤖 โปรโมชั่นส่วนลดพร้อมโบนัสจัดเต็มส่งท้ายปีเก่า ให้คุณได้เริ่มต้นการลงทุนอย่างเป็นระบบด้วยตัวของคุณเองในปีหน้า กับบริการ SiamQuant AlphaSuite ฐานข้อมูลราคาหุ้นพร้อมปัจจัยพื้นฐาน และคลังชุดโค้ดระบบการลงทุนสำหรับโปรแกรม Amibroker หมดเขต 31 ธันวาคม 2019 นี้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ครับ

https://www.siamquant.com/alphasuite/

Write A Comment